วันนี้ (21 กรกฎาคม 2566) นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง เป็นประธานพิธีเปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้า MEA EV Super Charge โดยมี นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการ MEA พร้อมด้วยคณะผู้บริหารร่วมพิธี ณ อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ คลองเตย

รองผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า MEA ได้ให้ความสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) โดยได้สนับสนุนการสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า EV Ecosystem รองรับการใช้งาน EV ในพื้นที่ของ MEA ที่ประกอบด้วยกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายในปี 2580 มากกว่า 6.6 ล้านคัน โดยการเปิดตัว Super Charge ในวันนี้ เป็นสถานีอัดประจุไฟฟ้ารูปแบบ DC Quick Charger จำนวน 2 เครื่อง มีความสามารถจ่ายกำลังไฟฟ้ารวมสูงสุด 142 kW ต่อเครื่อง แต่ละเครื่องประกอบด้วยหัวชาร์จแบบ DC Quick Charge จำนวน 2 หัวชาร์จ และแบบ AC Type 2 จำนวน 1 หัวชาร์จ รวมทั้งสิ้น 6 หัวชาร์จ ทำให้ MEA มีจำนวนหัวชาร์จรวมทั้งสิ้น 144 หัวชาร์จ และภายในสิ้นปี 2566 จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 244 หัวชาร์จ รวมถึงในอนาคต Super Charge นี้ จะพร้อมรองรับการเชื่อมต่อกับระบบ Solar PV และ Battery Storage เป็นต้นแบบในการขยายศักยภาพเครื่องอัดประจุไฟฟ้าในสถานที่อื่นๆ ต่อไป

ในปัจจุบัน MEA ได้ดำเนินนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาวิจัยพัฒนาระบบสถานีอัดประจุไฟฟ้า การเปลี่ยนระบบรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งในประเภท EV และ E-Bus การจัดทำ MEA EV Application โดยมีการร่วมพัฒนาระบบ EV Data Roaming ทำให้ MEA EV Application สามารถแชร์ข้อมูลกับผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างๆ สร้างความสะดวกสบายให้กับประชาชนผู้ใช้งาน สามารถรับข้อมูลที่ครอบคลุมกลุ่มผู้ให้บริการที่มากขึ้นทั้งในฟังก์ชันการค้นหาสถานีอัดประจุไฟฟ้า และการจ่ายค่าบริการ ตลอดจนการออกแบบระบบบริหารจัดการพลังงานสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า (MEA Smart Charging System) ที่สามารถควบคุมการใช้งานพลังงานภายในสถานีอัดประจุไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลา โดยเชื่อมโยงกับระบบตรวจประเมินการใช้โหลดของหม้อแปลงไฟฟ้า (Transformer Load Monitoring, TLM) เพื่อป้องกันปัญหาการจ่ายไฟฟ้าเกินพิกัดของหม้อแปลงไฟฟ้า และช่วยในการบริหารจัดการระบบจำหน่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังมีการออกแบบระบบ PLUG ME EV นวัตกรรมที่ MEA คิดค้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การชาร์จ EV ในเชิงพาณิชย์ เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการติดตั้งหัวชาร์จจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน และประหยัดพื้นที่ เช่น การติดตั้งในคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ อาคารสำนักงาน ฯลฯ อีกทั้งยังมีการให้บริการนวัตกรรมทดสอบอุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า EV เพื่อสร้างมาตรฐานการใช้งานที่มีความปลอดภัย และในอนาคตยังมีแผนที่จะพัฒนาอุปกรณ์ทดสอบความเที่ยงตรงของเครื่องอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการได้อีกด้วย

ในด้านธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้า MEA ได้เสริมทัพด้วย Key Energy Now by MEA หรือ KEN by MEA โดยทีมที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ และมีความเป็นมืออาชีพด้านธุรกิจไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งครอบคลุมในด้านธุรกิจบริการติดตั้งระบบไฟฟ้าสำหรับ EV Home Charger ของ KEN by MEA เป็นการยกระดับความปลอดภัยจากมาตรฐานการติดตั้งทั่วไป โดย MEA ยังให้บริการโดยคำนึงถึงความเพียงพอของระบบไฟฟ้าต่อการใช้งาน EV Home Charger ตลอดจนการให้คำปรึกษาและแนะนำโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ไปจนถึงการรับแจ้งปัญหาขัดข้องตลอด 24 ชั่วโมง

#SuperCharge #EV
#MEAEV #เครื่องอัดประจุไฟฟ้า
#DCQuickCharger #เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
#MEA #การไฟฟ้านครหลวง
#พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร