บทที่ 27 ดรุณศึกษาแบบเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ภราดา ฟ.ฮีแลร์ (แต่งให้นักเรียนอัสสัมชัญเรียน ตั้งแต่ปี 2453) คำที่ใช้ตัว จ. (จาน) สะกด

ท่านยกประโยคตัวอย่าง “อาศัยศาลยุติธรรม ผู้มีอำนาจจึงไม่อาจข่มเหงผู้น้อยเล่นตามสบาย...”

สอนเด็กให้รู้จักใช้ตัว จ.จานสะกด คำ กาจ ตรวจ ตำรวจ เท็จ และอำนาจ ฯลฯ แล้ว ภราดา ฟ.ฮีแลร์ แต่งนิทานสอนให้รู้จักการใช้ “อำนาจ”

นายสะท้อน เป็นเด็กภาคเหนือ เรียนจบจากโรงเรียนในตำบลบ้านเกิดแล้ว บิดาจึงให้ลงมาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ชั้นแรกเมื่อเจอครู ตอนจะทำความเคารพครู เคยถูกสอนมา...ก็แทบจะปูผ้าลงกราบครู

แต่เมื่อเห็นเพื่อนนักเรียน...คำนับครูด้วยการเปิดหมวกบ้าง ก้มศีรษะบ้าง...ดูง่ายกว่า นายสะท้อนก็ปรับตัวตาม เวลาครูใหญ่สอนนายสะท้อนขมักเขม้นฟัง

แต่เมื่อครูรองสอน นายสะท้อนคิดว่าครูรอง ไม่มีอำนาจเหมือนครูใหญ่ จึงไม่ตั้งใจฟัง

ครูใหญ่รู้ว่า นายสะท้อนเข้าใจเรื่องอำนาจผิด...จึงเล่าเรื่องโบราณ ให้นักเรียนทั้งชั้นฟัง

(ทุกบรรทัดในนิทานต่อไปนี้ เป็นลีลาภาษาหนังสือในแบบเรียนล้วนๆ)

แต่ก่อนๆในเมืองไทยเรา ถ้ามีหนังสือเกี่ยวข้องด้วยราชการ อ้างถึงกระแสรับสั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วมีตราพระราชสีห์ หรือมีตราพระคชสีห์ประทับไว้เป็นสำคัญ ไปถึงหัวบ้านหัวเมืองแล้ว

บรรดากรมการผู้ใหญ่ผู้น้อยในเมืองนั้น ก็ต้องเอาพานมาคำนับรับเอาท้องตรานั้นก่อน จึงเปิดออกอ่านได้ โดยหมายว่า ถึงเป็นแต่แผ่นกระดาษก็ดี ก็มีอำนาจประดุจเจ้านายเสด็จมาเอง

ในสมัยหนึ่ง ครั้งกรุงเก่ายังเป็นเมืองหลวงอยู่นั้น เขาว่ามีธรรมเนียมทำความเคารพอำนาจพระเจ้าอยู่หัวแข็งแรงมากกว่านี้อีก คือในสมัยนั้นการเซ็นชื่อประทับตรา มักนิยมใช้กันจำเพาะเมื่อจะส่งไปทางไกล

...

ถ้าเป็นทางใกล้ มักนับถือไปข้างลมปากเสียมาก ถ้าพระเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระราชกิจกับเสนาบดีผู้ใหญ่แล้ว ก็ทรงใช้ให้มหาดเล็กไปแจ้งข้อราชการ แก่เสนาบดีผู้นั้นด้วยปาก

พอสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งเช่นนั้นแล้ว ขณะนั้นมหาดเล็กผู้รับสั่งนั้น ก็กลับมีอำนาจขึ้นอย่างแข็งแรง อาจสามารถจะขึ้นขี่คอพวกตำรวจให้พาไปได้

ตำรวจนั้น จะได้รังเกียจ ถือว่าเขาบังอาจทำแก่ตน ก็เปล่า ซ้ำกลับเห็นไปว่าเป็นเกียรติยศแก่ตน ราวกับว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่่หัว โปรดเสด็จมาขี่คอด้วยพระองค์เอง ก็พามหาดเล็กผู้นั้นไปถึงที่โดยเรียบร้อย

เมื่อส่งถึงที่ที่ผู้ใหญ่อยู่แล้ว มหาดเล็กนั้นก็ลงจากคอตำรวจ ยืนอยู่ตรงหน้าท่านเสนาบดีอย่างสง่าองอาจ

ถ้าจะเปรียบแล้วก็มีอาการประดุจดังงูเห่าเมื่อชูหัวขึ้น เลิกพังพานแผ่แม่เบี้ย ร้องขู่พ่นลมพิษ ไม่ว่าใครมาเห็นเข้าต้องเกรงกลัว เพราะลมพิษซึ่งกำลังอมไว้ในปาก

ฝ่ายเสนาบดีเห็นมหาดเล็กขี่คอมาถึง ก็กราบลงถวายบังคม แล้วพนมมือขึ้น คอยฟังคำสั่ง อย่างกับพระเจ้าอยู่หัวตรัสด้วยพระองค์เอง เมื่อมหาดเล็กแจ้งข้อรับสั่งเสร็จแล้ว ก็กลับนั่งลงกราบไหว้ท่านเสนาบดี

แล้วเดินกลับไปด้วยตนเอง ไม่มีใครยอมให้ขึ้นขี่คอเหมือนขามา

จบนิทานเรื่องนี้ ครูใหญ่ก็สอนว่า อันว่าอำนาจราชศักดิ์นั้น ถึงอยู่กับเด็กเล็กน้อย แต่ถ้าเด็กเล็กนั้นได้อำนาจมาจากผู้ใหญ่ก็ต้องทำความเคารพนับถือต่อตัวเด็กคนนั้น เช่นเดียวกัน นักเรียนจึงต้องเคารพครูรองเท่าครูใหญ่

ผมอ่านแล้ว ไม่กล้าเดา เด็ก ป.2 สมัยภราดา ฟ.ฮีแลร์ จะรู้จักและเข้าใจ “เรื่องอำนาจ” แค่ไหน

แต่สำหรับผู้ใหญ่เกิดหลังสงครามโลกรุ่นผม ทั้งอึ้ง ทั้งอัศจรรย์ ภราดาฯท่านไม่เคยเจอสถานการณ์สารพันผู้ใหญ่รุมโกงรุมรังแกเด็กมาก่อน แต่ท่านสอน เหมือนหลับตาเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าได้กว่าร้อยปี.

กิเลน ประลองเชิง