ระหว่างการโฆษณาชวนเชื่อกับความเป็นจริงบางครั้งมักจะสวนทางกันเสมอ สวยแต่รูปจูบไม่หอม ความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงระบบสาธารณสุขในประเทศไทย ยังมีให้เห็นชัดเจน ยกตัวอย่างอัตราการให้บริการทางการแพทย์ที่ องค์การอนามัยโลก กำหนดเป็นมาตรฐานไว้ที่ แพทย์ 1 คน ต่อประชากร 1,000 คน ปรากฏว่า ประเทศไทย แพทย์ 1 คนเฉลี่ยจะต้องรักษาคนไข้ถึง 1,800 คน
ด้วยความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของคนไทย บางจังหวัดในภาคอีสาน แพทย์ 1 คนจะต้องดูแลคนป่วยถึงกว่า 6,000 คน แต่ในบางจังหวัด เช่น กทม. แพทย์ 1 คนรักษาคนไข้ ประมาณ 600 คน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะภาครัฐ ในแต่ละวัน แพทย์ 1 คนจะต้องตรวจคนไข้จำนวนหลายร้อยคน กลายเป็นปัญหาการให้บริการที่ไม่ทั่วถึงตามมา คนในต่างจังหวัด ยิ่งห่างไกลความเจริญเท่าไหร่ ก็ยิ่งเข้าถึงระบบสาธารณสุขยากขึ้นเท่านั้น
แล้วแพทย์ปัจจุบันที่ทำงานในภาครัฐ ไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่เป็นพนักงานราชการชั่วคราว ต่ออายุสัญญาจ้างเป็นปี ซึ่งเป็นผลกระทบกับรายได้และสวัสดิการ แตกต่างจากภาคเอกชน ทำให้แพทย์หันไปทำงานกับโรงพยาบาลเอกชนหรือแพทย์ทางเลือกอื่นที่ได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่า
มีการนำเสนอข่าวของคุณหมอนักร้อง พญ.นภสร วีระยุทธวิไล หรือ ปุยเมฆ ที่ลาออกจากระบบเพราะงานในระบบหนักมาก อยู่เวรทั้งคืน เช้ามาราวน์ต่อ ชาร์ตกองตรงหน้าเกือบ 40 คนไข้ที่นอนล้นวอร์ด เสริมเตียงไปถึงหน้าลิฟต์ ภาพเหล่านี้คงไม่ต้องอธิบายมากเพราะเกิดเป็นคนไทยจะเห็นภาพพวกนี้จนชินตาตั้งแต่เล็กจนโต
ในที่สุด พญ.นภสรตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากราชการการเป็นลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งเป็นแค่กรณีตัวอย่าง เพราะมีแพทย์อีกมากมายที่ยอมควักเงินส่วนตัวเพื่อใช้ทุนให้หมด หันไปทำงานกับภาคเอกชนมีอนาคตกว่าเยอะ
...
อีกกรณี นพ.อิราวัต อารีกิจ หรือ หมออั้ม อดีตศิลปินชื่อดัง โพสต์ข้อความว่าด้วยเรื่อง ปัญหาการขาดแคลนแพทย์และการลาออกของบุคลากรทางการแพทย์ เริ่มจากต้องย้ายจากโรงพยาบาลศูนย์ชุมชนหนึ่งไปอีกชุมชนหนึ่งได้รับการเสนอชื่อเป็น ผอ.โรงพยาบาล มีงานอื่นเข้ามา คิดหนักว่าจะเลือกอะไรดี ช่วงนั้นขึ้นเวรหนักมากไม่ได้พักผ่อน แล้วฟางเส้นสุดท้ายก็มาถึง เช้าวันหนึ่งขับรถจากห้องอัดเสียงมาถึงวอร์ดคนไข้ 08.50 น. ราวน์ คนไข้ทีละเตียง (40 เตียง+) 10 โมงเจอหมอรุ่นพี่ นี่จะ 10 โมงทำไมเพิ่งราวน์ได้ครึ่งเดียว พี่ไปทำคลินิก มีเคสใน ICU ตามพี่ไม่ได้ ก็ต้องไป CPR ให้ 21.30 น. พี่เลิกคลินิกบอกคนไข้ว่าไม่ไหวแล้วนะ ปล่อยเขาไปเถอะ พี่เดินมาแบบไม่เห็นค่าชีวิตคนเลย
ตอนท้ายของโพสต์จบที่ผมจะกลับเข้าไปเช็กระบบนี้แน่นอน
มีคนไข้ที่นอนรอระบบการส่งตัวเพื่อไปรักษาโรคร้ายแรง เช่นโรคมะเร็ง จนตายคาเตียงก็เยอะ เพราะระบบสาธารณสุขที่คุยว่าดีที่สุดในโลก มีคนต่างจังหวัดที่ต้องเดินทางมาเป็น 100 กิโล ตั้งแต่ตี 2 ตี 3 เพื่อมาเข้าคิวรับบัตรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐทั้งวัน ระบบสาธารณสุขไทยดีที่สุดสำหรับคนที่มีเงินเท่านั้น.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th