ที่ผ่านมา...มีแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของ “คนต่างด้าว” กลุ่มต่างๆ ได้แก่ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566

ซึ่งยังมีข้อขัดข้องเกี่ยวกับการออกหนังสือเดินทาง หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางของประเทศต้นทางยังคงปรากฏอยู่ พบว่า...

ยังมีคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 จำนวนประมาณ 270,000 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2566) ยังไม่สามารถยื่นเอกสารหลักฐานต่อกรมการจัดหางานภายในระยะเวลาที่กำหนดได้

ประเด็นสำคัญมีว่า “แรงงานต่างด้าว” นับว่ามีบทบาทสำคัญต่อ “ตลาดแรงงานไทย” พอสมควร ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ ที่มาทำงานทดแทน “คนไทย” ในส่วนงานระดับล่าง

ดังนั้นในห้วงเวลาที่ต้องเผชิญกับ “ภาวะขาดแคลนแรงงาน” คงหนีไม่พ้นที่จะต้องพึ่งพิงแรงช่วยเหลือจากทางภาครัฐในการประสานระหว่างประเทศและประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้มากขึ้น

...

เพราะปัญหาสำคัญมีว่ายังมี “แรงงานต่างด้าว” อีกมากที่พลาดโอกาสในการรับรู้ข้อมูล

พุ่งเป้าตามแนวทาง...คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 เห็นชอบให้คนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ได้ยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานไว้เรียบร้อยแล้ว

แต่...เอกสารประจำตัวและหลักฐานการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไม่ครบถ้วน อยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษไม่เกินวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 เพื่อไปดำเนินการให้ได้มาซึ่งเอกสารและหลักฐานต่างๆ และนำมายื่นให้กับกรมการจัดหางานภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566

ซึ่งเป็นการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 โดยให้ใช้ใบรับคำขออนุญาตทำงานฉบับเดิมเป็นหลักฐานการผ่อนผัน

ทำความเข้าใจให้ตรงกันอีกว่า...กรณีข้างต้นเมื่อคนต่างด้าวได้รับหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางแล้ว ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตรวจลงตราและตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หรือได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568

...ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566

ไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน บอกว่า สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา สามารถรับบริการจัดทำเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง (Certificate of Identity : CI) ได้จากหน่วยบริการเคลื่อนที่ เมียนมา (โมบายทีม) ในจังหวัดสมุทรสาคร นนทบุรี และจังหวัดสุราษฎร์ธานี

โดยชำระเงินค่าจัดทำ CI ได้ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส (Counter Service) ส่วนคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาและสัญชาติลาว สามารถกลับไปจัดทำหนังสือเดินทางได้ที่ประเทศต้นทาง โดยขอรับเอกสารเพื่อการเดินทางกลับประเทศได้ที่สถานทูตกัมพูชา และสถานทูตลาวประจำประเทศไทย

แน่นอนว่าที่ผ่านมา...เราขอให้แรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ยื่นเอกสารหลักฐาน เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด หากกรมการจัดหางานตรวจสอบพบคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดทั้ง “นายจ้างคนไทย” และ “ลูกจ้างคนต่างด้าว”

ย้ำว่า...“คนต่างด้าว” ที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ

กรณี “นายจ้าง” ซึ่งรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานหรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน

กรณีกระทำความผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามนายจ้างจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ

กรณีผ่อนผันล่าสุดนี้ ให้คนต่างด้าว/นายจ้าง นำหลักฐานสำเนาหนังสือเดินทางสำเนาการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องมายื่นเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 เพื่อให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567

...

หรือได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และตามมติวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566

ผ่านมาถึงวันนี้...หากมีข้อขัดข้อง สงสัยให้ติดต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10

ย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2563 “ประเทศไทย” เผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกแรก เวลานั้นมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 3,000 กว่าราย ความหวาดกลัวกระจายหลายพื้นที่ จนเกิดภาพ “แรงงานต่างด้าว” แห่หลั่งไหลกลับสู่บ้านเกิดมากถึง 3.1 แสนราย จนมาถึงต้นปี 2564 ก็เกิดภาพซ้ำ

บรรดานายจ้างต่างก็มีความกังวลมาตลอดว่าการหลั่งไหลกลับสู่บ้านเกิดของ “แรงงานต่างด้าว” อาจส่งผลกระทบต่อ “ภาวะขาดแคลนแรงงาน” ในยามที่เศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้อีกครั้ง

“ภาวะขาดแคลนแรงงาน...ย่อมต้องเกิดขึ้นแน่นอน”

รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวประโยคข้างต้นนี้เอาไว้ หากยังจำกันได้ช่วงโควิดระบาดในช่วงระลอกแรกๆ บรรดาวิสาหกิจขนาดย่อมไปจนถึงธุรกิจขนาดเล็ก ล้วนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า...

...

“หาแรงงานยากมาก” อีกทั้งงานเหล่านั้น “คนไทยก็ไม่ค่อยทำ”

เมื่องานที่ “คนไทย” ไม่ทำ ผสมกับวิกฤติโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้ “ภาวะขาดแคลนแรงงาน” สาหัสมากขึ้น? รศ.ดร.ยงยุทธ ย้ำว่า ตามปกติแล้วนั้น งานระดับล่าง ค่าแรงต่ำประมาณ 8,000-10,000 บาท ต่อเดือน แรงงานส่วนใหญ่มักจะเป็น “คนต่างด้าว”

แม้ว่าช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา แรงงานต่างด้าวจะไม่ได้ลดลงมากนัก เพียง 2.4% หรือ 5.6 หมื่นคนเท่านั้นก็ยังสร้างความกังวลให้กับบรรดานายจ้างอยู่ นั่นเพราะแรงงานต่างด้าวที่เป็นกลุ่ม “แรงงานเดิม” ประมาณสัก 2 ล้านกว่าคนยังจดทะเบียนไม่เรียบร้อยเป็นผลให้ตำแหน่งงานนั้นๆว่างลง

แต่หากในอนาคต แรงงานต่างด้าวที่ว่านี้มีการจดทะเบียนเรียบร้อย บรรดาธุรกิจขนาดกลาง...เล็กก็คงต้องใช้กลุ่มแรงงานเดิมอย่างแน่นอน เพราะคุ้นเคยกับการทำงานระดับล่างพอสมควรแล้ว

สมดุล “แรงงานต่างด้าว” คือเสถียรภาพความมั่นคงในหลายๆธุรกิจ ยังคงเป็นโจทย์สำคัญที่ “ภาครัฐ” จะต้องบริหารจัดการให้เกิดช่องว่างปัญหาน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้.

...