“ยิ่งติด (โควิด) บ่อยครั้ง ยิ่งเสี่ยงมีภาวะแทรกซ้อน...ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำย่อมดีที่สุดครับ” รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ยังคงโพสต์ย้ำเตือนอัปเดตความรู้ต่างๆเกี่ยวกับไวรัสร้าย “โควิด-19” ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)”

สถิติรายสัปดาห์ของไทย ระหว่างวันที่ 9-15 กรกฎาคม 2566 ...มีผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 613 ราย...เสียชีวิต 14 ราย ...ปอดอักเสบ 214 ราย...ใส่ท่อช่วยหายใจ 134 ราย

ภาพรวมลดลงกว่าสัปดาห์ก่อนหน้า ยกเว้นจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบที่ยังเท่าเดิม...คาดประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันอย่างน้อย 4,379–6,082 ราย

“ขอให้ป้องกันตัวสม่ำเสมอ การติดเชื้อแต่ละครั้ง เสี่ยงป่วย ป่วยรุนแรง เสียชีวิตและลองโควิด ด้วยการใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก”

เหลียวมองสถานการณ์โควิดรอบโลก สถิติจำนวนเคสผู้ป่วยต่อ สถานพยาบาลในประเทศญี่ปุ่นนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 14 สัปดาห์ติดต่อกันแล้ว และเพิ่มขึ้นเกือบทั่วประเทศ 45 จาก 47 เขตปกครอง

...

นับตั้งแต่ช่วงประกาศลดระดับโรคโควิด-19 ลงไปในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่าจำนวนเคสผู้ป่วยต่อสถานพยาบาลในสัปดาห์ล่าสุดนั้นสูงถึงเกือบ 3.5 เท่า เมื่อเทียบกับสัปดาห์แรกที่ประกาศ

รายงานจากสถานพยาบาล 5,000 แห่งทั่วประเทศ จนถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 พบว่า จำนวนผู้ป่วยรายสัปดาห์ต่อสถานพยาบาลเพิ่มขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อนถึง 26%

“โอกินาวา” นั้นมีจำนวนเคสต่อสถานพยาบาลสูงที่สุดในญี่ปุ่น โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 4 เท่า

ย้ายไปที่ “แคนาดา”...ทาง COVID-19 Resource Canada ประเมินว่า จำนวนเคสใหม่ของแคนาดาในปัจจุบันนั้นแม้จะลดลงกว่าปีก่อน แต่ยังสูงกว่าช่วงก่อน “โอมิครอน” ถึง 6 เท่า

...คาดประมาณว่า 100 คนจะมีคนติดเชื้ออยู่ 1 คน

นอกจากนี้ยังเน้นย้ำว่า โควิด–19 นั้นส่งผลทำให้เกิดการเสียชีวิตมากกว่าที่รายงานทางการ โดยจะแฝงอยู่ในรูปแบบของจำนวนการติดเชื้อส่วนเกินจากทุกสาเหตุ (excess deaths) ดังที่มีการวิเคราะห์สอดคล้องกันกับอีกหลายต่อหลายประเทศทั่วโลก

องค์การอนามัยโลกเผยแพร่รายงานล่าสุด (20 ก.ค.66) ได้เพิ่มการติดตามเฝ้าระวัง “โอมิครอน” สายพันธุ์ย่อยต่างๆ รวมทั้งสิ้น 9 สายพันธุ์ย่อย ได้แก่ Variants of Interest (VOI) : XBB.1.5 และ XBB.1.16 Variants under Monitoring (VUM) : BA.2.75, CH.1.1, XBB, XBB.1.9.1, XBB.1.9.2, XBB.2.3 และ EG.5

ทั้งนี้ “EG.5” นั้นเพิ่งได้รับการเพิ่มเข้ามาเป็น “VUM”...สายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง เพราะในช่วงที่ผ่านมานั้นมีรายงานการตรวจพบมากขึ้นจากประเทศต่างๆ

เมื่อดูรายละเอียดจนถึง 2 กรกฎาคม 2566 สายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 นั้นครองสัดส่วนการระบาด สูงสุดที่ 20.7% ในขณะที่ XBB.1.9.2.x นั้นมีการตรวจพบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบที่ 17.4%

และ XBB.1.5 นั้นมีสัดส่วนลดลง เหลือ 15.8% ส่วนตัวอื่นๆ อยู่ในระดับพอๆกับสัปดาห์ก่อนหน้า

รศ.นพ.ธีระ ย้ำว่า การใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวสม่ำเสมอ เป็นเรื่องสำคัญ ควรหลีกเลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่นนอกบ้านโดยไม่ป้องกันตัว

ย้ำอีกครั้ง การรักษาและป้องกันโรคโควิด-19 นั้นควรใช้ยาต่างๆที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งได้รับการพิสูจน์จากการศึกษาวิจัยตามขั้นตอนสากลที่ได้รับการยอมรับ

“อย่าหลงเชื่อข่าวลวง และควรจดจำบทเรียนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่าเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง ความรู้เท่าทัน และตัดสินใจประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงและความสูญเสียจากภัยคุกคามจากข่าวลวงได้”

ข้อมูลเผยแพร่จาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า โควิด-19 สายพันธุ์ EG.5.1 หรือ XBB.1.9.2.5.1 เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน XBB.1.9.2.* มีตำแหน่งกลายพันธุ์เพิ่มเติมบนโปรตีน หนาม คือ S : F456L (กรดอะมิโนที่ตำแหน่ง 456 เปลี่ยนจากฟีนิลแอลานีน เป็นลิวซีน)

และ S : Q52H (กรดอะมิโนที่ตำแหน่ง 52 เปลี่ยนจากกลูตามีน เป็นฮีสติดีน)

...

สถานการณ์ของสายพันธุ์ EG.5.1 ทั่วโลก อ้างอิงจากฐานข้อมูล กลาง GISAID แบ่งตามภูมิภาค ดังนี้ เอเชีย 1,385 ราย ยุโรป 203 ราย โอเชียเนีย 35 ราย อเมริกาเหนือ 360 ราย อเมริกากลาง 4 ราย และอเมริกาใต้ 1 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2566)

สายพันธุ์ EG.5.1 ในภูมิภาคเอเชีย พบรายงานจาก 11 ประเทศโดยลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้ สาธารณรัฐจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง อิสราเอล สปป.ลาว อินโดนีเซีย ไต้หวัน ไทย และอินเดีย

สำหรับประเทศไทยพบสายพันธุ์ EG.5.1 จำนวน 5 ราย รายงาน ครั้งแรกในเดือนเมษายน 2566 จำนวน 1 ราย เดือนพฤษภาคม 2566 จำนวน 3 ราย และเดือนมิถุนายน 2566 จำนวน 1 ราย ทั้งนี้ ยังไม่พบข้อมูลเรื่องการเพิ่มความรุนแรง

ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับการติดตามโอมิครอน จำนวน 8 สายพันธุ์ จากพื้นฐานของข้อมูลการเพิ่มความชุกหรือความได้เปรียบด้านอัตราการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ และการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการได้เปรียบในการก่อโรค ได้แก่

สายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง หรือ Variants of Interest (VOI) 2 สายพันธุ์ ได้แก่ XBB.1.5* และ XBB.1.16* และสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง หรือ Variants under monitoring (VUM) 6 สายพันธุ์ ได้แก่ BA.2.75*, CH.1.1*, XBB*, XBB.1.9.1*, XBB.1.9.2* และ XBB.2.3*

...

รหัสลับไวรัสร้ายโควิด-19 “โอมิครอน” ยังคงมีประเด็นสำคัญน่าสนใจ ด้วยพบอีกว่าแบ่งตัวไวกว่าและมีปริมาณไวรัสสูงสุด มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ข้อมูลนี้เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ The Lancet Microbe (14 ก.ค.66) โดยทีมงานประเทศจีน ศึกษาวิจัยเปรียบเทียบลักษณะการติดเชื้อในผู้ป่วย

ระหว่างสายพันธุ์ดั้งเดิม เดลต้า และโอมิครอน

หากติดตามธรรมชาติการติดเชื้อในผู้ป่วย พบว่า “โอมิครอน” จะใช้เวลาเฉลี่ยทำให้เกิดปริมาณไวรัสสูงสุดหลังเกิดอาการราว 5.06 วัน และใช้เวลาเคลียร์ไวรัสออกจากร่างกายประมาณ 14.27 วัน

ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อวัยเด็ก (0-14 ปี)...เพศชาย...การติดเชื้อโดยไม่มีอาการ และการไม่มีโรคประจำตัว เป็นปัจจัยที่ได้รับการศึกษาแล้วพบว่าสัมพันธ์กับการเคลียร์ไวรัสออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ฝากทิ้งท้ายว่า ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวเสมอ เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ระวังการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่นโดยไม่ได้ป้องกันตัว ไม่แชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม