ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช.ลงนามความร่วมมือในการนำเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการพัฒนาระบบบริการด้านเภสัชกรรมกับสภาเภสัชกรรมและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบบริการด้านเภสัชกรรมและด้านการสาธารณสุขประยุกต์ใช้ในการดูแลประชาชนและผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพโดยระบบ A-MED Care Pharma ที่พัฒนาโดย สวทช. เพื่อเป็นแพลตฟอร์มหลังบ้านในการบริหารจัดการการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิบัตรทอง ซึ่งร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการจะต้องผ่านมาตรฐานหลักวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชนของกระทรวงสาธารณสุขและผ่านเกณฑ์การคัดเลือกของสภาเภสัชกรรม เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลรักษาที่ได้มาตรฐานมีคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดย สวทช.พร้อมให้การสนับสนุนบุคลากร ทรัพยากร เพื่อให้เกิดการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาและการใช้งานอย่างเต็มกำลังความสามารถซึ่งจะเป็นผลประโยชน์ของประเทศในการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างทั่วถึง

รศ.พิเศษ ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า ระบบ A-MED Care พัฒนาโดย สวทช.เป็นแพลตฟอร์มหลังบ้านในการบริหารจัดการการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิบัตรทอง ก้าวต่อไปในปี 2567 คือ การพัฒนาระบบ A-MED Care Pharma ในบริการจ่ายยาเพื่อลดความแออัด หรือระบบ e-prescription รูปแบบที่เรียกว่า โมเดล 3 เพื่อให้ร้านยาได้ใช้งานระบบเดียว ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ทั้งระบบการบันทึก การรายงาน การส่งเบิกจ่าย เป็นระบบเดียวในร้านยาซึ่งจะทำให้ร้านยาไม่ต้องใช้หลายระบบในการทำงานบันทึกการให้บริการ ซึ่งเป็นความท้าทายของวิชาชีพเภสัชกรในการปรับตัวเข้าสู่วิถีใหม่ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมบริการต่างๆที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยง ประมวลผลและบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

...

นพ.สินชัย ต่อวัฒนกิจกุล รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ระบบ A-MED Care Pharma ทำให้เกิดนวัตกรรมบริการเภสัชกรรมใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนาระบบข้อมูลต่างๆ ในส่วนงานเภสัชกรรม เพื่อให้เกิดการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ.