ผมสรุปไว้แล้วเมื่อวานนี้ว่า คำพูดที่ว่า “ยิ่งพัฒนาคนรวยยิ่งรวยขึ้น และคนจนกลับยิ่งจนลงนั้น” ไม่ใช่จะเกิดเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศยากจนเท่านั้น แท้ที่จริงแล้วได้เกิดขึ้นอย่างมากในประเทศที่ร่ำรวยแล้วนั่นแหละ
ทำให้ประเทศที่ร่ำรวยมากๆอย่างสหรัฐฯ และยุโรป ในทุกวันนี้เกิดปัญหา “ช่องว่าง” ของรายได้อย่างน่าตระหนกและยากที่จะแก้ไขได้ แม้รัฐบาลของประเทศนั้นๆจะพยายามอยู่ก็ตาม
นักเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเขียนไว้ในหนังสือ “CAPITAL in the Twenty–First Century” ได้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์ไว้แล้ว
กลุ่มคนรวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์แรกของสหรัฐฯ มีส่วนแบ่งในจีดีพีของประเทศไปถึงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ จากไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อ 50 ปีก่อน (1970) มาเป็น 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา
ในหนังสือดังกล่าว THOMAS PIKETTY นักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งเศสที่เคยสอนที่ MIT พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่าเหตุที่คนรวยรวยขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนรวยเป็นเจ้าของ “ทุน” และผลตอบแทนจาก “ทุน” นั้นสูงกว่าผลตอบแทนจากปัจจัยการผลิตอื่นๆ โดยเฉพาะรายได้จากแรงงาน
เมื่อครั้งที่ศาสตราจารย์พิกเก็ตตี้ ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกมาประมาณ 7-8 ปีก่อนโน้น เชื่อว่าเป็นบทสรุปที่ “ช็อกโลก” ไม่น้อย และทำให้รัฐบาลของประเทศเจริญแล้วเริ่มหันมามีมาตรการที่จะจัดการกับ “กลุ่มทุน” มากขึ้น
ผมจำไม่ได้แล้วว่ารัฐบาลสหรัฐฯ หรือประเทศในยุโรปดำเนินการอย่างไรบ้าง แต่จากข้อมูลล่าสุดที่ดูเหมือนความเหลื่อมล้ำจะยังคงสูงอยู่ ผมก็เดาว่าคงเป็นเรื่องยากอยู่พอสมควรที่จะจัดการ
จะหันไปใช้วิธีรุนแรงแบบที่ระบบคอมมิวนิสต์เคยใช้ในอดีต ก็จะมีแต่ความเสียหายหนักและในที่สุดก็แก้ไม่สำเร็จ จนประเทศคอมมิวนิสต์ต้องหันมาใช้ระบบ “ทุนนิยม” อีกครั้งดังเช่นปัจจุบัน
...
ของบ้านเรามีความพยายามที่จะแก้ปัญหาความยากจนมาตั้งแต่ยุค “ป๋าเปรม” โดยเน้นที่การจัดหา “สิ่งจำเป็นพื้นฐานของชีวิต” หรือบางยุคก็เรียกว่า จปฐ.ให้แก่คนไทยที่ยากจนส่วนใหญ่มีโอกาสได้รับอย่างทั่วถึงเสียก่อน
โดยขยายความจาก “ปัจจัย 4” อันได้แก่ “อาหาร-ที่อยู่อาศัย-เครื่องนุ่งห่ม-ยารักษาโรค” เป็นพื้นฐานแล้วก็เพิ่มเติมความจำเป็นหลักๆอื่นๆเข้าไป เช่น การศึกษา, การคมนาคมขนส่ง, การหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยไม่สูงนัก ฯลฯ
แม้การดำเนินงานในลักษณะดังกล่าวจะทำให้คนจนของไทยเราเข้าถึงสิ่งจำเป็นในชีวิตได้มากขึ้น แต่ในแง่ “รายได้” แล้ว ปัญหาดูจะหนักกว่าเดิม
ข้อมูลจากหลายๆแหล่งในช่วงหลังๆ บ่งชี้ว่าความเหลื่อมลํ้าของรายได้กลับพุ่งสูงขึ้นอีก
โดยเฉพาะหลังช่วงโควิด-19 อาละวาดสถานการณ์น่าจะหนักขึ้นไปอีกหลายๆเท่า
ผมจึงถือโอกาสใช้คอลัมน์นี้เขียนถึงคนรวยมากๆของบ้านเรา บ่อยๆครั้ง ขอให้ลงไปช่วยกันดูแลคนยากจนด้วยอีกแรงหนึ่ง แม้ผมจะทราบดีว่าทุกๆท่านช่วยอยู่แล้วผ่านองค์การกุศลต่างๆ และผ่านโครงการ CSR ของท่านเอง แต่ก็เกรงว่าจะไม่พอเพียง
ผมเคยเขียนถึงบางโครงการของ ไทยเบฟ ที่ลงไปช่วยเหลือเรื่องธุรกิจชุมชนเขียนถึงบางโครงการของ เจริญโภคภัณฑ์ กับการพัฒนาการศึกษาในชนบท
รวมทั้งการเขียนถึงโครงการ “น่านแซนด์บ็อกซ์” ของเจ้าสัว บัณฑูร ล่ำซำ มหาเศรษฐีอันดับ 32 ของปีนี้ที่มุ่งหวังจะแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำของจังหวัดน่านอย่างถาวร ซึ่งก็จะต้องแก้ที่ปัญหาความยากจนของพี่น้องชาวน่านที่อยู่บริเวณรอบๆป่าต้นน้ำนั่นเอง
ผมขอให้กำลังใจแด่ทุกๆท่านที่ผมเชื่อว่าท่าน “แบ่งปัน” อยู่แล้วให้แบ่งปันมากขึ้นและมากขึ้น
แม้วิธีนี้จะลดช่องว่างทางการเงินหรือทางรายได้ไม่ได้มากนัก...แต่จะช่วยลดช่องว่างทาง “อารมณ์” และ “ความรู้สึก” ได้อย่างมหาศาลดังที่ผมเขียนไว้วานนี้
จะช่วยเป็นเกราะป้องกัน “ภัย” จากความเหลื่อมลํ้าที่เราเห็นเป็นตัวอย่างล่าสุดที่ฝรั่งเศส และหลายๆครั้งที่สหรัฐฯ ก่อนหน้านี้
ผมมั่นใจครับ ว่า “เมตตาธรรมจะช่วยค้ำจุนโลกให้อยู่เย็นเป็นสุขได้ ตลอดไป.
“ซูม”