ขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะพลาสติกขนาดเล็ก บางชนิดไม่ง่ายที่จะรีไซเคิล หรือกำจัดได้ยาก นักวิจัยพยายามหาวิธีแก้ปัญหาเรื่อยมา เช่น การใช้โพลิเมอร์ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ หรือไม่ก็ห้ามใช้พลาสติกไปเลย ทว่าโพลิเมอร์ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพก็มีตัวเลือกมากมาย แต่สิ่งที่ต้องคำนึงก็คือโพลิเมอร์ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพเหล่านี้ก็ไม่ได้มีลักษณะเฉพาะที่เหมือนกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจคุณสมบัติเฉพาะและข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับแต่ละประเภท

ล่าสุด มีงานวิจัยเผยแพร่ลงในวารสาร journal Polymers ว่ามีทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในไทยและมาเลเซียร่วมกันพัฒนาแผ่นพลาสติกชีวภาพชนิดพิเศษที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ โดยใช้วัสดุเหลือทิ้งคือแกนสับปะรด ซึ่งเป็นส่วนที่พบเอนไซม์ย่อยโปรตีนชนิดหนึ่งที่รู้จักกันในชื่อโบรมิเลน (bromelain) ส่วนกรรมวิธีการทำนั้น ทีมได้ใช้แป้งจากลำต้นสับปะรดเป็นส่วนผสมหลัก โดยเพิ่มกลีเซอรอลและแคลเซียมคาร์บอเนตเข้าไป เพื่อให้วัสดุขึ้นรูปทรงได้ง่ายและมีความแข็งแรง เมื่อปรับเปลี่ยนปริมาณของส่วนผสมเหล่านี้ ทีมพบว่าสามารถสร้างตัวอย่างที่มีความแข็งแกร่งและคุณสมบัติต่างกัน.

นอกจากนี้ วัสดุที่ได้มาสามารถกันน้ำได้และไม่อุ้มน้ำมากเท่ากับวัสดุอื่นๆที่คล้ายคลึงกัน เมื่อฝังวัสดุนี้ลงในดินมันก็สลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ทีมได้ทดสอบวัสดุโดยนำไปทำเป็นตัวหนีบถุงขนมปัง พบว่าปิดปากถุงได้ดี การวิจัยนี้ชี้ว่าการใช้สตาร์ช (starch) หรือสารประกอบคาร์โบ ไฮเดรตในต้นสับปะรด ถือเป็นทางเลือกที่ดีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แทนการใช้พลาสติกที่ทำจากปิโตรเลียมหรือวัสดุจากพืชอื่นๆ นี่จึงเป็นขั้นตอนสู่แนวทางที่ยั่งยืนมากขึ้นในการสร้างผลิตภัณฑ์พลาสติกขนาดเล็ก และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน.

...

(Credit : Polymers (2023). DOI: 10.3390/polym15102388)