อัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับ...“ลองโควิด” เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา หน่วยงาน “US Department of Health and Human Services (DHHS)” เผยแพร่ประกาศเรื่องการจัดตั้งสำนักงานวิจัยและดูแลผู้ป่วย “ลองโควิด” ...ถือเป็นข่าวสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจกันมาก

เพราะเป็นการประกาศเริ่มดำเนินโครงการวิจัยทางคลินิกที่โฟกัสเรื่องการหาวิธีรักษา “ลองโควิด” โดยใช้งบประมาณลงทุนเพื่อศึกษาวิจัยมูลค่าสูงถึง 1,150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ครอบคลุมตั้งแต่การทำความเข้าใจกลไกการเกิดความผิดปกติของลองโควิด รวมถึงการดูแลรักษาและป้องกัน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)”

ตอกย้ำด้วย...องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงเน้นย้ำให้เราตระหนักถึงการป้องกันตัวจากโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ลองโควิด”... ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตระยะยาว

อัปเดตความรู้ “โควิด-19” สายพันธุ์ที่ระบาดทั่วโลก องค์การอนามัยโลกเพิ่งเผยแพร่รายงาน WHO Weekly Epidemiological Update (3 สิงหาคม 2023)

...

ข้อมูลสุ่มตรวจสายพันธุ์จนถึง 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า “โอมิครอน” สายพันธุ์ย่อย “XBB.1.16.x” ยังครองสัดส่วนสูงสุด 18.4%

ในขณะที่ XBB.1.5.x และ EG.5.x นั้นพบในลำดับสองเท่ากันที่ 11.6%

ทั้งนี้ WHO ได้มีการติดตามเฝ้าระวังอยู่ 9 สายพันธุ์ย่อย ซึ่งจัดเป็นกลุ่มสายพันธุ์ Variants of Interest 2 ตัว และ Variants under Monitoring 7 ตัว

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

หากดูการกระจายของสายพันธุ์ที่พบมากในแต่ละภูมิภาคของโลก จะมีความแตกต่างกันไปบ้าง โดย “XBB.1.5.x” ยังดูจะเป็นปัญหามากในแถบอเมริกาและยุโรป ในขณะที่แถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมไทย) นั้นพบ “XBB.1.16.x” มากกว่าภูมิภาคอื่น

อย่างไรก็ตาม ต้องขีดเส้นใต้เน้นย้ำให้จับตาดู “EG.5.x” ซึ่งมีสัดส่วนตรวจพบมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะเป็นสายพันธุ์หลักได้ในอนาคต

ประเด็นถัดมา...ว่าด้วยเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด

รายงานมีการสรุปทบทวนความรู้ โดยชี้ให้เห็นว่า “สายพันธุ์ย่อยใหม่ๆ” ของ “โอมิครอน” นั้นทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงตามลำดับ ประกอบกับระยะเวลาหลังฉีดวัคซีน ยิ่งนานไปประสิทธิภาพก็จะลดลงไปเช่นกัน

ทั้งนี้ การได้รับวัคซีนชนิด Bivalent...วัคซีนรุ่นใหม่ เป็นเข็มกระตุ้น จะช่วยให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยดีขึ้นกว่าการไม่ได้รับ

ประเด็นที่สาม...ว่าด้วยเรื่องการดื้อต่อภูมิคุ้มกันของสายพันธุ์ต่างๆ

ด้วยความรู้จนถึงปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก ระบุว่า หาก เปรียบเทียบการ “ดื้อต่อภูมิคุ้มกัน” โดยดูเรื่อง Neutralizing antibody titer จะพบว่าโอมิครอน BA.1 นั้นดื้อกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 6 เท่า ซึ่งถือว่าดื้อมากกว่าทุกสายพันธุ์ที่เป็น Variants of Concern...(VOC)...สายพันธุ์ที่น่ากังวล ที่เคยระบาดมาก่อนหน้านั้น

ในขณะที่ BA.4/BA.5 นั้นดื้อมากกว่า BA.1 อีกราว 2 เท่า

และพอมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อย BQ.1/BQ.1.1 และ XBB/XBB.1/XBB.1.5 ก็ยิ่งดื้อมากขึ้นไปอีกตามลำดับ

...

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่ทิศทางการพัฒนาวัคซีนเพื่อใช้ในอนาคตจึงเน้นไปที่การปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มีความสอดคล้องกับสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น

พุ่งเป้าไปที่โควิด-19 สายพันธุ์ “EG.5.x” ข้อมูลจาก GISAID (Cr:Honey M) ชี้ให้เห็นว่า โอมิครอน EG.5.x นั้นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างชัดเจน

ทวีปเอเชียดูจะเป็นทวีปที่ตรวจพบสายพันธุ์ย่อยนี้ในสัดส่วนที่สูงที่สุด รองลงมาคือทวีปอเมริกาเหนือและละตินอเมริการวมถึงยุโรป ในขณะที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ยังพบไม่มากนักแต่มีสัดส่วนสูงขึ้นเช่นกัน

ส่วนในแถบ “เอเชีย” นั้น พบสัดส่วนสูงคล้ายกันหลายประเทศ ทั้งจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฯลฯ

เมื่อเห็นแนวโน้มเช่นนี้...ไทยคงต้องระวัง เพราะในระลอกต่างๆ ที่ผ่านมา ก็มักก้าวเดินในลักษณะเดียวกันในช่วง 6-10 สัปดาห์หลังจากที่เกิดในต่างประเทศ

อีกข้อมูลที่น่าสนใจ Daily Mail (28 ก.ค.66) รายงานพบไวรัสโควิด-19 ที่กลายพันธุ์มากกว่า “โอมิครอน” ในอินโดนีเซีย ซึ่งมีข้อมูลสั้นๆว่ามีการตรวจพบไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งเฉพาะถึง 113 ตำแหน่ง

...

ซึ่งถือว่ามี “ตำแหน่ง” การ “กลายพันธุ์” มากกว่า “โอมิครอน” ที่แรกเริ่มตรวจพบที่แอฟริกาใต้ถึง 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลอื่นที่สำคัญ เช่น สมรรถนะในการแพร่เชื้อ ความรุนแรง รวมถึงยังไม่มีการกำหนดชื่อสายพันธุ์นี้อย่างเป็นทางการ...คงต้องค่อยๆรอติดตามข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป

ประเด็นสำคัญที่ต้องเน้นย้ำ...ทำความเข้าใจให้ตรงกัน นั่นก็คือ “โควิด-19 ยังไม่ใช่โรคตามฤดูกาล”

แต่...การระบาดแต่ละระลอกที่ผ่านมาหลายปี ล้วนเกิดจากการกลายพันธุ์ของไวรัส...นโยบายการควบคุมป้องกันโรคของแต่ละประเทศ...กิจกรรมเสี่ยงต่างๆตามเทศกาลและพฤติกรรมการป้องกันตัวของประชาชน

รายงานสถานการณ์การระบาดในประเทศไทยประจำสัปดาห์ 23-29 กรกฎาคมที่ผ่านมามีผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล 391 ราย...ปอดอักเสบ 159 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 108 ราย และเสียชีวิต 7 ราย

คาดประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันอย่างน้อย 2,793–3,879 ราย

“การผสมข้ามสายพันธุ์นั้น หากมีสติปัญญาย่อมรับรู้ได้ถึงอันตรายอันใหญ่หลวง ยิ่งหากจำภาพช่วงกลางปี 2021 (2564) ได้ว่า...วิกฤติเพียงใด จัดการอย่างไร ต้องหาทางเอาตัวรอดกันอย่างไร

...

...สูญเสียมากเพียงใด มืดแปดด้านเพียงใด และต้องทนเห็นภาพสวยหรูดูดี ทั้งที่จริงๆแล้วไม่ใช่หรือไม่?”

ผสมข้ามพันธุ์โดยไม่จดจำบทเรียนที่ผ่านมา วิกฤติในอนาคตคุกคามสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตคงหนักหนากว่าเดิมมาก

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ยังคงฝากทิ้งท้ายด้วยความห่วงใยเช่นเดิมว่า การใช้ชีวิตประจำวัน ควรมีการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ระวังที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี เลี่ยงการแชร์ของกินของใช้กับผู้อื่นนอกบ้าน

“การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง...จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก”.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม