นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวเป็นประธานการประชุมสื่อสารสร้างความเข้าใจ การนำตัวชี้วัดองค์รวม และตัวชี้วัดองค์ประกอบย่อยสู่การปฏิบัติในระดับเขตพื้นที่ และระดับสถานศึกษาว่า การจัดกลุ่มแบ่งประเภทตัวชี้วัดจะทำให้การนำไปใช้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยแบ่งตัวชี้วัดองค์รวม 771 ตัวชี้วัด ซึ่งการวัดและประเมินผลจะจัดกิจกรรมหรือทักษะของพฤติกรรมที่มีตัวชี้วัดองค์ประกอบย่อย 1,285 ตัวชี้วัด ทำให้ง่ายและไม่เป็นภาระสำหรับนำไปใช้ออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ในเรื่องของชิ้นงาน ใบงาน จะใช้เพียงตัวชี้วัดองค์รวม ส่วนตัวชี้วัดย่อยใช้ในการจัดกิจกรรมหรือทักษะต่างๆ ซึ่งไม่ยึดโยงกับห้วงของเวลา หรือลำดับในการบรรลุก่อนหลังของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยการวัดและประเมินผล 771 ตัวชี้วัดนี้ ไม่จำเป็นต้องเน้นการวัดเป็นทางการ แต่ต้องวัดหลากหลาย แสดงหลักฐานการวัดได้ ที่สำคัญง่ายต่อการนำไปบูรณาการทั้งในกลุ่มสาระฯ หรือข้ามกลุ่มสาระฯ ในแหล่งเรียนรู้ใกล้โรงเรียน เพื่อใช้ภาระงานหรือชิ้นงานที่ไม่มีจำนวนมากแต่วัดผลนักเรียนได้ครอบคลุม ลดภาระครูที่ไม่ต้องวัดผลทุกตัวชี้วัด
รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า การจัดกลุ่มประเภทตัวชี้วัดทำให้การวัดและประเมินผลมีความชัดเจน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ตามมาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัด อาทิ ตัวชี้วัดองค์รวม เขียนสื่อสารด้วยคำและประโยคง่ายๆ จะต้องเกิดจากการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมผ่านตัวชี้วัดองค์ประกอบย่อย สิ่งที่ต้องการวัดนักเรียน คือการเขียนสื่อสารด้วยคำและประโยคง่ายๆ เป็นการวัดด้วยชิ้นงานเดียวครอบคลุมทั้ง 5 ตัวชี้วัด ทำให้เรารู้ว่านักเรียนเรียนรู้อะไร ทำอะไรได้ เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมายและปฏิบัติด้วยตัวเองได้.
...