ทีม iRAP ROBOT มจพ. คว้าแชมป์โลกรางวัลชนะเลิศ จากการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก “World RoboCup Rescue 2023” และอีก 2 รางวัล รางวัลนวัตกรรมสมรรถนะการขับเคลื่อนหุ่นยนต์ยอดเยี่ยมระดับโลก และ รางวัลการทำแผนที่ยอดเยี่ยมระดับโลก

ทีม iRAP ROBOT นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ตัวแทนจากประเทศไทยคว้าแชมป์โลกรางวัลชนะเลิศ ในการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก “World RoboCup Rescue 2023” และอีก 2 รางวัล ได้แก่ BEST IN CLASS MOBILITY (รางวัลนวัตกรรมสมรรถนะการขับเคลื่อนหุ่นยนต์ยอดเยี่ยมระดับโลก) และ BEST IN CLASS MAPPING (รางวัลการทำแผนที่ยอดเยี่ยมระดับโลก) จัดการแข่งขันที่เมืองบอร์โด ประเทศฝรั่งเศส ประกาศผลการแข่งขัน เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 โดยมีทีมหุ่นยนต์เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ จำนวน 17 ทีม จากนานาประเทศทั่วโลก ประกอบด้วย อเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น จีน เม็กซิโก เกาหลีใต้ ออสเตรีย ฝรั่งเศส บังกลาเทศ ตรุกี และไทย โดยผลการแข่งขันมีดังนี้ ทีม iRAP ROBOT ตัวแทนจากประเทศไทยได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นแชมป์โลกสมัยที่ 9 รองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม Hector Darmstadt จากประเทศเยอรมนี และรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม Quix จากประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ ทีม iRAP ROBOT มีกำหนดการเดินทางกลับถึงประเทศไทย ในวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม 2566 

การแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก RoboCup 2023 จัดขึ้นที่เมืองบอร์โด ประเทศฝรั่งเศส จัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 4-10 กรกฎาคม 2566 ประกอบด้วยการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย Rescue หุ่นยนต์ Soccer หุ่นยนต์ HOME หุ่นยนต์ INDUSTRY และอื่นๆ มีทีมหุ่นยนต์กู้ภัยเข้าร่วมจากนานาประเทศทั่วโลก โดย ทีม iRAP ROBOT ทำการแข่งขันรอบแรก 15 สถานี โดยคัดเลือกคะแนนดีที่สุด 10 สถานี เพื่อผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ มีจำนวน 9 ทีมที่ผ่านเข้ารอบ ประกอบด้วย ไทย เยอรมนี ญี่ปุ่น จีน ออสเตรีย เกาหลีใต้ และในรอบชิงชนะเลิศมีทีมที่เข้ารอบสุดท้าย ได้แก่ ไทย เยอรมนี ญี่ปุ่น จีน และ ทีม iRAP ROBOT ได้คะแนนที่ดีที่สุดใน 5 ทีมสุดท้าย ด้วยคะแนน 695% ได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นแชมป์โลกในครั้งนี้ มีรายชื่อนักศึกษาดังนี้

วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

1. นายฐิติยศ ประกายธรรม
2. นายภูมิทรรศน์ สังขพันธ์
3. นายศักดิธัช วินิจสรณ์        

บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน

4. นายจิรกานต์ สุขเจริญ

คณะวิศวกรรมศาสตร์

5. นายชัยพฤกษ์ เลาหะพานิช     
6. นายอาทิตย์ นาราเศรษฐกุล  
7. นายปียภูมิ ธนวุฒิอนันต์
8. นายกลย์ภัทร์ บุญเหลือ        
9. นายธรณินทร์ อุ่นอารีย์            
10. นายธนกร กุลศรี               
11. นายนภดล จำรัสศรี
12. นายเจษฎากร ชัยนราพิพัฒน์     
13. นายภูบดี บุญจริง  
        
โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาทีมดังนี้ ผศ.สมชาย เวชกรรม ที่ปรึกษาอธิการบดีด้านกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ รศ.ดร.ธีรวัช บุณยโสภณ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ อาจารย์ ดร.จิรพันธุ์ อินเทียม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบูรณาการเทคโนโลยี อาจารย์ ดร.อรัญ แบล็ทเลอร์ ผศ.ดร. นพดล พัดชื่น จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในเวทีการแข่งขันที่มีแต่ประเทศที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี แต่นักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ก็สามารถใช้ความพยายามมุ่งมั่นมานะอุตสาหะ และมีการทำงานเป็นทีมเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ทำให้สามารถคว้าชัยชนะได้เป็นแชมป์โลกสมัยที่ 9 สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในครั้งนี้ ให้เป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับในเวทีระดับโลก