"กรมทะเลชายฝั่ง" สั่งตรวจสอบกรณีนักท่องเที่ยวยก "ปลาดาว" ขึ้นมาถ่ายภาพ ปีนเกาะปะการังบริเวณเกาะราชา จ.ภูเก็ต และกรณีสร้างรีสอร์ตหรูบนโขดหินเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี
จากกรณีโซเชียลวิจารณ์สนั่น หลังเพจอนุรักษ์ธรรมชาติแฉภาพ ไกด์เถื่อน จ.ภูเก็ต พานักท่องเที่ยวลงดำน้ำ ปีนป่ายปะการัง แถมยังหยิบปลาดาวขึ้นมาถ่ายรูป วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น (วิจารณ์สนั่น ไกด์เถื่อนภูเก็ต พาลูกทัวร์ดำน้ำ ปีนปะการัง-จับปลาดาวถ่ายรูป)
ต่อมา วันที่ 23 มิ.ย. 2566 นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) เผยว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ทางเพจเฟซบุ๊กขยะมรสุม เป็นคลิปนักท่องเที่ยวยกปลาดาวขึ้นมาถ่ายภาพ เกาะปีนป่ายปะการัง ในท้องที่เกาะราชา ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ตนจึงลงพื้นที่ติดตามเร่งรัด และตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบกับไกด์ท่องเที่ยว พบว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวในกรณีดังกล่าวเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน จึงได้ประสานไปยังกองกำกับการตำรวจท่องเที่ยวภูเก็ต และสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต เพื่อขอรายละเอียดเจ้าของเรือ และข้อมูลกลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มาตรา 22 ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดแนวเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประเภทหาด ปะการัง กัลปังหา หรือสิ่งที่มีชีวิตในแนวปะการังในพื้นที่เกาะราชาใหญ่ เกาะราชาน้อย ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต พ.ศ.2566 ข้อ 4 ภายในพื้นที่ตามข้อ 3 ห้ามกระทำการหรือประกอบกิจกรรมกีฬาทางน้ำหรือกิจกรรมท่องเที่ยวทางน้ำทุกชนิดที่มีหรืออาจมีผลกระทบกับบริเวณแนวปะการัง และการจับ เก็บ ขังล่อปลา หรือครอบครองสัตว์น้ำเพื่อให้นักท่องเที่ยวดู โดยมีบทลงโทษตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 กำหนดว่า ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่กำหนดตาม มาตรา 22 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในวันนี้ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ สทช.10 และ ศวอบ. รวบรวมข้อมูลเอกสารหลักฐานร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรฉลอง จังหวัดภูเก็ต เพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
...
ส่วนกรณีที่เพจเฟซบุ๊กชมรม STRONG ต้านทุจริต จังหวัดสุราษฎร์ธานี เผยแพร่ภาพรีสอร์ต Cape Shark Villas ในประเด็นการสร้างสิ่งปลูกสร้างอาคารและแนวเขตพื้นที่ของรีสอร์ตดังกล่าวถูกต้องหรือไม่นั้น ตนได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 โดยหัวหน้าหน่วยจัดการพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเกาะเต่า (สุราษฎร์ธานี) พร้อมด้วยส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง จ.สุราษฎร์ธานี เทศบาลตำบลเกาะเต่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว เบื้องต้นพบว่าบริษัท เคปชาร์ค พูล วิลล่า จำกัด เป็นผู้ครอบครองอาคารที่ตั้ง เลขที่ 21/9 หมู่ที่ 3 ต.เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่บนพื้นที่เกาะเต่า ซึ่งเป็นพื้นที่ดินของราชพัสดุ อยู่ในการกำกับดูแลของกรมธนารักษ์ โดยเจ้าของอาคารไม่ได้ขออนุญาตการก่อสร้างจากเทศบาลตำบลเกาะเต่า และพื้นที่ครอบครองยังไม่ได้ดำเนินการเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ เจ้าพนักงานจึงสั่งห้ามมิให้บุคคลใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคาร ตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย. 2566 เป็นต้นไป
ในส่วนของ กรม ทช. นั้นได้ประกาศให้พื้นที่เกาะเต่า มีเฉพาะพื้นที่เป็นทะเลและชายฝั่ง ตามคำสั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ 832/2565 เรื่อง การคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บริเวณพื้นที่เกาะเต่า เกาะพะงัน อำเภอเกาะพะงัน และเกาะสมุย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงวันที่ 31 พ.ค. 2565 ตามความในมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 โดยมีสาระสำคัญ คือ ห้ามทอดสมอเรือบริเวณแนวปะการัง ห้ามให้อาหารสัตว์น้ำ ห้ามเท ทิ้ง ระบายของเสีย น้ำเสีย ขยะ สิ่งปฏิกูล หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ห้ามบุคคลใดที่ใช้ครีมกันแดดซึ่งมีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อแนวปะการัง ซึ่งจากการตรวจสอบรีสอร์ตดังกล่าวเบื้องต้น ยังไม่พบว่าเข้าข่ายความผิดตามคำสั่งฯ ดังกล่าว ทั้งนี้ จะมีการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูล และร่วมประชุมหารืออีกครั้งเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปในวันที่ 26 มิ.ย. 2566
นอกจากนี้ รรท. อทช. กล่าวอีกว่า ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ กรม ทช. รวมถึงหน่วยงานในพื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างกระตุ้นเตือน สร้างความรู้ ความเข้าใจ และปลูกฝังจิตสำนึกรัก หวงแหนทรัพยากรทางทะเล และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด แต่ถ้าหากทุกคนไม่ช่วยกัน ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทยก็จะเสื่อมโทรมลงในที่สุด เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงเน้นย้ำฝากถึงนักท่องเที่ยว รวมถึงผู้ประกอบการกิจกรรมท่องเที่ยวทางน้ำให้ร่วมด้วยช่วยกันในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
อย่างไรก็ตาม วอนขอให้ประชาชนทำกิจกรรมท่องเที่ยวด้วยความรับผิดชอบ มีจิตสำนึกที่ดี "โปรดดูแต่ตา มืออย่าต้อง ไม่เอาอะไรกลับไปนอกจากภาพถ่ายแทนความทรงจำ" รวมถึงไม่ทิ้งขยะ ช่วยกันรักษาความสะอาด เพื่อระบบนิเวศใต้ท้องทะเลไทยจะคงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป ทั้งนี้ ขอขอบคุณประชาชนที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ช่วยกันดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในท้องถิ่น หากพบเจอเหตุการณ์ที่จะเป็นภัย หรือการทำลายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้รีบแจ้งเบาะแสมายังสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร 1362 เพื่อกรม ทช. จะได้ดำเนินการได้อย่างทันท่วงที.