ในอดีต จ.นนทบุรี เป็นแหล่งขายทุเรียนที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ด้วยทุเรียนนนท์มีเนื้อละเอียดนุ่ม เนื้อหนา รสชาติดี และความหลากหลายของสายพันธุ์ อันได้มาจากดินในแถบนนทบุรี เป็นดินเหนียวที่มีธาตุอาหารของพืชอย่างบริบูรณ์ ต่างจากดินแถบอื่นๆ ที่มีการปลูกทุเรียน จึงทำให้ทุเรียนนนท์มีราคาสูง และเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ปัจจุบันกำลังเกิดปัญหาหลายเรื่อง โดยเฉพาะน้ำเค็มและการขยายตัวของชุมชน จนกลายเป็นเมืองล้อมสวน

“เดิมพื้นที่ตรงนี้ปลูกทุเรียนกันมาตั้งแต่รุ่นยายร่วม 100 ปี ต่อมาได้รับมรดกที่ดินผืนนี้ คุณแม่กำชับให้รักษาไว้ พยายามสืบทอดการปลูกต่อเรื่อยมา กระทั่งปี 2561 ต้นทุเรียนเริ่มโทรมจากสภาพแวดล้อม และสภาพอากาศเปลี่ยนไป น้ำที่ใช้รดทุเรียนเค็มขึ้น ขณะที่การขยายตัวของชุมชนเมืองมีน้ำเสียซึมผ่านใต้ดิน ทำให้ต้นทุเรียนทยอยทรุดโทรมลง ปี 2565 ทีมนักวิจัยจึงเข้ามาให้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม จนทุเรียนเริ่มกลับมาให้ผลผลิตดีอีกครั้ง”

ศิวนาถ เพ็ชรสุวรรณ แห่งสวนอลิษา เล่าถึงการฟื้นฟูทุเรียนนนท์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)...ผลจากการที่น้ำมีความเข้มสูงมาก 560-800 ppt ทำให้ทุเรียนส่วนใหญ่ใบไหม้ เมื่อแตกยอดใหม่มาใบเล็กและร่วงหล่นไป ส่วนการขยายตัวของชุมชนเมืองทำให้น้ำเสียใต้ดินมากขึ้น ทำให้ต้นทรุดโทรมอย่างเห็นได้ชัด เนื้อทุเรียนไม่อร่อยเหมือนเมื่อก่อนเมื่อได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามโครงการพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ Smart farmer (กรณีศึกษาการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเพื่อการส่งออก) ภายใต้กรอบการวิจัยหลักการเพิ่มผลผลิตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี

...

ด้วยการใช้นวัตกรรมการผลิตทุเรียนคุณภาพสูงจากการวิจัยและพัฒนาการชักนำรากลอย (Reborn Root Ecosystem: RRE) เป็นนวัตกรรมที่สร้างระบบนิเวศให้มีฮิวมัสและสารคีเลต เพื่อให้รากฝอย (fineroot) หาน้ำและแร่ธาตุร่วมกับระบบจุลินทรีย์ในดินอย่างสมดุล และนวัตกรรมการให้น้ำแบบที่ราบลุ่มให้น้ำตามการปิดเปิดปากใบของทุเรียน และสภาพน้ำขึ้นน้ำลง เพื่อชักนำให้ทุเรียนสร้างกลิ่นหอมและรสชาติดี

“นวัตกรรมนี้เป็นการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมกับรากทุเรียนและสิ่งแวดล้อม โดยการปล่อยให้รากลอยจากพื้นไม่เกิน 30 ซม. ให้รัศมีรากลอยไม่เกินทรงพุ่ม เอาไม้ไผ่รองพยุงรากให้อากาศผ่าน แล้วนำใบไม้ เศษวัสดุธรรมชาติมาปิดทับอีกที ห้ามรบกวนบริเวณโคนต้นเด็ดขาด เพราะจะกระทบต่อรากได้ ที่สำคัญรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ ราดจุลินทรีย์ และโรยปุ๋ยอาทิตย์ละ 2 ช้อนโต๊ะ/ต้น สลับกับธาตุอาหารรอง 1 ช้อนโต๊ะ/ต้น เมื่อรากดีหากินได้ดี โรคแมลงก็ไม่ค่อยลง ทำให้ทุเรียนออกดอกติดผล และให้ผลผลิตมีคุณภาพที่ดีมาก และยังสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนทุกแปลงใน จ.นนทบุรี อีกด้วย”

ปัจจุบันสวนอลิษาได้รวมตัวกับสวนทุเรียนในพื้นที่และต่างพื้นที่ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ จนเกิดการรวมกลุ่มกันในนาม วิถีทุเรียนอร่อย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ สนใจติดต่อได้ที่ 08-1802-3434.

...

กรวัฒน์ วีนิล