สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) รายงานสถานการณ์ผลิตลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง ตาก แพร่ และน่าน ปีนี้มีเนื้อที่ยืนต้น 1,270,319 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 1.43 เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นลำไยที่มีอายุมากออก เพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นทดแทน เช่น ทุเรียน เงาะ ยางพารา มันสำปะหลังโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกาแฟ

มีผลผลิตรวม 972,330 ตัน (ลำไยในฤดู 641,919 ตัน นอกฤดู 330,411 ตัน) ลดลงจากปีที่แล้วที่ร้อยละ 5.04 เนื่องจากสภาพอากาศร้อนแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผลผลิตลำไยลดลง

ผลผลิตลำไยในฤดูได้ทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และจะออกต่อเนื่องถึงเดือนกันยายน 2566 ผลผลิตจะออกมากที่สุดในเดือนสิงหาคมนี้

ปีนี้ลำไยในฤดูมีผลผลิต 641,919 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วที่ร้อยละ 13.16 เนื่องจากปีที่ผ่านมาต้นลำไยออกผลผลิตมาก ทำให้ในปีนี้ลำไยไม่สมบูรณ์ รวมทั้งสภาพอากาศหนาวเย็นไม่เพียงพอที่จะทำให้ลำไยออกดอกได้ อีกทั้งในช่วงติดผลเล็ก มีฝนทิ้งช่วง อากาศร้อนแล้ง และปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ลำไยสลัดลูกทิ้ง

ส่วนลำไยนอกฤดู ให้ผลผลิต 330,411 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 16.04 เนื่องจากราคาในช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม อยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้ใช้สารกระตุ้นการออกดอกเพื่อผลิตลำไยนอกฤดูมากขึ้น

สถานการณ์ด้านราคาลำไยในฤดู ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากผลผลิตมีปริมาณน้อย และลำไยอบแห้งไม่มีสินค้าค้างสต๊อก ทำให้ผู้ประกอบการมีความต้องการซื้อลำไยเพื่อมาอบแห้ง และตลาดจีนมีความต้องการซื้อเพื่อทดแทนสต๊อกลำไยอบแห้งที่เหลือน้อย ส่งผลให้ราคาสูงกว่าปีที่ผ่านมา

ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 แบ่งตามเกรด ลำไยสดช่อ เกรด AA กก. ละ 38 บาท, เกรด AA+A กก. ละ 34 บาท, เกรด A กก. ละ 30 บาท, เกรด B กก. ละ 20 บาท และเกรด C กก. ละ 10 บาท

...

ส่วนลำไยรูดร่วง เกรด AA กก. ละ 29 บาท, เกรด A กก. ละ 21 บาท, เกรด B กก. ละ 12 บาท และเกรด C กก. ละ 4 บาท.

สะ–เล–เต