นับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญ “เหตุการณ์ถังดับเพลิงระเบิด” ในระหว่างการฝึกซ้อมแผนดับเพลิงของโรงเรียนราช วินิตมัธยม “เป็นเหตุให้นักเรียนเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีกหลายราย” ที่กลายเป็นข่าวช็อกสร้างความสะเทือนใจให้กับคนไทยทั้งประเทศอย่างมากในช่วงที่ผ่านมานั้น

เหตุการณ์นี้ทำให้ย้อนหวนคิดถึงเมื่อ 10 ปีก่อนที่เคย “เกิดเหตุถังดับเพลิงในชุมชน เขต กทม. ระเบิด 10 จุด อย่างไม่ทราบสาเหตุ” คราวนั้นสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนประชาชนหลายหลัง แล้วในปี 2562 ก็เกิดเหตุถังเคมีดับเพลิงระเบิดขึ้นในอาคารส่วนระบบไฟฟ้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

อันเกิดจากระหว่างการเปลี่ยนถังหัววาล์วมีปัญหาทำให้เคมีในถังพุ่งออกมา และถังได้เหวี่ยงไปกระแทกผู้ที่อยู่บริเวณนั้นมีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 4 ราย สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าถังดับเพลิงระเบิดนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แล้วไม่ควรปล่อยผ่านไปเฉยๆแต่ต้องใช้โอกาสนี้ชวนสังคมมาถอดบทเรียนหากลไกป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

ศ.ดร.อัญชลีพร วาริทสวัสดิ์ หล่อทองคำ
ศ.ดร.อัญชลีพร วาริทสวัสดิ์ หล่อทองคำ

...

ศ.ดร.อัญชลีพร วาริทสวัสดิ์ หล่อทองคำ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บอกว่า กรณีโรงเรียนจัดอบรมซ้อมดับเพลิงให้นักเรียน บุคลากรประจำปี เป็นเรื่องถูกต้องที่ให้ความสำคัญ “มาตรการป้องกันอัคคีภัย” เพื่อเพิ่มทักษะการรับมือเหตุเพลิงไหม้จริงได้

ด้วยตามปกติ “กฎหมาย” บังคับเฉพาะอาคาร 9 ประเภท ต้องมีระบบ ป้องกันอัคคีภัย การติดตั้งถังดับเพลิง การฝึกซ้อมดับเพลิง ส่วนโรงเรียนไม่มีระเบียบบังคับแต่ด้วย “ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์กว้างไกล” ทำให้เชิญ จนท.ปภ. กทม. ผู้ถูกฝึกฝนด้านการดับเพลิงมีทั้งประสบการณ์ ความรู้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เข้ามาเป็นวิทยากรการฝึกครั้งนี้

ในส่วน “อุปกรณ์สำหรับใช้สาธิตดับไฟเบื้องต้น” ส่วนใหญ่ จนท.ปภ.จะเลือกถังดับเพลิงคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพราะเป็นไอเย็นจัดคล้ายน้ำแข็งแห้ง สามารถลดความร้อนของไฟได้ดี ทั้งไม่ทิ้งคราบสกปรกเหมาะแก่การสาธิตซ้อมดับเพลิงมากกว่าการใช้ถังดับเพลิงผงเคมีแห้งที่เป็นฝุ่นคล้ายแป้งก่อความสกปรกขึ้นได้

ประการถัดมาหาก “วิเคราะห์สาเหตุถังดับเพลิงระเบิดครั้งนี้” เรื่องนี้เราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ทำให้ต้องตั้งคำถามว่า “ถังดับเพลิงนำมาซ้อมนั้นได้มาตรฐาน หรือบำรุงรักษาตามรอบควรจะเป็นหรือไม่” เพราะตามข่าวระบุว่า “ถังที่ระเบิดใช้งานมา 6 ปี และไม่มีวาล์วเซฟตี้” นั้นก็แสดงถึงถังไม่ได้มาตรฐานแล้ว

ตามปกติถังดับเพลิง CO2 สามารถใช้งานได้ 10 ปี แล้วยังมีกฎหมายบังคับให้ต้องทำการตรวจเช็กทุก 5 ปี ด้วยการทดสอบความดันด้วยน้ำ (Hydrostatic Test) ให้แรงดันภายในสูง 3,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (PSI) หรือประมาณ 200 บาร์ (bar) เพื่อทดสอบอุปกรณ์ยังรับแรงดันนั้นได้หรือไม่ ถ้าผ่านก็จะออกใบรับรองให้

ไม่เท่านั้นถ้า “ถัง CO2” ถูกใช้งานบ่อยก็ต้องตรวจเช็กทุก 3 ปีด้วยซ้ำ ฉะนั้นจึงอยากรู้ว่าถังดับเพลิงที่ระเบิดตรวจเช็กตามนี้หรือไม่ เพราะหากทดสอบแรงดันทุก 5 ปี หรือมีเซฟตี้วาล์วจะช่วยระบายความดันส่วนเกินออก สภาพถังย่อมสามารถรองรับแรงดันอยู่ในระดับปลอดภัยได้แน่นอน แม้ถัง CO2 จะอยู่ในสภาพตากแดดก็ตาม

...

นอกจากนี้แล้ว “ถังดังเพลิง CO2 สามารถบรรจุได้ 800–1,200 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว” แล้วตามข่าวถังที่ระเบิดบรรจุเพียงครึ่งถังเท่านั้น “เช่นนี้อุณหภูมิ 30-40 องศาฯ ไม่อาจขยายแรงดันเกินถึงระดับอันตรายได้” เพราะอย่าลืมว่าถังดับเพลิงที่มีมาตรฐานมักถูกออกแบบให้รับแรงดัน 3,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว

ปัญหามีอยู่ว่า “ประเทศไทย” ตามกฎหมายใช้มาตรฐาน มอก.เป็นหลักการบังคับให้เครื่องดับเพลิงยกหิ้วชนิดผงเคมีแห้ง และเครื่องดับเพลิงแบบยกหิ้วชนิดโฟมต้องผ่านการรับรองเท่านั้น แต่ในส่วนเครื่องดับเพลิงยกหิ้วชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) กลับไม่มีระเบียบข้อบังคับใดๆ ส่วนใหญ่ใช้มาตรฐานการสมัครใจแทน

นั้นก็หมายความว่า “ถัง CO2” ประเทศไทยไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องผ่าน “มาตรฐาน มอก.” ดังนั้นต้องขึ้นอยู่กับ “ผู้ประกอบการ” จะสมัครใจในการทดสอบมาตรฐานการรับรองของต่างประเทศกันเอง

“นั้นก็ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการผลิตถัง CO2 ในไทยส่วนใหญ่ไม่ขอใบรับรองมาตรฐาน มอก. เพราะเมื่อไม่มีกฎระเบียบรองรับการขอ มอก.ต้องใช้วิธีการขอมาตรฐานประเภทเคมีแห้ง หรือถังชนิดโฟม แล้วนำถังนั้นมาบรรจุเป็น CO2 เพื่อให้ได้มาตรฐาน มอก.การันตีสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าซื้อไปใช้กันนั้น”ศ.ดร.อัญชลีพรว่า

...

ถ้าหากมาดูในส่วน “มาตรฐานถังดับเพลิงของต่างประเทศ” มีตั้งแต่มาตรฐานสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติสหรัฐฯ National Fire Protection Association:NFPA, มาตรฐานอังกฤษ (British Standard:BS) มาตรฐานออสเตรเลีย (Australia Standards:AS) ส่วนใหญ่เน้นเข้มงวดการใช้วัสดุและอุปกรณ์ต้องปลอดภัยสูงสุด

อีกทั้งมาตรฐานถังดับเพลิงมักแยกการใช้ดับไฟชัดเจนอย่างเช่น “ไฟประเภท A” เป็นไฟไหม้จากไม้ ผ้า กระดาษ ยาง พลาสติก ต้องใช้ถังดับเพลิงชนิดน้ำ ผงเคมีแห้ง “ประเภท B” เพลิงเหลวติดไฟ ก๊าซ น้ำมัน ต้องใช้ถัง CO2 ผงเคมีแห้ง น้ำยาโฟม “ประเภท C” ไฟไหม้อุปกรณ์ไฟฟ้าลัดวงจรใช้ CO2 ผงเคมีแห้ง หรือน้ำยาโฟม

“ประเภท D” เป็นไฟจากโลหะไวไฟ เช่น ไทเทเนียม หรือแมกนีเซียมมีปฏิกิริยากับน้ำลุกติดไฟ “ห้ามใช้น้ำดับเด็ดขาด” และ “ประเภท K” ที่เกิดจากน้ำมันใช้ประกอบอาหาร ไขมันสัตว์ ก็มีถังดับเพลิงสูตรเฉพาะดับไฟนี้

ย้อนกลับมาประเทศไทยหลังจากกรณี “เกิดอุบัติเหตุถังดับเพลิงระเบิดใส่นักเรียนบาดเจ็บและเสียชีวิต” หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอาจต้องปรับปรุงออกกฎระเบียบใหม่ เพื่อให้ถังดับเพลิงชนิด CO2 ต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน มอก. แทนมาตรฐานการสมัครใจอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

...

ยิ่งตอนนี้ถัง CO2 มีการใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ในชุมชน ตลาดสด อาคารบ้านเรือน และหน่วยงานราชการ เช่นนี้ต้องสร้างมาตรฐานควบคุมคุณภาพให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพราะที่ผ่านมาถัง CO2 ระเบิดนั้นไม่ใช่เป็นครั้งแรกและก็ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่ๆ ถ้าจำกันได้เมื่อปี 2556 ก็เคยมีเหตุถังระเบิดในชุมชน กทม. 10 จุดมาแล้ว

สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า “ถังดับเพลิง CO2 อัดแรงดันสูงมีโอกาสเกิดระเบิดได้ตลอด” จำเป็นต้องมีกลไกควบคุมมาตรฐานให้เกิดความปลอดภัย โดยเฉพาะตัวถังจำเป็นต้องมีวาล์วนิรภัยเอาไว้ป้องกันกรณีที่เกิดแรงดัน

ตอกย้ำด้วย “ปัจจุบันมีการนำเข้าถังดับเพลิงจีนจำนวนมาก” ส่วนใหญ่ทำด้วยวัสดุเหล็กมีน้ำหนักมากมักสู้ทนกับแรงต้านทานแรงดันภายในถังได้ไม่ดี “เมื่อเทียบกับถังชนิดอัลลอย” อย่างไรก็ดีถังเหล็กจากจีนหลายยี่ห้อก็ผ่าน “การทดสอบมาตรฐาน British Standard (BS)” สามารถใช้ได้ดีในระดับหนึ่งแต่ก็ยังไม่ทนเช่นเดิม

เช่นนี้ขอแนะนำ “ประชาชน” ควรซื้อถังดับเพลิงมีมาตรฐาน และมีเซฟตี้วาล์วระบายความดันดีที่สุด “ยอมจ่ายเงินซื้อของแพงแลกกับสินค้ามีคุณภาพความปลอดภัย” เพราะถ้าถังมีราคาถูกมากเท่าใดย่อมต้องถูกลดสเปกวัสดุความปลอดภัยลงเท่านั้น “ถังอาจไม่ระเบิด” แต่เมื่อมีเหตุฉุกเฉินไฟไหม้จริงอาจจะใช้งานไม่ได้

ดังนั้นเราสามารถสังเกตความผิดปกติของถังดับเพลิงได้ง่ายๆ เช่น ถังต้องไม่บุบ ไม่บวม ไม่เป็นสนิม และฟอยล์สีเงินต้องอยู่ครบ สายฉีดไม่มีรอยแตกร้าว ไม่อุดตัน หากพบอาการผิดปกติต้องแก้ไขทันที ในส่วน “ผู้ขาย” ก็ควรหมั่นติดตามให้คำแนะนำการบำรุงรักษาแก่ผู้ซื้อสม่ำเสมอ เพื่อจะได้เกิดความปลอดภัยต่อทุกฝ่าย

สิ่งนี้เป็นการวิเคราะห์จากประสบการณ์การสอนเซฟตี้ให้นักศึกษา 30 ปี พร้อมทั้งร่วมถอดบทเรียนแลกเปลี่ยนกับคุณดิลก เลิศเกรียงไกรยิ่ง บ.นิปปอน เคมิคอลฯ ผู้จัดอบรมซ้อมดับเพลิงให้ภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นข้อมูลนำสู่การหาทางป้องกันในอนาคตส่วนสาเหตุถังดับเพลิงระเบิดเกิดจากอะไรนั้นต้องรอผลสรุปจากตำรวจอีกครั้ง

สุดท้ายย้ำว่า “ถังดับเพลิง” เป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยจำเป็นต้องมีมาตรฐาน และการบำรุงรักษาสม่ำเสมอ มิเช่นนั้นสิ่งนี้อาจจะกลายเป็นอุปกรณ์อันตรายต่อตัวเราได้เหมือนกันนะจ๊ะ...