การทุจริตคอร์รัปชัน “ในประเทศไทย” ที่หลบซ่อนอยู่ในแวดวงราชการเป็นปัญหาสำคัญส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตประชาชนโดยตรงมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ความโปร่งใส (CPI) ใน 2565 มีคะแนน 36 คะแนนจาก 100 คะแนน ถูกจัดอันดับอยู่ที่ 101 จาก 180 ประเทศทั่วโลก “อันเป็นระดับ CPI ตกต่ำมาตลอด 10 ปีมานี้” แล้วเรื่องนี้กำลังจะกลายเป็นโจทย์ใหญ่สำคัญต่อ “รัฐบาลชุดใหม่” ที่ต้องเข้ามาแก้ไขเพื่อนำพาประเทศก้าวผ่านการคอร์รัปชันครั้งนี้

ทำให้มีการผนึกกำลังจาก “ภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และประชาชน” สะท้อนปัญหานำเสนอแนะข้อมูลผ่านเวทีเสวนา “ลงทุนไทยไร้สินบน : ปลดล็อกข้อมูลรัฐ จุดเปลี่ยนปราบโกง” จัดโดยกองทุน ป.ป.ช.เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมนี้ กิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บอกว่า

การคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่ “สังคมตระหนักให้ความสำคัญ” แต่ว่าช่วง 5-6 ปีมานี้กลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หนำซ้ำ “การคอร์รัปชันเล็กๆไม่...ใหญ่ๆทำ” กล่าวคือรูปแบบการทุจริตระดับเล็กๆน้อยๆลดลงเพราะ“สื่อโซเชียลฯ” เข้ามามีบทบาทช่วยให้ทุกคนเป็นนักสืบหรือเป็นผู้สื่อข่าวออนไลน์มากขึ้น

...

นั่นก็ทำให้การเรียกเก็บตามถนนหรือสอดแบงก์ติดมือระหว่างการติดต่อหน่วยงานราชการค่อนข้างหายไปเยอะ “แต่การคอร์รัปชันขนาดใหญ่เชิงนโยบายกลับสูงมากขึ้น” แถมยังซับซ้อนป้องกันได้ยากมากกว่าเดิม

เรื่องนี้มีผลให้ “ค่า CPI ปี 2565 อยู่ที่ 36 คะแนนดีขึ้นกว่าปี 2564ได้ 35 คะแนน” แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อนที่เคยมีคะแนนสูงสุด 38 คะแนน แล้วถ้าเทียบกับ “เวียดนาม” ที่มักถูกกล่าวอ้างว่ามีการคอร์รัปชันสูง แต่ว่าในช่วง 10 ปีมานี้กลับมีคะแนนขึ้นมา 11 คะแนน ส่วนอินโดนีเซีย 8คะแนน

ขณะที่ “ประเทศไทย CPI คงที่จนน่าเป็นห่วง” กลายเป็นผลลบต่อ “เศรษฐกิจ และสังคม” ประชาชนถูกละเมิดลิดรอนสิทธิเสรีภาพหลายด้าน “การพัฒนาประเทศ” ก็มีต้นทุนสูงกระบวนการล่าช้าไม่อาจแข่งขันกับต่างประเทศได้ ทั้งในแง่ภาคเอกชน และภาครัฐ จนสุดท้ายประเทศหนีไม่พ้นติดกับดักความยากจนเช่นเดิม

สาเหตุจาก “การคอร์รัปชัน” ทั้งที่จริงเงินจำนวนนี้ควรนำไปพัฒนาประเทศกลับถูกผลาญทิ้ง ฉะนั้นภาครัฐควรต้องทำคู่มือประชาชนเกี่ยวกับขั้นตอนติดต่อหน่วยงานราชการแล้ว “เปิดเผยทุกขั้นตอนดำเนินงานให้ตรวจสอบได้” เพราะที่ผ่านมาประชาชนมักถูกกล่าวอ้างเอกสารไม่ครบ และถูกเรียกเอกสารเพิ่มอยู่เรื่อยๆ

ทั้งที่ควรตรวจตั้งแต่ “รับเอกสาร” หากไม่ครบสามารถเรียกเพิ่มได้ 1 ครั้ง “เพื่อช่วยลดโอกาสการคอร์รัปชัน” อย่างไรก็ดีสิ่งนี้เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างเท่านั้นเพราะการปราบคนโกงต้องใช้เครื่องมือกลไกหลายวิธีร่วมกัน เพราะปัจจุบันการคอร์รัปชันมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะการทุจริตเชิงนโยบายปราบปรามจับกุมได้ยากมาก

ดังนั้นแล้ว “จำเป็นต้องอาศัยพลังของประชาชน” ในการช่วยกันสอดส่องเปิดเผยข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชันผ่าน “สังคมออนไลน์” เพื่อเป็นการกดดันลำพังอาศัยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวคงแก้ไขไม่ได้แน่นอน

ตอกย้ำต่อว่า “ถ้าจะบังคับใช้กฎหมายปราบการคอร์รัปชันต้องมีประสิทธิภาพความชัดเจน” มิเช่นนั้นจะกลายเป็นส่งเสริมให้ “สถานการณ์เลวร้ายสาหัสมากกว่าเดิม” เพราะอาจถูกใช้เป็นข้ออ้างในช่วงการปราบปรามหนักนี้ “เรียกรับผลประโยชน์เพิ่มสูงเท่าตัว” กลายเป็นลักษณะการเตะหมูเข้าปากสุนัขแทนก็ได้

เช่นนี้ทำให้ “หลายครั้งมีการปรับบทลงโทษหนัก” ส่วนตัวมักคัดค้านเสมอ เพราะเกรงส่งผลกระทบความเดือดร้อนต่อประชาชน “ถูกเรียกเก็บแพงขึ้น” ฉะนั้นเมื่อไม่อาจปราบโกงได้ก็ต้องทำให้คนโกงนำเงินไปใช้ไม่ได้

...

ด้วยวีธีการให้ “ประชาชนสอดส่องข้าราชการที่มีฐานะร่ำรวยผิดปกติ” แล้วตั้งคำถามการได้มาของทรัพย์สินนั้น เช่น บ้านหลังใหญ่ รถยนต์หรู ผ่านบนโลกออนไลน์เพื่อให้หน่วยงานรัฐตรวจสอบดำเนินการเก็บภาษี

ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.บอกว่า ปัจจุบันปัญหาคอร์รัปชันในไทยค่อนข้างรุนแรงจนคะแนน CPI ขึ้นลงอยู่ที่ 35 คะแนน หรือ 36 คะแนน แต่ว่าคนรุ่นใหม่ก็เริ่มเข้มแข็งกระตือรือร้นจนทำให้มีแนวโน้มดีขึ้น

จริงๆแล้ว “การคอร์รัปชันเป็นเหมือนช้างอยู่ในห้อง” ที่หลายครั้งเรามักทำเป็นมองไม่เห็น “ปล่อยไว้จนช้างกลับมาทับตัวเองตาย” ดังนั้น กทม.ค่อนข้างให้ความสำคัญในการตรวจสอบจับกุมการทุจริตคอร์รัปชันอย่างต่อเนื่องมาตลอด “มักมีจุดปัญหาเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ” เช่น กรณีการทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง

หนำซ้ำยังมี “การใช้ทรัพย์สินทางราชการไปใช้นอกงาน” อีกทั้งมีการทุจริตเวลาราชการในการใช้เวลางานนั้นออกไปรับงานอย่างอื่น รวมถึงมีการจ่ายเงินใต้โต๊ะเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตต่างๆ “ฉะนั้นหัวใจการแก้ปัญหาคอร์รัปชันต้องสามารถวัดผลได้” เพื่อให้เห็นปัญหานำไปสู่การตอบสนองการปรับปรุงให้ตรงจุดนั้น

...

เน้น “Open data” ในการเปิดเผยข้อมูลอันเปรียบเสมือน “ไฟฉาย” ทำให้ประชาชนสามารถเห็นช้างที่อยู่ในมุมมืดด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเก็บสำรวจตรวจสอบแล้ว “เปิดเผยข้อมูล” อันจะทำให้สามารถมีแนวร่วมพลังมหาชนมหาศาลเข้ามาช่วยวิเคราะห์หาความผิดสังเกต “ฝ่ายบริหาร” ที่มักเป็นตัวแปรซ่อนอยู่ในเชิงนโยบายนั้น

ถ้าสามารถสร้างความไว้วางใจกับ “ประชาชน” สุดท้ายจะได้แนวร่วมมหาศาลจาก Open data ที่สร้างความเชื่อใจ สร้างศรัทธา ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าทำให้ภาครัฐเกิดความโปร่งใส และประชาชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐนั้น

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดีพนมยงค์ บอกว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชันต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่าย “ป.ป.ช.ฝ่ายเดียวทำไม่ได้” ฉะนั้นอันดับแรกต้องได้ “ผู้นำทางการเมืองมีเจตจำนงชัดเจน” ทั้งมีองคาพยพของกลุ่มผู้นำทางการเมืองแล้ว ป.ป.ช. เป็นตัวขับเคลื่อนร่วมกับสื่อและประชาชน

ด้วยยุคนี้ “เทคโนโลยีมีบทบาทมาช่วยปราบโกงได้มากขึ้น” เพราะ Open Government (รัฐบาลเปิดเผย) “เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองที่ดี” แล้วเทคโนโลยีวันนี้ก็ทำให้เกิด Radical Transparency หรือความโปร่งใสที่เกิดการถอนรากถอนโคนอันมี “ประชาชน และสื่อมวลชน” สามารถตรวจสอบภาครัฐได้ตลอดเวลา

...

ประเด็นนี้เป็นผลให้หน่วยงานรัฐต้องทำงานให้โปร่งใสมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่ายังไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบ “เพราะมองว่าระบอบอำนาจนิยมไม่เคยโปร่งใส” แล้วก็โชคดีตอนนี้ประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนผ่านสู่ “ระบอบประชาธิปไตย” อันเป็นพื้นฐานของการมีส่วนร่วมทำให้เริ่มเห็นแสงสว่างการปราบโกงมากขึ้น

ทว่าด้วย “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้น” ส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับคะแนนเสียงโหวตเข้ามาแก้ปัญหาความโปร่งใส หรือทำงานที่ดีขึ้นเสมือนเป็นการแบกความหวังของประชาชนไว้ “ยกเว้นกรณีเข้ามาบริหารประเทศด้วยวิธีอื่นพิเศษ” มักจะไม่ค่อยสนใจกับคะแนนเสียงต่อความคาดหวังของประชาชนนั้น

เมื่อเทียบกับ “เกาหลีใต้” มีการคอร์รัปชันค่อนข้างมากตั้งแต่อดีตจนถึงวันนี้ “แต่ว่าผู้นำที่ทุจริตหลายคนมักถูกลงโทษจนคนคิดจะโกงเกิดกลัว” แล้วการลงโทษอย่างเดียวก็ไม่อาจเพียงพอต้องมีระบบจูงใจอื่นมาประกอบอย่าง “สิงคโปร์” จ่ายเงินค่าตอบแทนสวัสดิการให้ราชการอย่างเหมาะสมจนการคอร์รัปชันลดลงชัดเจน

อีกประการคือ “การกระจายอำนาจ” แต่หน่วยงานราชการมักไม่ต้องการเพราะต้องสูญเสียอำนาจผลประโยชน์แล้วยิ่งกุญแจสำคัญคือ “ต้องมีผู้นำตัวอย่างเข้ามาสร้างชาติ” อันเป็นลักษณะหัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก สังเกตจากกระทรวงใด “มีข่าวทุจริตน้อย” เพราะรัฐมนตรี หรือปลัดกระทรวงมักเป็นแบบอย่างที่ดีจนลูกน้องไม่กล้าทำ

อย่างเช่น “กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงการคลังบางกรม” แล้วข้าราชการแต่ละคนก็เงินเดือนค่อนข้างน้อยแต่ทำงานหนักมาก “คนดีแบบนี้เราก็ต้องให้กำลังใจ” แต่ในทางกลับกันบางหน่วยงานเพียงแค่ “พรีเซนต์งาน” ก็สัมผัสถึงกลิ่นอายการคอร์รัปชันอันจำเป็นต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดด้วย

สุดท้ายนี้ขอย้ำว่า “คนไทย” มีหน้าที่สำคัญคือ “ไม่สนับสนุนการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ” แต่เราควรต้องหันมาจับมือร่วมกัน “ขับเคลื่อนปราบคนทุจริต” เพื่อนำพาสังคมไทยปลอดโกง...