สังคมไทยกำลังจับจ้อง “การออกสลากกินแบ่งรัฐบาลดิจิทัลใหม่” อันเป็นสลากรูปแบบตัวเลข 6 หลัก (L6) และรูปแบบตัวเลข 3 หลัก(N3) ที่เพิ่งผ่านมติ ครม.เตรียมจะเริ่มจำหน่ายในไม่ช้านี้

ท่ามกลางข้อกังวัลของ “การออกผลิตภัณฑ์ใหม่นี้” เป็นการปล่อยให้เกิดการพนันในสังคมไทย จนกลายเป็นการสร้างความถี่กระตุ้นด้วยเงินรางวัลที่สูงๆจูงใจผู้คนอยากเล่นอยู่ตลอดเวลา “มอมเมาเด็กและเยาวชน” ผลักให้ต้องตกเป็นผู้เล่นมืออาชีพในอนาคตหรือไม่ ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน บอกว่า

สำหรับการออกสลากดิจิทัลนี้ “เป็นเพียงการเพิ่มผลิตภัณฑ์” จากเดิมเคยมีสลากเลข 6 ตัว ก็นำหวยใต้ดินขึ้นมาเป็นหวยบนดิน หรือสลาก N3 เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้เล่นแทงเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว แต่ปัญหาว่าเมื่อสังคมมีทางให้เลือกเล่นพนันที่หลากหลายขึ้น “ประชาชน” ย่อมมีโอกาสเข้าเล่นทั้งสลาก L6 N3 และหวยใต้ดินสูงขึ้นได้

เพราะตามธรรมชาติ “ผู้เล่นหวย” สมัยก่อนมักมีคนจำนวนหนึ่งนิยมชอบแทงหวยลอตเตอรี่ และแทงหวยใต้ดินควบคู่กันไป เพื่อให้มีหลายช่องทางสำหรับโอกาสลุ้นถูกหวยได้รางวัลมากขึ้น

...

แล้วยิ่งครั้งนี้ “ภาครัฐออกสลากดิจิทัล L6 และ N3” ย่อมทำให้เจ้ามือหวยใต้ดินเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งอยู่เฉยๆ “ด้วยการปรับกลยุทธ์การตลาดแข่งขันกับสลากใหม่แน่นอน” สังเกตได้จากในยุคสมัยรัฐบาลทักษิณก็เคยออกหวยเขียนเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัวมาแล้ว แต่ปรากฏว่าส่งผลกระทบต่อเจ้ามือหวยใต้ดินซบเซาในระยะสั้นๆ

กระทั่งไม่นานนัก “หวยใต้ดินก็กลับมารุ่งเรืองเฟื่องฟูดังเดิม” แล้วอย่าลืมว่าเจ้ามือหวยมักเข้าถึงตัวแทนจำหน่ายสลากโดยตรง เมื่อสลาก N3 ออกมา เขาอาจปรับตัวขายทั้งหวยรัฐและหวยใต้ดินควบคู่กันไปด้วยซ้ำ

ธนากร คมกฤส
ธนากร คมกฤส

ดังนั้น ในการออกสลากดิจิทัล N3 ครั้งนี้ มองว่าคงไม่สามารถแก้ปัญหาหวยใต้ดินให้ลดลงได้ แต่ในทางกลับกันอาจกลายเป็นการส่งเสริมให้หวยการพนันในสังคมไทยเติบโตมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมก็ได้

ยิ่งกว่านั้น “สลาก N3 เป็นการจ่ายรางวัลแบบแปรผัน” กล่าวคือผู้เล่นสามารถเลือกซื้อเลขตามใจ ส่งผลให้เลขบางตัวไม่มีคนสนใจและบางตัวอาจมีคนซื้อมาก สิ่งนี้จะเป็นตัวกำหนดเงินรางวัลอันจะนำมาหารเฉลี่ยตามจำนวนผู้ถูกรางวัลในงวดนั้น ทำให้ผู้เล่นไม่ทราบล่วงหน้าเลยว่าตัวเองถูกหวยจะได้รับเงินเท่าใด

ตรงส่วนนี้กลายเป็น “จุดอ่อนของสลาก N3 ไม่มีเสน่ห์” แต่สำหรับหวยใต้ดินมีทั้งขายในออนไลน์ และแถมกำหนดเงินรางวัลจ่ายค่อนข้างสูงชัดเจน ดังนั้นจึงไม่แน่ใจว่าสลาก N3 ที่ออกมานั้นจะเข้ามาแทรกแซงกระบวนการกลไกของหวยใต้ดินให้สั่นสะเทือนอย่างไร...? ยกเว้นเพียงว่าภาครัฐจะมีรายได้จากการออกสลากที่เพิ่มขึ้น

“ความจริงหวยใต้ดินมีวิธีปรับตัวให้ทันสถานการณ์ได้ไม่ยาก เพราะวิธีเล่นเพียงแค่อ้างอิงผลประกาศรางวัลของ สนง.สลากฯ เมื่อมีการออกสลากใหม่นี้เจ้ามือหวยใต้ดินก็จะออกสินค้าเลียนแบบ หรือเปลี่ยนวิธีเล่น ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาเดิมให้หมดไปได้ แต่จะมีโอกาสเกิดปัญหาใหม่ที่แก้ยากขึ้นก็ได้” ธนากรว่า

ส่วนประเด็น “สลาก L6 จะช่วยลอตเตอรี่ราคาถูกลง” ในเรื่องนี้รับรู้กันดีอยู่แล้วว่ากรณีการเพิ่มผลิตภัณฑ์ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดี แต่ถ้าอยากแก้ให้ตรงจุดเพียงแค่นำลอตเตอรี่มาขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ แล้วที่ผ่านมารัฐบาลก็ขายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ทำให้มีผลเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าสามารถทำให้สลากราคาถูกลงได้จริง

...

เมื่อเป็นเช่นนี้สิ่งที่ควรทำคือ “นำลอตเตอรี่เข้ามาขายในแอปเป๋าตังให้มากที่สุด” เพราะตอนนี้จำหน่ายเพียง 20% ส่วนอีก 80% ต้องเร่งนำเข้ามาให้เร็วแล้วราคาก็จะถูกลง แต่ไม่ใช่เร่งออกสลากเพิ่มขึ้นเช่นนี้

สิ่งที่อยากสะท้อนให้เห็นว่า “สถานการณ์หวยในไทย” แม้ภาครัฐเคยเปลี่ยนผลิตภัณฑ์อย่างไรก็ไม่อาจทำให้ลอตเตอรี่ราคาถูกลงได้อย่างสมัยรัฐบาล คสช.เคยแก้ปัญหาในการเพิ่มผลิตภัณฑ์ออกมาตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา จนตอนนี้ยอดผลิตลอตเตอรี่เพิ่มเป็น 100 ล้านฉบับ แต่ก็ยังมีการขายเกินราคา 80 บาท/ใบ กันเกลื่อนอยู่เช่นเดิม

ประการต่อมา “ช่องทางขายสลาก L6 และ N3 ผ่านออนไลน์”สิ่งนี้จะเป็นปัญหาเพราะเมื่อใดก็ตามการพนันเข้าสู่ออนไลน์จะส่งถึงมือผู้คนโดยตรง แถมมีการโฆษณาชวนเชื่อมากมาย ทำให้เกิดนักเล่นหน้าใหม่ได้

ปัจจุบันนี้ “ตัวเลขเด็กเยาวชน” มีแนวโน้มเล่นการพนันผ่านทางออนไลน์สูงขึ้น แยกเป็นเยาวชนอายุ 19-25 ปี หันมานิยมเล่นหวยใต้ดิน 9แสนคน และอีก 9 แสนคนชอบซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า18ปีจำนวนราว 1 แสนคนเล่นหวยใต้ดิน และประมาณ 8 หมื่นคนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล

แม้ว่ารัฐบาลจะบอกวิธีซื้อสลากดิจิทัลต้องผ่านแอปพลิเคชัน “กำหนดการลงทะเบียน” ทำให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี เข้าซื้อ-ขายไม่ได้ แต่เรื่องนี้กลับกลายเป็นไปได้สูงว่าเด็กเยาวชนจะหันมาซื้อในแอปพลิเคชันเอกชนแทน

...

ทำให้เป็นกังวลว่า “เด็กเยาวชน” มีโอกาสเล่นสลากดิจิทัลอย่างต่อเนื่องจนทวีความเข้มข้นมากขึ้น กลายเป็นความเสี่ยงเสพติดการพนันในอนาคต เพราะเรื่องนี้ทางการแพทย์มีหลักฐานยืนยันชัดเจนในระหว่างการเล่นพนันอย่างเช่น การลุ้น การตั้งความหวัง การสรวลเสเฮฮาเกี่ยวกับหวยหรือการมีประสบการณ์ถูกรางวัลนั้น

ส่วนใหญ่สมองมักหลั่งสารแห่งความพึงพอใจที่ชื่อ “ดอร์ปามีน” เมื่อบุคคลอยู่กับกิจกรรมการซื้อหวยอย่างเข้มข้น หรือเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานอาจทำให้เกิดอาการสมองเสพติดสารนี้ ส่งผลให้สูญเสียการควบคุมตัวเอง “รู้ทั้งรู้ว่าเล่นหวยแล้วมีโอกาสจะเสียมากกว่าได้” แต่กลับไม่อาจฝืนใจไม่ให้หยุดเล่นได้

หนำซ้ำยังส่งผลให้ “การเล่นที่มากขึ้น ใช้เงิน ใช้เวลา หมกมุ่นมากขึ้น” นำไปสู่การแสวงหาการเล่นหวยที่เร้าใจมากกว่าเดิม เช่น เริ่มอดใจรอไม่ได้กับการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือหวยใต้ดิน ที่ต้องรอถึง 2 อาทิตย์ สุดท้ายกลายเป็นหันไปเล่นหวยรายวันหรือรายชั่วโมงแทน

ตอกย้ำรายงานศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันในสถานการณ์การพนันปี 2564 พบว่า หวยรัฐบาล หวยใต้ดิน และหวยอื่นๆที่แพร่หลายในขณะนี้เป็นสิ่งเสพติด และมีคอหวยหลายล้านคนสารภาพติด เลิกเล่นไม่ได้ แยกเป็น

กลุ่มแรก...“สลากกินแบ่งรัฐบาล” มีผู้เล่นราว 21% หรือราว 5.22 ล้านคน มีการตอบคำถามประเมินว่าตนเองติดการซื้อสลากกินแบ่งฯกลุ่มที่สอง...“หวยใต้ดิน” มีผู้เล่นราว 23% หรือราว 4.48 ล้านคน และการประเมินว่าตนเองติดการซื้อหวยใต้ดิน และ กลุ่มที่สาม...“ติดหวยอื่นๆ”ไม่ว่าจะเป็นหวยรายวัน จำพวกหวยหุ้น

ทั้งหวยฮานอย หวยราย 3 วัน หวยลาว มีผู้เล่น 0.6% หรือราว6แสนคนที่ประเมินตนติดหวยพวกนี้ ดังนั้น กรณีการออกสลากดิจิทัลแบบใหม่“รัฐบาล” ได้ตระหนักต่อปัญหาผลกระทบอย่างรอบด้าน หรือคิดคำนึงถึงหลักฐานทางการแพทย์เกี่ยวกับการเกิดอาการสมองเสพติดพนันมาประกอบด้วยหรือไม่

...

อย่างไรก็ตาม “กฎหมาย” ในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องมีการศึกษาผลกระทบทางสังคม “แต่รายงานฉบับนี้กลับไม่ถูกเปิดเผย” จึงอยากเรียกร้องให้เปิดเผยการศึกษาผลกระทบทางสังคมที่นักวิชาการได้ศึกษามาว่ามีข้อค้นพบอย่างไร รวมถึงรายงานการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียกับการออกสลาก L6 และ N3 ด้วย

เท่าที่ทราบมา “ผู้ค้าสลากรายย่อยจำนวนมากคัดค้านการออกสลากชนิดนี้” แล้วที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐมีการแถลงว่ากลุ่มผู้ซื้อ กลุ่มผู้ขายสลากและกลุ่มผู้ขายที่เป็นผู้ด้อยโอกาส คนพิการที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น 14,398 คน ส่วนใหญ่เห็นด้วยนั้นเป็นการตีขลุมไปเองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่

นี่คือข้อกังวัล “ภาคประชาสังคม” จากการเพิ่มขึ้นของหวยบนดินที่เด็กและเยาวชนอาจรู้สึกเป็นเรื่องปกติธรรมดาจนเข้าสู่วงการพนันเต็มตัว ดังนั้นภาครัฐอย่ามัวเห็นประโยชน์ในการหารายได้ หรือคิดแต่แก้ปัญหาสลากแพงด้านเดียว เพราะการหวังผลได้ด้านหนึ่งอาจนำมาสู่ผลเสียอีกด้านมากมาย.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม