"คณะกรรมการอาหารและยา" แนะผู้บริโภคที่ต้องการเข้ารับบริการ “เสริมความงาม” ควรตรวจสอบข้อมูลเพื่อความปลอดภัย และป้องกันหน้าพัง

วันที่ 18 ส.ค. 2566 เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เผยว่า ตามที่มีข่าวผู้รับบริการหน้าพังหลังเข้าคอร์สทำหน้า "พิโคเลเซอร์ (Pico Laser)" จากคลินิก และทราบภายหลังว่าผู้ให้บริการไม่ใช่แพทย์ประจำคลินิก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า เครื่อง Pico Laser หรือ Picosecond Laser เป็นเครื่อง Laser ที่ทำงานโดยส่งคลื่นพลังงานความถี่สูง (1 ต่อล้านล้านวินาที) ไปยังผิวหนังเป้าหมายที่มีปัญหา เพื่อลดเม็ดสีในบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีคุณสมบัติเจาะจงกับเมลานินและเม็ดสีที่เข้มได้ดี โดยจะส่งการสั่นสะเทือนต่อผิวหนังอย่างรุนแรง ทำให้เม็ดสี หรืออนุภาคของผิวแตกเป็นเสี่ยงๆ

ทั้งนี้ เครื่องดังกล่าวมักใช้ในการรักษาจุดด่างดำ กระ ฝ้า เม็ดสีเข้มๆ ใต้ชั้นผิวหนัง หรือใช้ในการลบรอยสัก รวมถึงกระตุ้นคอลาเจนบนชั้นผิวหนัง เป็นต้น ซึ่งการใช้เครื่องดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น ผิวแห้ง แดง จากการโดนเลเซอร์ รอยคล้ำหลังทำเลเซอร์ ผื่น บวม รวมถึงรอยตกสะเก็ดหลังการใช้

สำหรับเครื่อง Pico Laser จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าต้องแจ้งรายการละเอียดกับ อย.ก่อน จึงจะสามารถผลิต หรือนำเข้าได้ โดยต้องใช้ในสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาต และต้องใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข หรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์หรือสาธารณสุข สำหรับผู้รับบริการควรตรวจสอบก่อนเข้ารับบริการว่าเป็นสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาต โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบเครื่อง Pico Laser ที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่เว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th 

...