แนวโน้มเหตุการณ์ “การใช้ความรุนแรงในสังคม และครอบครัวคนไทย” นับวันยิ่งเป็นภัยร้ายก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตเพิ่มสูงมากขึ้น “รับรู้กันผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ได้รายวัน” แต่กลับไม่เคยปรากฏ “รัฐบาลชุดใด” ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาจริงจังอย่างเป็นรูปธรรม

กระทั่งสถานการณ์ความรุนแรงของไทยในระดับโลก “ปี 2565 มีความรุนแรงอยู่ลำดับที่ 103 จาก 163 ประเทศทั่วโลก” แล้วความรุนแรงในครอบครัวปี 2559 ติด 1 ใน 10 ของโลก ที่เกิดขึ้นไม่น้อยกว่าวันละ 1 เหตุการณ์

สถิตินี้เป็นความท้าทายต่อ “ประเทศไทย” ต้องเร่งแก้เพราะเป็นปัญหาส่งผลในแง่เศรษฐกิจ สังคม และการใช้ชีวิตของคนในสังคมสะท้อนผ่านวงเสวนา “ร่วมสร้างสังคมไทยปลอดภัยจากความรุนแรง ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และเผยแพร่ผลงานวิจัย และนวัตกรรม

รศ.ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลความรุนแรงในสังคมไทย : ภัยเงียบที่ควรรู้ว่า ความรุนแรงไม่ใช่ภัยเงียบเสมอไป ตามรายงานดัชนีความสงบสุขโลก 2562 ประเทศไทยถูกจัดอยู่อันดับ 117 จาก 163 ประเทศ “คณะเริ่มทำวิจัยท้าทายไทยสังคมไทยไร้ความรุนแรง” ทำให้ในปี 2565 ลดลงมาอยู่ที่ 103 ของโลก

...

แต่ว่า “การฆ่าตัวตาย” ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าติดอันดับ 104 ของโลก หรือ 3.7 ต่อประชากรร้อยคน ทำให้ในปี 2566 ความรุนแรงในการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 73 ของโลก อันมีอัตราเฉลี่ย 8.8 ต่อประชากรพันคน

ส่วนความรุนแรงในครอบครัวปี 2559 ติดอันดับ 1 ใน 10 ยิ่งประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก็พบ “คนกลุ่มนี้เผชิญความรุนแรงจากคนใกล้ชิด” แต่ในช่วงโควิด-19 ตัวเลขความรุนแรงในสถานรับเลี้ยงกลับสูงขึ้น

หนำซ้ำ “ความรุนแรงต่อสตรี” ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ 161 ประเทศพบว่า “สตรีทั่วโลก” มีประสบการณ์ถูกใช้ความรุนแรงจากคู่รัก หรือสามี 1 ใน 3 อายุระหว่าง 15-49 ปี ในจำนวนนี้ถูกฆาตกรรม 11 นาทีต่อ 1 คน สำหรับประเทศไทยปรากฏพบสตรีถูกทำร้ายในครอบครัวเฉลี่ย 4 คน/วัน

แล้วหากดู “ความรุนแรงต่อเด็กทั่วโลก” ตามข้อมูลเด็กถูกทำร้าย 1 ใน 2 หรือ 1 พันล้านคน ในจำนวนนี้ 3 ใน 4 (300 ล้านคน) มีอายุ 2-4 ขวบ ส่วนหนึ่งมีปัจจัยจากต้องอาศัยอยู่กับแม่ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ทำให้ต้องถูกทำร้ายต่อจาก “พ่อ แม่ ผู้ปกครอง” ลักษณะระบายอารมณ์ด้วยการลงโทษทำร้ายร่างกายนั้น

ถ้าย้อนมา “ประเทศไทย” ในปี 2564 มีเด็กถูกใช้ความรุนแรงประมาณ พันกว่าคน เยาวชน 2 ร้อยกว่าคน ดังนั้นนับเป็นภัยเงียบน่ากลัวมากเพราะ “เด็กมักมีผลต่อการขยายวัฏจักรความรุนแรงเพิ่มออกไปเรื่อยๆ” สิ่งนี้ทำให้ไม่แปลกใจตั้งแต่ปี 2542 “เด็ก และเยาวชนไทย” มีการใช้ความรุนแรงติดอันดับ 8 ของโลก

ยิ่งกว่านั้นในปี 2556 เด็ก และเยาวชนไทยมีการทำความผิดเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มประชาคมอาเซียน กระทั่งในปี 2561 มีตัวเลขการกลั่นแกล้ง ข่มเหง รังแกกันในโรงเรียนของนักเรียนเป็นอันดับ  2 ของโลก หรือเด็กตกเป็นเหยื่อ 6 แสนคน/ปี รองจากประเทศญี่ปุ่น สิ่งนี้ล้วนมาจากเด็กเคยตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวมาก่อนแทบทั้งสิ้น

สาเหตุการใช้ความรุนแรงส่วนหนึ่งมาจาก “ปัญหาสุรา ยาเสพติด” บางคนมักนำไปสู่การใช้อาวุธปืนก่อความรุนแรงกันได้อย่าง “สหรัฐอเมริกา” มีการเสียชีวิตจากอาวุธปืนมากที่สุดในโลก “2 ใน 3 ฆ่าตัวตาย” ทั้งยังปรากฏพบว่าเมื่อใดก็ตาม “ภายในบ้านมีอาวุธปืน” จะนำไปสู่การฆาตกรรมคนในครอบครัวมากถึง 500% ด้วยซ้ำ

สะท้อนให้เห็นว่า “อาวุธปืน สุรา ยาเสพติดหาได้ง่าย” มักเป็นปัจจัยกระตุ้นก่อให้เกิดความรุนแรงในสังคมได้สูงขึ้น สร้างความเสียหายมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 11% ของจีดีพีโลก อันเป็นจำนวนเงินมหาศาลมาก

ถ้าเป็น “คนไทยติดสุราอันดับ 40 ของโลก” นำไปสู่การใช้อาวุธปืนก่อความรุนแรงเช่นกันในปี 2565-2566 ติดอันดับ 15 มีผู้เสียชีวิตด้วยปืนเกือบ 3 พันราย หรือ 3.91 ต่อประชากรแสนคน สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 4% ของจีดีพี (5.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นเงินสามารถนำมาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และโครงสร้างพื้นฐานได้มากมาย

ด้วยเพราะ “UNODC” เคยสำรวจพบว่าทรัพยากรมนุษย์ดีที่สุดอยู่ช่วงวัย 15-29 ปี แต่ว่าวัยนี้กลับ “ถูกฆาตกรรมมากที่สุด” นั้นย่อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสังคมของประเทศตามมา ในส่วนความรุนแรงระหว่างกลุ่มตั้งแต่ในปี 2562 ประเทศไทยติดอันดับการก่อการร้ายอยู่ที่ 18 ของโลก ในปี 2565 อยู่อันดับที่ 22 อีกด้วย

...

ประเด็นที่เป็นกังวลสังคมกำลังมองเห็น “ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงต่อสตรี และเด็กเป็นเรื่องปกติ” สิ่งนี้มักเกิดเป็นวัฏจักรต่อการทำความรุนแรงผิดซ้ำ เพราะตามข้อมูล “ยูนิเซฟ” ทำวิจัยศึกษาเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ต่อเนื่องว่าเด็กเคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางร่างกาย ทางเพศ ทางอารมณ์ 4 ครั้งขึ้นไป

มักมีผลต่อ “การถ่ายทอดวัฏจักรความรุนแรงจากรุ่นสู่อีกรุ่น” เมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะส่งผลต่อการใช้ความรุนแรง 7 เท่า มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 30 เท่า หากเป็นกรณีการใช้ความรุนแรงกับคู่รักจะเพิ่มขึ้น 14 เท่า

ดังนั้น “ความรุนแรงในสังคมเป็นภัยเงียบไม่อาจมองข้ามได้” เพราะเมื่อใดสังคมมองว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ควรไปยุ่งก็เป็นเหมือนผลักเด็กให้ซึมซับพฤติกรรมความรุนแรงนำไปผลิตซ้ำต่อ

“ตอนนี้สุรา ยาเสพติด และอาวุธปืนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ยิ่งทำให้ผู้เข้าไปยุ่งเกี่ยวนั้นมักขาดสติจนนำไปสู่การก่อเหตุความรุนแรงสะเทือนขวัญยากที่จะแก้ไขได้อย่างที่เคยมีมาแล้วหลายกรณี ดังนั้นความรุนแรงในสังคมไทยในสถานการณ์โลกค่อนข้างตกอยู่ในสภาวะวิกฤติควรต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาจริงจัง” รศ.ดร.สุมนทิพย์ ว่า

...

ประการนี้เป็นที่มางานวิจัย “สังคมไทยไร้ความรุนแรง” ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2562-2565 ในปีแรก...“ถอดข้อมูลความรุนแรง” สรุปเป็น 3 ระดับ คือ 1.ความรุนแรงต่อตนเอง 2.ความรุนแรงต่อบุคคล 3.ความรุนแรงระหว่างกลุ่ม

ปัญหาว่า “ประเทศไทยขาดแผนที่ความรุนแรง” ดังนั้นงานวิจัยปีที่ 2...“จึงสร้างเครื่องมือในการแก้ปัญหาแต่ละระดับ” ด้วยการปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมโดย “ม.มหิดล” จัดสถิติคดีฆาตกรรมประเภทตามแบบ FBI

ทำตัวชี้วัดฐานข้อมูลเป็นตามสากลให้ “สตช.” นำไปกำหนดนโยบายแก้ปัญหาต่อไป “ทีไอเจ” ก็สร้างเมืองปลอดภัยต้นแบบอาชญากรรมที่ จ.น่าน แล้วยังได้ “พัฒนาโปรแกรมจังหวัดต้นแบบการป้องกันการฆ่าตัวตาย” ขับเคลื่อนในพื้นที่ 6 จังหวัดนำร่อง เช่น จ.น่าน ชลบุรี นครศรีธรรมราช กาญจนบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น

บูรณาการหมอ หน่วยงานท้องถิ่น ประชาชน นำไปสู่การป้องกันได้สำเร็จลดความรุนแรงเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ยังมี “การแก้ปัญหาความรุนแรงระหว่างบุคคล” ในเรื่องนี้ “ม.ธรรมศาสตร์” เข้ามาสร้างแกนนำพัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัว และตั้งศูนย์แก้ปัญหาระดับชุมชนนำร่องใน จ.บุรีรัมย์ และ จ.ปทุมธานี  “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ทำวิจัยลดความรุนแรงต่อเด็ก และเยาวชนทั้งใน และนอกสถานศึกษา

ด้วยการนำ “เด็กปฐมวัยเข้าถึงหลักธรรมทางพุทธศาสนา” เพื่อปลูกฝังสร้างภูมิคุ้มกันจิตใจลดพฤติกรรมความรุนแรงแล้ว ล่าสุด “สมศ.” เสนอให้นำโครงการนี้ไปใช้ในสถานศึกษาทั่วประเทศจนนำมาสู่ “พม.” จะกำหนดแผนในการนำเด็กปฐมวัยห่างไกลจากความรุนแรงนั้น “ม.รังสิต” จัดทำมาตรการป้องกันบูลลี่ในโรงเรียน

...

ขณะที่ “ร.ร.นายร้อยตำรวจ” จัดทำสถานศึกษาต้นแบบพลังความร่วมมือยุติการใช้ความรุนแรงของนักเรียนนักศึกษา ด้วยการนำสถานศึกษายกพวกตีกันทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด 9 แห่งมาอบรมแนวทาง 8 กิจกรร

สุดท้ายการแก้ปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย “รัฐบาล” ต้องกำหนดให้เป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ลดการทำร้ายสตรี และเด็ก ที่จะตัดวงจรวัฏจักรทำความรุนแรงผลิตซ้ำ โดยเฉพาะแก้ปัญหาอาวุธปืน และยาเสพติดที่หาได้ง่าย เพราะมักนำไปสู่ความรุนแรงยากเกินจะแก้ไขได้ทัน

ย้ำฝากไว้อีกนิดว่า “ความรุนแรงในครอบครัว” ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ของใครเพราะเป็นการทำร้ายร่างกาย จิตใจ และบังคับข่มเหงบุคคลอื่น “ผู้ละเมิดย่อมทำผิดกฎหมาย” หากประชาชนพบเห็นเหตุการณ์ควรรีบแจ้ง “เจ้าหน้าที่รัฐ” เพื่อจะเข้าช่วยเหลือเหยื่อได้ทันที.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม