ปัจจุบันเทคโนโลยี CRISPR (Clustered Regularly Interspaced Short Palindromic Repeats) หรือเทคนิคการตัดแต่งพันธุกรรม แก้ไขไปที่ยีนโดยตรง ได้รับความสนใจอย่างมาก ทั้งในวงการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์

ล่าสุด สหภาพยุโรปวางแผนยกเว้นเทคนิคต่างๆ เช่น CRISPR จากข้อจำกัดที่เข้มงวดที่เกี่ยวกับพันธุวิศวกรรม โดยมีเงื่อนไขว่า พืชดัดแปลงพันธุกรรมจะต้องไม่มีความแตกต่างจากพืชที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และแน่นอนกลุ่มสิ่งแวดล้อมและเกษตรอินทรีย์ได้ออกมาวิจารณ์ต่างๆนานา

แต่มีอยู่ท่านหนึ่งที่ให้ข้อคิดที่น่าสนใจ...Urs Niggli นักวิชาการเกษตรและผู้นำด้านเกษตรอินทรีย์มายาวนานในยุโรป บอกว่า ตอนนี้สมาคมเกษตรอินทรีย์กำลังต่อสู้ร่วมกับเอ็นจีโอในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เพื่อต่อต้านกฎระเบียบนี้

ต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมา “ปลอดจีเอ็มโอ” เป็นจุดขายทางการเมือง และสมาคมเกษตรอินทรีย์จงใจรักษาความกลัวในวิธีการปรับปรุงพันธุ์ทางชีววิทยาระดับโมเลกุล เพื่อให้สามารถแยกแยะสินค้าตัวเองในตลาดได้ ทำให้ปัจจุบันมุมมองของพวกเขาเกี่ยวกับการดัดแปลงพันธุกรรมนั้นล้าสมัย

แล้วทำไมพันธุวิศวกรรมใหม่จึงจำเป็น นั่นเพราะเราต้องการแก้ปัญหาสำหรับอนาคตของโภชนาการโลก ในอีก 30 ปีข้างหน้า จะมีคนอีกหลายพันล้านคนนั่งอยู่ที่โต๊ะอาหาร เราไม่เพียงต้องรักษาคุณภาพของดินอย่างที่เกษตรกรอินทรีย์ทำเท่านั้น แต่ยังต้องใช้ที่ดินที่ขาดแคลนอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย

เราไม่อาจปฏิเสธได้ การทำเกษตรอย่างเข้มข้นในปัจจุบัน ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ฉะนั้นการทำเกษตรอินทรีย์จึงเป็นหนึ่งในหลายวิธีในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้

แต่น่าเสียดายที่เกษตรอินทรีย์ให้ผลผลิตต่อพื้นที่น้อยกว่าการเกษตรทั่วไปถึงร้อยละ 20 ถึง 50 นั่นหมายความว่าด้วยเกษตรอินทรีย์เพียงอย่างเดียว เราจะต้องทำลายพื้นที่ธรรมชาติมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถเลี้ยงประชากรที่เพิ่มขึ้นได้

...

ดังนั้น เราจึงต้องการการเกษตรแบบดั้งเดิม แต่ในรูปแบบที่ยั่งยืนกว่าในปัจจุบัน และเพื่อให้มีประสิทธิผลมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่สภาพอากาศเลวร้าย พันธุวิศวกรรมใหม่จะสามารถช่วยเราได้.

สะ–เล–เต