อย.แนะ 4 วิธี สำหรับชาวพุทธที่ต้องการถวาย "ชุดสังฆทานยา" ให้พระภิกษุสงฆ์ในเทศกาลวันเข้าพรรษา เพื่อความปลอดภัย และสุขภาพที่ดีของพระภิกษุ
วันที่ 1 สิงหาคม 2566 มีรายงานว่า นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เผยเนื่องในโอกาสวันสำคัญทางพุทธศาสนา รวมทั้งงานบุญต่างๆ พบว่าประชาชนมักจะมีการถวายสังฆทาน และมีบางส่วนจะนิยมถวายสังฆทานยาเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงขอแนะนำชาวพุทธ ในการเลือกซื้อชุดสังฆทานยา หรือจัดเอง โดยคำนึงถึง "3 เลือก 1 ห้าม" เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีของพระภิกษุ ดังนี้
- เลือกผลิตภัณฑ์ยาที่ปลอดภัย เช่น ผลิตภัณฑ์ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ฉลากระบุคำว่า "ยาสามัญประจำบ้าน" และมีเลขทะเบียนที่ถูกต้องกำกับบนฉลากของยานั้นๆ รวมทั้งบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท เนื่องจากยาสามัญประจำบ้านที่ผู้บริโภคสามารถซื้อหามาใช้ในการรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยได้ โดยให้ใช้ตามคำแนะนำที่ระบุไว้บนฉลากยา
- เลือกผลิตภัณฑ์ยาที่มีลักษณะอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เช่น กรณียาเม็ด ไม่แตกหัก ไม่ชื้น หรือมีสีที่เปลี่ยนไปจากเดิม กรณียาแคปซูล ไม่บวม หรือมีรูปร่างบิดเบี้ยว กรณียาน้ำ ต้องไม่มีตะกอน หรือกรณีที่เป็นยาน้ำแขวนตะกอนเมื่อเขย่าแล้วตัวยาต้องกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ
- เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีการแสดงฉลากและเอกสารกำกับยา ที่มีข้อความรายละเอียดครบถ้วน เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เช่น ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต/นำเข้า วันเดือนปีที่ผลิตและวันหมดอายุ ส่วนประกอบวิธีการเก็บรักษา วิธีการใช้ยาตามขนาด คำเตือน ฉลากชัดเจนสมบูรณ์ ไม่ฉีกขาด เลือนหาย สีไม่ซีดจาง
- ห้ามนำผลิตภัณฑ์ยาหมดอายุ หรือใกล้หมดอายุ มาจัดชุดสังฆทาน เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อพระภิกษุสงฆ์ และต้องระมัดระวังหากมียากลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน ตาม พ.ร.บ.ยา ถือว่าผิดกฎหมาย
...
ทั้งนี้ นายแพทย์วิทิต ยังกล่าวอีกว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีระบบการสืบค้นเลขทะเบียนยาทาง www.fda.moph.go.th หรือผ่าน Line@FDAThai เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ว่ายาที่ซื้อได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
และหากผู้บริโภคพบเห็นร้านใดจำหน่ายชุดสังฆทานยาที่บรรจุยาที่ไม่มีทะเบียน ยาหมดอายุ หรือใกล้หมดอายุ หรือพบร้านขายยาที่จำหน่ายยาผิดกฎหมาย หรือจำหน่ายยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ในขณะที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามเวลาทำการ สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ.