สืบเนื่องจากการสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 111 แห่งทั่วประเทศ ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นการสัมมนาครั้งที่ 41 ที่โรงแรมลากูน่า แกรนด์ แอนด์ สปา สงขลา จังหวัดสงขลา โดย ศ.กิตติคุณ ดร.ปิยนาถ บุนนาค ราชบัณฑิต และ น.ส.ยุรารัตน์ พันธุ์ยุรา ข้าราชการบำนาญ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “ประวัติศาสตร์การพัฒนาชาติ” ซึ่ง “ทีมการศึกษา” ตระหนักถึงเนื้อหา และสาระที่เป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษาชาติ จึงขอนำบางช่วงบางตอนเผยแพร่ต่อสังคม เพื่อให้เกิดความรู้ เข้าใจ และนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป
เยาวชนบางส่วนเรียนประวัติศาสตร์อย่างไม่ถูกต้อง
ศ.กิตติคุณ ดร.ปิยนาถ กล่าวว่า
“...พระราชดำรัสของ สมเด็จพระพันปีหลวง ที่ทรงเป็นห่วงเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย เราซาบซึ้งในพระองค์ท่านมาก...พอ มูลนิธิไทยรัฐ จัดเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เลยรู้สึกว่า มูลนิธิไทยรัฐ ส่งเสริมประวัติศาสตร์ ซึ่งความจริงแล้วทำให้คนไทยเกิดความสำนึก รู้รักกตัญญูในแผ่นดินเกิด และจากการรู้รักกตัญญูในแผ่นดินเกิด ก็จะทำให้เขาเกิดความรู้สึกว่าต้องทำให้ประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง ไม่ใช่มาทำกิจกรรมแบบเยาวชนบางส่วนที่ทำให้รู้สึกว่ามันน่าเศร้าใจ เพราะเขาไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์อย่างถูกต้องแท้จริง
...
“คน–เหตุการณ์–เวลา” กุญแจสำคัญของประวัติศาสตร์
...คอนเซปต์ประวัติศาสตร์เพื่อการพัฒนา “ประวัติศาสตร์” คืออะไร “พัฒนา” คืออะไร ถ้าดูของราชบัณฑิต “พัฒนา” คือ การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น กุญแจสำคัญของประวัติศาสตร์ คือ “คน” “เหตุการณ์”Action Reaction และ “เวลา” พอเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นก็ต้องมีคนไปศึกษาจะต้องตอบคำถามนั้น คือ Who, When, What, Where อันนี้จะเป็น Descriptive หรือ Description แต่ตัวที่จะทำให้เกิดการวิเคราะห์สังเคราะห์ก็คือ Why กับ How อันนี้เป็น Descriptive analysis
คนรุ่นใหม่บางพวกรู้แต่ Fake News
...การที่เราจะตอบ How, Why ได้นั้น เราต้องมีอะไรที่จะทำให้การตอบนั้นยึดหลักที่ว่ามีความเป็นเหตุเป็นผล มีความสืบเนื่องกัน อะไรเป็นตัวที่จะทำให้คำตอบหรือการวิเคราะห์สังเคราะห์ของเรานั้นเป็นการวิเคราะห์สังเคราะห์อย่างมีระบบ มีความสัมพันธ์สืบเนื่องและมีเหตุผล คนรุ่นใหม่บางพวกรู้แต่ Fake News แล้วตีความด้านเดียว มันก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า “อคติ” อันนี้ก็เป็นอีกอันหนึ่งซึ่งนักประวัติศาสตร์ไม่ควรมี แต่อคตินี่คนต้องมีอยู่แล้ว แต่ต้องมีให้น้อยที่สุด
เป็นนักประวัติศาสตร์ต้องไม่มีอคติ
...ความเป็นนักประวัติศาสตร์ต้องมีอคติน้อยที่สุด ย้อนไปถึงคำถามเมื่อกี้ อะไรที่จะเป็นตัวทำให้การวิเคราะห์สังเคราะห์ของเราเป็นไปอย่างมีความสืบเนื่อง มีเหตุผลที่เกี่ยวเนื่องกัน และเชื่อถือได้เป็นระบบเชื่อถือได้ คือ “หลักฐาน” จะเห็นได้ว่า กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านเน้นเลยว่าจะต้องอย่ามีอคติเข้ามาใส่ จะต้องเน้นเรื่องหลักฐาน อันนี้เป็นสิ่งสำคัญภาษาอังกฤษใช้คำว่า Source หลักฐานขั้นต้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราเรียกว่า Primary source หลักฐานขั้นต้นหรือหลักฐานปฐมภูมิ แต่หลักฐานที่จากวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัยอะไรต่างๆ ที่เขียนมาจาก Primary source อันนั้นเรียก Secondary source หรือเอกสารขั้นรอง ทั้งหมดนี้วิธีการนี้เรียกว่า Documentary Research คือการวิจัยโดยเอกสารที่พูดอันนี้เพราะต่อไปเราต้องพูดเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ บุคคลสำคัญค้นหาหลักฐาน
...บุคคลต่อมาในทศวรรษปัจจุบันที่เน้นความสำคัญของหลักฐานก็คือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านบอกว่าหลักฐานจะต้องมองจากหลักฐานหลายๆด้าน ต้องเป็น Independent source คือหลักฐานอิสระ ไม่ใช่ว่าคนนั้นอ้างมาก็เอาอันนั้นตลอด แต่ต้องพยายามหาหลักฐานอื่นๆมาเปรียบเทียบ เพื่อจะให้เห็นว่าหลักฐานอันไหนเชื่อถือได้มากกว่ากัน เพราะฉะนั้นคำที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ก็คือความเชื่อถือได้ พอเชื่อถือได้ปั๊บก็อ้างอิงได้ คือเป็น Reference ได้ นี่ถือเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับประวัติศาสตร์
กรุงแตกเพราะคนไทยขาดความสามัคคี
...ดิฉันคิดว่าสิ่งที่ทำให้คนเป็นนักคิดที่มีระบบก็คือการที่คิดด้วยระเบียบวิธี การวิจัยทางประวัติศาสตร์ทำให้เราได้รู้ว่าเหตุการณ์ปัจจุบันมันเป็นอย่างนี้เพราะอะไร เราย้อนกลับไปหาอดีตและถ้าเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นแบบเดียวกับอดีต เราจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างไร และเหตุการณ์ในอดีตนั้นมันส่งผลกระทบต่อปัจจุบันอย่างไร ถ้าเราลองดูประวัติศาสตร์ไทย เราก็จะมองเห็นอันนี้ชัดเจนเลย อย่างเช่น พอกรุงแตก เราก็มีการรื้อฟื้นเป็นสมัยธนบุรี จากสมัยธนบุรีก็มาเป็นสมัยรัตนโกสินทร์ ทุกอย่างมีความสืบเนื่อง และการที่กรุงแตกเพราะอะไร เพราะคนไทยขาดความสามัคคี
รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 4 สร้างความเป็นปึกแผ่น
...พระปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพยายามสร้างอาณาจักรให้มีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น และสร้างอะไรหลายอย่างที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเรา ขณะที่รัชกาลที่ 4 ทรงทำทุกอย่างเพื่อจะเปิดประเทศรับวัฒนธรรมอย่างประนีประนอม ทรงกล่าวประโยคหนึ่งว่า ในการต่อสู้กับตะวันตกนั้นเราไม่สามารถต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธได้เพราะเราสู้เขาไม่ได้ แต่เราต้องต่อสู้ด้วยสติปัญญาและหัวใจ ซึ่งคือความรักชาติ
...
ไม่ยุติธรรมที่คนรุ่นใหม่โจมตีคนรุ่นเก่า
...การใช้หลักฐานนั้นต้องไม่ใช้อคติ ต้องเอาหลักฐานที่มันสามารถตรวจสอบได้รอบด้าน ไม่ใช่ว่าเราคิดอะไรเราก็อยากจะให้เป็นอย่างนั้น อันนั้นถือว่ามีอคติ อีกอย่างคือต้องมี Understanding ก็คือมีความเข้าใจในบริบทนั้นๆ คนมักจะลืม มักจะบอกว่าคนสมัยนั้นทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมถึงล่าอาณานิคม ทำไมถึงไปยอมฝรั่ง โดยที่ไม่ได้มองว่าบริบทช่วงนั้น เพื่อนบ้านคนอื่นเป็นอย่างไร ในเอเชียเป็นอย่างไร ในยุโรปเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นอันนี้คือต้องมี 1.ปราศจากอคติ 2.ต้องเข้าใจในบริบทช่วงนั้นๆ การที่คนรุ่นใหม่ไปโจมตีคนรุ่นเก่าหรือสมัยก่อนจึงไม่ยุติธรรม ต้องมองทุกอย่างรอบด้านตามข้อมูลทุกด้าน ต้องพยายามเข้าใจบริบทของสังคม เศรษฐกิจ การเมืองในขณะนั้น ขณะที่บางอย่างเราก็ไม่ควรเอาสมัยก่อนมาตัดสินในสมัยนี้ เพราะว่าทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไป
...
...อีกส่วนหนึ่ง คือเนื้อหาประวัติศาสตร์ทำให้เรารู้รากเหง้าของตัวเองว่าเป็นมาอย่างไร ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจในชาติ รู้สึกรักชาติ แล้วนำไปสู่ความรู้สึกที่ว่าจะทำอะไรดีๆเพื่อประเทศชาติ รักแต่อย่าหลง รักแล้วก็ต้องการให้สิ่งดีๆเกิดขึ้นกับคนที่เรารัก ประเทศชาติก็เช่นกัน เรารักประเทศชาติ ก็คือเราทำเพื่อจะให้เกิดสิ่งดีๆขึ้นกับประเทศชาติ มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีก็คือการพัฒนาประเทศ
ต่างประเทศมีจุดหมายสอนประวัติศาสตร์
...“เยอรมนี” สอนให้เยาวชนเกิดความรักชาติ ซึ่งเราจะเห็นว่าเยอรมันเป็นชาติที่เยาวชนของเขารักชาติมาก ความรักชาติมีหลายอย่าง มี 3 ระดับ เราเรียกความ รักชาติธรรมดาๆ คือ Nationalism, รักชาติแบบเสียสละเพื่อชาติ คือ Patriotism อย่างเช่น ชาวบ้านบางระจัน หลายๆคนที่เป็นนักรบ หรือแม้กระทั่ง ศรีปราชญ์ พันท้ายนรสิงห์ รักชาติ รักษากฎระเบียบ และ รักชาติแบบคลั่งชาติ คือ Chauvinism ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ฮิตเลอร์ “ฝรั่งเศส” สอนประวัติศาสตร์ เพื่อให้เยาวชนรู้ถึงภาระหน้าที่ของตนเมื่อเติบโตพลเมืองของชาติ “อังกฤษ” สอนประวัติศาสตร์เพื่อให้ประชาชนบรรลุถึงความจริง จะเป็นประเภท Philosopher “สหรัฐอเมริกา” สอนประวัติศาสตร์เพื่อเตรียมเยาวชนให้พร้อมที่จะเผชิญชีวิตในอนาคต จะเห็นได้ว่าทุกประเทศล้วนแต่มีภูมิหลัง มี Historical background มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่เขาหล่อหลอมคน เยาวชนให้เป็นอย่างที่ประวัติศาสตร์เขาเป็นมา
ประวัติศาสตร์ไม่ได้หายไปจากชั้นเรียน
ขณะที่ อาจารย์ยุรารัตน์ กล่าวว่า จริงๆแล้วประวัติศาสตร์ไม่ได้หายไปจากชั้นเรียน แต่ลดบทบาทความสำคัญลงไป ถ้าใครเรียนหลักสูตร 03 ประวัติศาสตร์จะหนามาก จะเข้าใจตั้งแต่สุโขทัยจนถึงปัจจุบัน แต่พอเปลี่ยนหลักสูตรประมาณปี 2528 ก็เริ่มลดลง พอปี 2551 ก็ลดลงเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ดิฉันเห็นความสำคัญก็คือตอนนั้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นยังไม่บูม แต่ดิฉันมีความรู้สึกว่าสอนอย่างไรที่ให้เด็กเกิดความอยากรู้ ตอนสอนมัธยม ถ้า เป็น ม.1 จะสอนง่ายๆให้เด็กสืบค้นต้นตระกูลของเขาเองด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ แต่ค้นอย่างง่ายๆ พอมาสอน ม.ปลายเด็กโต อยากให้เขารู้ เช่น ในรอบๆโรงเรียนมีชุมชนอะไรบ้าง มีวัดอะไรบ้าง...ปัญหาหลักของการสอนประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งคือ ครูสอนประวัติศาสตร์ไม่ได้ จบเอกประวัติศาสตร์โดยตรง
...
ประเทศไทยมี 3 เสาหลักสำคัญ
...เด็กถามว่า ชาติเกี่ยวอะไรกับศาสนา ทำไมต้องพูดว่าชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดิฉันก็บอกว่า เราเป็น ประเทศไทยเรามีหลักสำคัญ 3 หลัก คือ “ชาติ” ชาติคืออะไรเราต้องบอกเด็ก พอพูดคำว่าชาติ เด็กไม่เห็นภาพ ก็บอกว่าชาติคือดินแดน มีอาณาเขตของเรา แล้วก็มีประชากร ประชากรก็พวกเราซึ่งมีหลายเชื้อชาติที่อยู่รวมกัน อันนี้มีวัฒนธรรมประเพณีอะไรต่างๆซึ่งที่อื่นเขาไม่มี แต่ของเราคนไทยไปที่ไหนต้องทานข้าว ต้องทานน้ำพริก ยกตัวอย่างง่ายๆให้เด็กฟัง ส่วน “ศาสนา” ทำไมถึงเป็นสถาบัน เพราะศาสนาสอนให้เราทุกคนเป็นคนดี และศาสนาเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน “สถาบันพระมหากษัตริย์” ก็เหมือนกัน ท่านเป็นผู้นำ ถ้าเราไม่มีผู้นำ การก่อร่างสร้างบ้านเมืองจะมีไหม เราก็มี พ่อขุนรามคำแหง พระเจ้าอู่ทอง พระเจ้ากรุงธนบุรี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ท่านช่วยชาติบ้านเมือง แล้วท่านก็มีการสืบสันตติวงศ์มา อันนี้คืออยากจะบอกว่านี่คือสิ่งที่เราต้องบอกเด็ก
ศึกษาอดีตเพื่อรู้ปัจจุบัน-หยั่งอนาคต
...การที่เขาไม่เข้าใจทุกวันนี้ดิฉันไม่ว่าเด็ก มันอยู่ที่ระบบการศึกษาของเราด้วย 1.เราลดเวลา ไม่ได้หาย เราลดเนื้อหา เราเน้นเนื้อหามากกว่ากระบวนการอย่างที่ อ.ปิยนาถบอก ถ้าเราให้เด็กทำสักชิ้นหนึ่งมันใช้เวลา แต่ขณะเดียวกันเด็กก็ต้องเอาข้อมูล เอาเนื้อหาไปสอบ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องขึ้นอยู่กับเทคนิคของครู ดิฉันก็จะบอกเด็กเสมอว่าศึกษาประวัติศาสตร์ ดิฉันใช้ง่ายๆเลย ศึกษาอดีตเพื่อรู้ปัจจุบัน เข้าใจปัจจุบัน เพื่อหยั่งกาลอนาคต แล้วก็อธิบายคล้ายๆ ที่อาจารย์อธิบายว่ามันไปสืบเนื่องอย่างไร.
ทีมการศึกษา