หมดยุค ที่ว่า “ใส่ผ้าไทยแล้วเชย” ไปได้แล้ว

เพราะถึงวันนี้ ผ้าไทยกลายเป็นที่นิยมในการนำมาตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกาย ที่สามารถใช้สวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญยังเป็น 1 ใน 5 ของการผลักดันการส่งเสริมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5 F ในการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สาขาการออกแบบแฟชั่นไทย หรือ Fashion ให้เป็นสินค้าส่งออกให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก สามารถสร้างโอกาสจาก Soft Power ที่มีศักยภาพเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล

ตัวอย่างชัดๆ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล ศิลปินสมาชิกวงแบล็กพิ้งค์ สวมใส่ผ้าซิ่นคู่กับเสื้อสีขาวทรงไทยประยุกต์ เที่ยววัดใน จ.พระนครศรีอยุธยา และโพสต์ลงอินสตาแกรม ส่วนตัว หรือจากกระแสละครบุพเพสันนิวาส เมื่อหลายปีมาแล้ว สร้างปรากฏการณ์มหัศจรรย์ปลุกกระแสผ้าไทยจนดังระเบิด ยิ่งกว่านั้น คือมีการสืบค้นหาถิ่นกำเนิดผ้าไทย ตลอดจนมียอดสั่งซื้อผ้าในท้องถิ่นต่างๆเพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบันทั้งในส่วนภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมกันพัฒนาและยกระดับผ้าไทยในท้องถิ่นต่างๆ ให้เป็นที่รู้จักอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนส่งเสริมศักยภาพของชุมชนให้เผยแพร่ภูมิปัญญาผ้าไทยสู่สายตาของชาวไทยและนานาประเทศ

...

สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าของผ้าไทย โดยดำเนิน “โครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกาย ผ้าไทยร่วมสมัย” มาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน เพื่อสนองพระราชปณิธานของ สมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรม ราชชนนีพันปีหลวง รวมถึงสนับสนุนให้ดีไซเนอร์ไทยได้มีโอกาสแสดงศักยภาพในการออกแบบ โดยนำผ้าไทยมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงาน ตลอดจนช่วยผู้ประกอบการพัฒนาลวดลายผ้า สร้างมูลค่าเพิ่มของอัตลักษณ์ความเป็นไทย อีกทั้งให้เกิดการสร้างเครือข่ายด้านเครื่องแต่งกาย นำไปสู่การพัฒนาผลงานร่วมกันในอนาคต

“ในปี 2566 สศร.ร่วมมือ 4 ดีไซเนอร์ชั้นนำของประเทศ ได้แก่ นายธีระ ฉันทสวัสดิ์ น.ส.สิริอร เฑียรฆประสิทธิ์ นายเอก ทองประเสริฐ และ นายทรงวุฒิ ทองทั่ว ลงพื้นที่เป็นวิทยากรแนะนำเทคนิคการพัฒนาลวดลายผ้าให้แก่ผู้ประกอบการในชุมชน 4 ภูมิภาค นำไปสู่การส่งเสริมให้ชุมชนผู้ผลิตผ้าในท้องถิ่นปรับปรุงพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายให้มีความร่วมสมัย ทันสมัย จากนั้นจะนำลายผ้าที่ได้รับการพัฒนามาใช้ในการตัดเย็บเครื่องแต่งกาย ตามที่ดีไซเนอร์ออกแบบเป็นคอลเลกชัน เน้นให้สวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน มีการนำเสนอเป็นต้นแบบผ่านเวทีแฟชั่นโชว์ระดับชาติรวมถึงการจัดนิทรรศการให้ความรู้ อย่างไรก็ตาม ในปีนี้เราต้องการ ส่งเสริมผ้าทอและเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงาน และคนรุ่นใหม่ และขยายช่องทางการตลาด เพื่อให้สามารถก้าวไปสู่ตลาดโลกให้ได้” นายประสพ เรียงเงิน ผอ.สำนักงานศิลปวัฒน ธรรมร่วมสมัย เล่าถึงวัตถุประสงค์และการทำงานในโครงการฯ

ขณะที่มุมมองของดีไซเนอร์ ซึ่งร่วมพัฒนาผ้าไทยในแต่ละภูมิภาคกันบ้าง เริ่มจาก นายธีระ ฉันทสวัสดิ์ ซึ่งรับมอบหมายพัฒนาผ้าไทยร่วมสมัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่กลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย, จุฑาทิพ ไชยสุระ และ SKJ Design จ.ขอนแก่น กล่าวว่า แนวคิดของการสร้างสรรค์ผลงาน ออกแบบในปีนี้ ได้นำศิลปะในยุค Art Deco มาทำเป็นลายผ้าไหมแต้มหมี่ กับลายทอผ้าฝ้าย โดยใช้สีจากธรรมชาติ ซึ่งคาดหวังว่าจะได้เห็นงานทอผ้าไทยมีรูปแบบใหม่ๆ มีการทดลองเทคนิคการทอที่น่าสนใจและมีสีสันที่สวยงาม จากการเป็นโค้ชให้โครงการนี้มาหลายปีแล้ว รู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนต่อยอดภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ของชุมชนให้มีความร่วมสมัย ขายได้ ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบผ้าทอมือที่มีลวดลายและสีสันที่สวยงาม

...

นายเอก ทองประเสริฐ ซึ่งร่วมพัฒนาผ้าไทยร่วมสมัย ภาคเหนือ ที่กลุ่มผ้าทอ นายใจดี, ยาจกไฮโซ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าและโครเชต์บ้านห้วยทราย จ.เชียงใหม่ เล่าว่า นักออกแบบคือผู้ที่อ่านความเป็นไปของสังคมและโลก งานที่ตนออกแบบไว้มีการผสมเรื่องของ sustainable movement เข้าไป มีการผสมผสานทั้ง งานปัก งานตัดต่อ โครเชต์ ให้มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งนำมาประยุกต์เข้าด้วยกันจนเกิดผลงานที่เข้ากับยุคสมัย และน่าจะทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆกับผู้ผลิตผ้า และต่อยอดให้ผลงานพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ สามารถสร้างฐานลูกค้าวงการของผ้าและงานหัตถกรรมของไทยในกลุ่มที่กว้างขึ้น

น.ส.สิริอร เฑียรฆประสิทธิ์ ซึ่งร่วมพัฒนาในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่ศูนย์พัฒนาอาชีพชุมชนเขาดิน วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมสตรีรักษ์โลก จ.ชลบุรี และกลุ่มศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารเมล็ดพันธุ์ของแผ่นดินและการอาชีพ จ.ปราจีนบุรี บอกว่า ได้ออกแบบคอลเลกชัน ชื่อ Womanmade สื่อถึงงานคราฟต์ที่เกิดจากพลังของสตรี แรงบันดาลใจหลักมาจากความประทับใจในความเข้มแข็งของสตรีผู้นำชุมชน จากการทำงานในครั้งนี้ คาดหวังให้ชุมชนมีความรู้ ความเข้าใจมากขึ้นในการสร้างผลงานที่ตอบรับกับความ ต้องการของตลาด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเสื้อผ้าคอลเลกชันนี้จะสามารถจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆให้กับชุมชน เช่น ทอผ้าจากลายภาษา ไทยเป็นภาษาอังกฤษ การใช้ผ้าสีใหม่ๆ สร้างงานพิมพ์ใบไม้ การวางลวดลายใหม่ๆให้กับผ้าทอและผ้าย้อม รวมถึงการสร้างลายอัตลักษณ์ไทยให้กับงานถักโครเชต์

...

ปิดท้ายที่ นายทรงวุฒิ ทองทั่ว รับผิดชอบพัฒนาผ้าไทยพื้นที่ภาคใต้ ที่ ร้านศรียะลาบาติก จ.ยะลา และ กลุ่มบาติกบ้านบาโง และบาติก เดอ นารา จ.นราธิวาส กล่าวว่า แรงบันดาลใจในการออกแบบและพัฒนาลวด ลายผ้าบาติกครั้งนี้ มาจากปัญหาภาวะโลกร้อน จึงกำหนดงานออกแบบเป็นลายธารน้ำแข็งที่ละลายในมหาสมุทรแอนตาร์กติกา ลาวาจากภูเขาไฟ และไฟป่า จากการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการและกลุ่มชุมชน มีความท้าทาย นำไปสู่การทดลองและเกิดผลงานออกแบบแปลกใหม่ ดูสนุก มีพลัง ทันสมัย เชื่อว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าด้วยการผสมผสานความเป็นท้องถิ่น และเทคนิคงานฝีมือพิเศษด้วยช่างฝีมือ และเป็นผลงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมได้อย่างน่าสนใจ

ทีมข่าววัฒนธรรม มองว่า ความตั้งใจในการรวมพลังร่วมมือพัฒนาและยกระดับงานผ้าไทยจากช่างฝีมือไทยให้มีความร่วมสมัย ได้รับการยอมรับในวงกว้าง หากเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม จะสามารถกระจายรายได้คืนสู่ท้องถิ่น และโกยเงินจากลูกค้าต่างประเทศได้ไม่ยาก

และสำคัญที่สุด คือ ความภาคภูมิใจ ที่ได้สืบสานและต่อยอดมรดกภูมิปัญญาของแผ่นดิน.

...

ทีมข่าววัฒนธรรม