ว่ากันว่าถ้าใครอยากได้บทเรียนชีวิต ที่เข้มข้นถึงใจที่สุดให้ลองเริ่มต้น “ทำธุรกิจ” เพราะตลอดเส้นทาง คุณจะได้สัมผัสกับรสชาติชีวิตที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรค ความล้มเหลว ความสำเร็จ ล้วนเป็นมุมมองชีวิตใหม่ๆ ที่ได้จากการลงมือทำ และแก้ปัญหาที่เจอตรงหน้าจริงๆ

บทสรุปของ “โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1” น่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดสำหรับคำกล่าวนี้ ด้วยระยะเวลากว่า 66 วัน ที่น้องๆ จากโรงเรียนมัธยมในจังหวัดน่าน ที่ได้ผ่านการเข้าอบรมการทำธุรกิจจริง จากพี่ๆ “มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา” ที่ได้ส่งต่อโอกาส ความรู้ และเงินลงทุน ให้น้องๆ ลงไปลุยเปิดบริษัทจำลอง นำผลิตภัณฑ์จากไอเดียที่เกิดขึ้น และนำไปทดลองลงมาขายของกันจริงๆ

ตลอดเส้นทางการลองทำธุรกิจ น้องๆ ล้วนต้องผ่านอุปสรรค คราบน้ำตา รวมทั้งกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางความคิดที่ “เปลี่ยน” ให้น้องๆ เป็นเมล็ดพันธุ์ที่เติบใหญ่ และพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงท้าทายของโลกในวันข้างหน้ามากยิ่งขึ้น

ผลลัพธ์คือความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ผลกำไร

“มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา เราไม่แคร์เลยว่า ธุรกิจที่น้องๆ เริ่มต้นทำจากแคมป์นี้ จะได้กำไรหรือขาดทุน” ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา เริ่มต้นกล่าวกับเรา

“เราไม่ได้คิดว่าน้องๆ ต้องเอานวัตกรรมที่ใหม่ที่สุดมาให้เราเห็น เราไม่แคร์ แต่เราแคร์ว่าน้องๆ จะได้รับรู้ว่าชีวิตของผู้ประกอบการ ต้องเจอกับปัญหาแบบไหน และเมื่อเจอปัญหาจะต้องแก้อย่างไร”

ดร.อดิศวร์ เล่าว่า ผลลัพธ์ที่ทำให้หัวใจของทีมงานทุกคนพองโตมากที่สุด คือการได้เห็นว่าตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา น้องๆ ที่เข้าร่วมแคมป์ เกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง จากเด็กที่เดินเข้าแคมป์มาในวันแรก ไม่กล้าจะพูดหรือนำเสนอไอเดีย จนวันสุดท้ายเมื่อผ่านอุปสรรคและกระบวนการเรียนที่เข้มข้น น้องๆ สามารถยืนขึ้นอย่างมั่นใจ

“ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดของน้องๆ คือ “ความคิด” เล่าให้ฟังว่าน้องๆ เข้ามาแคมป์วันแรกมีแต่ “ความกลัว” ถามว่าน้องๆ กลัวอะไร กลัวในความไม่รู้ กลัวว่ามันจะยากเกินไปไหม ทำไมฉันไม่เข้าใจ และทำไมเพื่อนของฉันเข้าใจ สิ่งนี้คือความเปลี่ยนแปลง เมื่อน้องๆ ได้รับรู้ว่าการเรียนรู้ของคนเราไม่เท่ากันหรอก แต่ว่าเมื่อน้องๆ ได้สัมผัสประสบการณ์ไปเรื่อยๆ เก็บเกี่ยวไปเรื่อยๆ ก็จะได้รู้ว่าความแตกต่างตรงนั้นมันค่อยๆ หายไป

“เสร็จแล้วพอระบบความคิดเปลี่ยนไป น้องๆ ก็เริ่ม “กล้า” ที่จะเผชิญกับปัญหา เจอปัญหาแล้วจะหนีมันไป หรือเจอปัญหาแล้วจะวิ่งเข้าชนปัญหา ถามว่าสองอย่างนี้แตกต่างกันอย่างไร เมื่อเราเจอปัญหา ไม่ว่าจะวิ่งหนีไปเร็วเท่าไหร่ ปัญหาจะวิ่งตามเราไปเร็วกว่าอีก แต่เมื่อเจอปัญหาแล้วถ้าเราวิ่งชนมัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือจะทำให้เกิดปัญญา เกิดกระบวนความคิดว่า เมื่อเจอปัญหาแบบนี้ อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล น้องๆ แสดงให้เราเห็น ไม่ใช่แค่ว่าพวกเขาโตขึ้น แต่น้องๆ บางคนแสดงถึงความเป็นผู้นำให้เราเห็นด้วย”

จำลองโลกธุรกิจจริงกับบททดสอบที่เข้มข้น

หากถามว่าน้องๆ ในค่ายต้องอบรมกันเข้มข้นแค่ไหน เมื่อฉายระยะเวลา 66 วันที่จัดแคมป์กันมา จะแบ่งออกเป็น 3 แคมป์ย่อยด้วยกัน แบ่งเป็น “กล้าเรียน” “กล้าลุย” และ “กล้าก้าว” ซึ่งเหตุผลที่ใช้คำว่า “กล้า” นำหน้าทั้ง 3 ครั้งนั้น ดร.อดิศวร์ เผยกับเราว่า

“ที่เราใช้คำว่า “กล้า” นำหน้า เพราะว่าเราต้องการให้น้องๆ ได้พบกับความรู้ใหม่ๆ อุปสรรคที่เกิดขึ้นจริงๆ รวมทั้งการทำอย่างไรเพื่อที่จะก้าวผ่านความท้าทายไปได้ อย่างแคมป์แรก “กล้าเรียน” เป็นครั้งแรกที่เขาเข้ามาและจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ ที่ผู้ประกอบการต้องทราบ เข้าใจว่าลูกค้าคือใคร ไอเดียที่จะนำไปใช้คืออะไร และออกไปทดลองว่าไอเดียนั้นใช้ได้หรือไม่ได้ อันนี้เป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่น้องๆ ได้ และเขาจะรู้เลยว่าการทำธุรกิจ ใช้แค่ “กึ๋น” อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความรู้ ที่สามารถพาเขาเดินไปอย่างไม่มีสะดุดระหว่างทางด้วย”

“ในส่วนแคมป์ที่ 2 “กล้าลุย” เมื่อพอจะรู้แล้วว่าไอเดียที่เขามีนั้นใช้ได้ หรือว่าใช้ไม่ได้ ก็ถึงเวลาออกไปทำจริง ในแคมป์กล้าลุยน้องๆ ออกไปขายของกันจริงๆ เอาความรู้ที่ได้ไปจากแคมป์ครั้งที่หนึ่งไปทดลองขาย และค่อยๆ นำผลลัพธ์ที่ได้มาเปลี่ยนแปลง จนมาถึงแคมป์ที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของเราคือ “กล้าก้าว” ที่เขาจะได้มาสะท้อนสิ่งที่เรียนรู้ ว่าองค์ความรู้ที่เอาไปใช้ นำออกไปขายจริงแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ขายได้ ขายไม่ได้”

ดร.อดิศวร์ ยังเล่าหนึ่งในเคสธุรกิจที่น่าสนใจให้เราฟัง ว่ามีกลุ่มหนึ่งที่ตั้งบริษัทขึ้นมาแล้ว มีไอเดียว่าอยากจะลงไปช่วยชุมชน สร้างโมเดลธุรกิจ “ท่องเที่ยวชุมชน” ขึ้นมา จากไอเดียที่เขาเห็นว่าในพื้นที่นี้ของจังหวัดน่าน มีความพิเศษคืออากาศที่นั่นจะเย็นสบายตลอดทั้งปี และน่าจะหยิบขึ้นมาเป็นจุดเด่นด้านการท่องเที่ยว บวกกับผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เชื่อว่าจะสร้างรายได้ให้กับชุมชนในทุกฤดูกาล แต่พอกำลังจะเริ่มธุรกิจ กลับเกิดไฟป่าขึ้น ทำให้ไอเดียธุรกิจที่มีต้องล้มพับไป แต่สิ่งที่น่าสนใจของน้องๆ กลุ่มนี้ คือกระบวนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้า

“ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้ เมื่อน้องๆ เจอปัญหาแล้ว แต่เขาไม่หยุด ไม่ยกเลิกความตั้งใจที่จะทำ เขาเปลี่ยนไอเดียเป็นธุรกิจใหม่ โดยนำผลิตภัณฑ์ที่มีในชุมชนนั่นแหละมาพัฒนา ดึงเอกลักษณ์ของชุมชนตัวเองขึ้นมา และคิดต่อว่าจะทำอย่างไร ให้เกิดเป็นธุรกิจที่ขายได้ด้วย

“เราคิดว่าสิ่งที่ทำนั้นมีความหมาย และไม่ได้หวังอะไรมาก หวังแค่ว่าเด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการ จะมีกระบวนการคิดใหม่ๆ ขึ้นมา ถ้าเขาสามารถคิดวิเคราะห์ได้ หาเหตุที่มาก่อนผล แก้ปัญหาที่เหตุ มากกว่าแก้ปัญหาที่ผล ถ้าสามารถทำแบบนี้ได้ เวลาที่เขาไปใช้ชีวิต ทำธุรกิจของเขาเองจริงๆ พยายามเป็นผู้ประกอบการเองจริงๆ ประสบการณ์ตรงนี้เขาจะสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง”

หน้าที่ของผู้ใหญ่

ในแคมป์ที่ 3 “กล้าก้าว” เราได้เห็นภาพน้องๆ ขึ้นมานำเสนอโมเดล ผลลัพธ์ และบทเรียนที่ได้จากการทำธุรกิจ และมีหลายๆ ไอเดียที่น่าสนใจ น้องๆ จากโรงเรียนปัว กับธุรกิจ “เนยถั่วมะมื่น แบรนด์มะมื่นบัตเตอร์” ที่นำเมล็ดมะมื่นของดีท้องถิ่น ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอัลมอนด์เมืองไทย มาแปรรูปเป็นเนยถั่ว และตีตลาดสู้กับเนยถั่วได้อย่างน่าสนใจ

หรืออีกกลุ่มจาก โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคารจังหวัดน่าน “สแน็คบ็อกซ์ แบรนด์ NALANA” ที่ใช้ไอเดียและความเข้าใจในธุรกิจ หยิบจับของฝากประจำถิ่นน่าน 6 แห่ง มาจัดรูปลักษณ์ใหม่เป็นสแน็คบ็อกซ์ที่มีลวดลายพิเศษ เพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ และสามารถทำกำไรได้จริงจากเงินทุนตั้งต้น รวมทั้งอีกหลากหลายไอเดียที่น่าสนใจ ที่แม้จะทำกำไรบ้างขาดทุนบ้าง แต่สำหรับทีมงานมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา กำไรที่มากที่สุดคือประสบการณ์ที่น้องๆ ได้สัมผัสด้วยตัวของตัวเองจริงๆ

“ผมคิดว่าทัศนคติในการสร้างความเปลี่ยนแปลง คือสิ่งที่น้องๆ ทำด้วยตัวน้องเอง คนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิฯ คุณครู โรงเรียน พ่อแม่ เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น เป็นแค่ปัจจัยที่ช่วยกระตุ้น ดึงจุดดี จุดเด่นของน้องๆ ออกมา หน้าที่ของผู้ใหญ่แบบเรามีแค่ “สนับสนุน” เรามักคิดไปว่าหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ดี คือต้องช่วยเหลือเด็ก แต่หน้าที่ที่แท้จริงคือสนับสนุนให้เด็กทำได้ด้วยตัวเอง

“แคมป์ของเราต้องบอกว่าเด็กร้องไห้แทบทุกครั้งที่มาเจอกัน เพราะว่าแคมป์นี้ไม่ใช่แคมป์สนุก แต่เข้มข้นและจริงจังมาก เวลาเจอเด็กร้องไห้ เราอยากเข้าไปโอ๋ แต่บางทีการเข้าไปโอ๋เขา เป็นการทำร้ายเด็กด้วยซ้ำไป เพราะเด็กจะไม่โต ถ้าทุกครั้งที่มีปัญหาและมีคนเข้าไปช่วย ครั้งหน้าเมื่อเจอปัญหา เขาก็จะนั่งอยู่เฉยๆ เพราะคิดว่าเดี๋ยวก็มีคนไปช่วย แคมป์ของเราอาจจะโหด แต่เป็นความโหดที่คิดว่าเหมาะสม เพื่อที่จะดึงให้เขารู้ว่าตัวเองมีของดี และเอาของดีของเขาไปแก้ปัญหาในชีวิต”

ท้ายที่สุดเมื่อถามว่า แล้วความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ของการจัดแคมป์ครั้งนี้คืออะไร ตัว ดร.อดิศวร์ ยิ้มพร้อมกล่าวปิดท้ายกับเราว่า

“เด็กๆ หลายคนเดินมาบอกกับเราว่า พอจบแคมป์พวกเขาต้องปิดบริษัทที่เปิดมา ด้วยเหตุผลของการเรียน แต่เขายังบอกอีกว่า เดี๋ยวพอพวกหนูจัดการเรื่องเรียนเสร็จ หนูจะกลับมาธุรกิจทำกันต่อ คำพูดนั้นทำให้เราเห็นเลยว่า สิ่งที่เราทำนั้นสำเร็จแล้ว พวกเขามีแรงบันดาลใจที่จะไปต่อยอดทำธุรกิจของตัวเอง

“เพราะพวกเรามีหน้าที่แค่พรวนดิน รดน้ำ ให้แสงอาทิตย์ เพื่อโอกาสให้เขาได้เติบโต วันนี้ต้นกล้าโตขึ้นมาอีกนิดแล้ว ที่เหลือคือว่าต้นกล้าเหล่านี้จะออกดอกออกผลเมื่อไหร่ เราหวังว่าอนาคตพวกเขาจะเติบโต และมีชีวิตที่ดี ดีถึงขนาดว่าวันหนึ่งเขาจะแข็งแรง และส่งต่อโอกาสแบบนี้ให้คนอื่นได้”