วันที่ 31 ส.ค. 2566 จะเป็นวันที่นายยุทธศักดิ์ สุภสร ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นวันสุดท้าย และวันที่ 1 ก.ย. 2566 น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ จะเข้ามารับไม้ต่อในฐานะผู้ว่าการ ททท.คนใหม่ โดยมีวาระในตำแหน่ง 4 ปี
“ยุทธศักดิ์” ฝากเรื่องที่ยังทำไม่สำเร็จไปยัง “ฐาปนีย์” ได้เดินหน้าต่อในเรื่องของการพัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ ททท.ได้เริ่มต้นขึ้นมาแล้วและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จึงจะไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้
“ททท.ได้ทำหน้าที่ด้านการตลาดไปอย่างเต็มที่แล้ว ถ้าจำเป็นต้องบูรณาการงานทางฝั่งซัพพลายไซด์ ให้มีความเข้มแข็งและมุ่งสู่ทิศทางที่มีความยั่งยืน ไปตามหมุดหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนการท่องเที่ยวไทยเป็นการท่องเที่ยวคุณภาพสูง มีการบริหารอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ก็ต้องมีกลไกที่จะเข้ามาทำเรื่องนี้”
เขากล่าวว่าเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ททท.ได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย เปลี่ยนชื่อและวัตถุประสงค์ของ มูลนิธิพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว (พ.ส.ท.) ที่ตั้งมาตั้งแต่ปี 2535 เป็นมูลนิธิเพื่อการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน (Thailand Sustainable Tourism Foundation) จากบริบทเดิมในการเสริมสร้างองค์ความรู้ และอนุรักษ์ทรัพยากรการท่องเที่ยว ได้มีการขยายผลเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สร้างสมดุลในมิติของดีมานด์ และซัพพลายไซด์ ในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
วัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ประกอบด้วย 1. ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเรื่องอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 2. ดำเนินการอบรม วิจัย พัฒนา เกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 3. อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทรัพยากรเพื่อให้เกิดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทย 4. พัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้า บริการและการตลาดการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐานสากล 5. ดำเนินการหรือร่วมกับพันธมิตรองค์กรอื่นๆ เพื่อสาธารณะประโยชน์ 6. ไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการเมืองแต่ประการใด
“สิ่งที่ผมมองคือเรื่องการตลาดที่ ททท.เน้นอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะผลักดันเรื่องความยั่งยืนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ ถ้าหากมีความจำเป็นต้องบูรณาการงานทางฝั่งซัพพลายไซด์ ให้มีความเข้มแข็งและมุ่งสู่ทิศทางที่มีความยั่งยืน ไปตามหมุดหมายตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ของสภาพัฒน์ สามารถใช้ช่องทางของมูลนิธิฯ เข้ามาผลักดันเรื่องการสร้างความยั่งยืนได้ ซึ่งการออกแบบการทำงานของมูลนิธิฯ ในระยะต่อไปสามารถดำเนินการคล้ายๆ รูปแบบการบริหารของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีสถาบันอาหาร สถาบันยานยนต์ และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่เข้ามาพัฒนาด้านซัพพลายไซด์ ”
“ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ที่อยากเห็นการดำเนินงานของมูลนิธิฯ คือ ททท.ได้เริ่มทำมาตรฐานเรื่องความยั่งยืนขึ้นมาแล้ว ต่อไปก็ต้องมีบุคคลที่สามมาเป็นผู้ตรวจประเมิน ทางมูลนิธิฯ อาจจะเหมาะสมที่เข้ามาทำในส่วนตรงนี้ โดยได้รับค่าบริการจากการไปตรวจประเมิน ในการจัดทำมาตรฐานต่างๆ ซึ่งจะกลายเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญที่มูลนิธิฯจะอยู่ได้ด้วยตัวเอง และหากมูลนิธิฯ มีบุคลากรที่มีความสามารถความรอบรู้ก็อาจจะเข้ามาช่วยทำแผนแม่บทการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ก็ต้องฝากกับผู้ว่าการ ททท.คนใหม่ไว้ด้วย
นอกจากนี้ ภายใต้สำนักผู้ว่าการ ททท. นอกเหนือจากมูลนิธิฯ ยังมีกองบริหารความยั่งยืน ซึ่ง ททท.มองว่าเรื่องความยั่งยืนจะเป็นกุญแจขับเคลื่อนที่สำคัญในอนาคต ดังนั้น การปรับโครงสร้างของ ททท. ตั้งแต่ปี 2562 ได้ไปดูงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำ ก็พบว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีกองบริหารความยั่งยืน ทาง ททท.จึงได้นำมาทำบ้าง
“ช่วงแรกยอมรับว่างงอยู่เหมือนกันว่าต้องทำเรื่องอะไร จนกระทั่งมีความชัดเจนออกมาจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ที่บอกว่าการท่องเที่ยวต้องเน้นเรื่องของความยั่งยืน ต้องก้าวไปสู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูง ก็ค่อยๆ ตกผลึกทางความคิด และวิธีการดำเนินการต่างๆ จนกระทั่ง งานของกองบริหารความยั่งยืนก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา จากตอนแรกอาจจะให้ความสำคัญในเรื่องของซีเอสอาร์ ซึ่งจริงๆ แล้วความยั่งยืนไม่ใช่มิติเรื่องของสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว มีหลายๆ อย่างร่วมกัน”
ในตอนนี้กองบริหารความยั่งยืนจึงเป็นผู้รับผิดชอบหลักที่จะไปเชื่อมโยงกับเรื่องของความยั่งยืนทั้งหมดภายใน ททท. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตลาดหรือ ซัพพลายไซด์ ตัวอย่าง เช่น การทำเรื่องการท่องเที่ยวโลว์คาร์บอน การจัดทำโครงการ CF-Hotels เพื่อสนับสนุนให้โรงแรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือที่ทำเรื่อง Net Zero Tourism กับ ทางไทยรัฐ กรุ๊ป ซึ่งทางกองบริหารความยั่งยืนจะเป็นผู้ถือข้อมูลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนใน ททท. และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และสร้างการเผยแพร่บริหารการรับรู้ด้วย รวมทั้งบางเรื่องก็ร่วมกันทำกับมูลนิธิฯ ด้วย