"กรมการแพทย์" เผยเตียงรักษาผู้ป่วย "โควิด-19" มีเพียงพอ แม้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น พร้อมแนะนำประชาชนควรไปรับวัคซีนป้องกันโควิดที่โรงพยาบาลได้ทุกแห่ง เพื่อช่วยลดความรุนแรงเมื่อติดเชื้อ

วันที่ 27 พ.ค. 2566 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า ปัจจุบันพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงเปิดเทอม และเริ่มมีฝนตก ทำให้เกิดการระบาดได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือการเล็กน้อย โดยจะรักษาตัวอยู่ที่บ้าน มีส่วนหนึ่งที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลที่คลินิกทางเดินหายใจ ARI ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น หลายโรงพยาบาลได้ปรับโดยขยายระยะเวลาบริการเป็นนอกเวลาด้วย รวมถึงคัดกรองผู้ป่วยโควิดที่ห้องฉุกเฉิน โดยมีการแยกโรคเพื่อความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดความคับคั่ง และจัดการให้รับยาแบบผู้ป่วยนอกโดยใช้ Telemedicine ไม่ต้องมาตรวจที่โรงพยาบาล  

ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยในที่นอนมีเพิ่มขึ้น แต่ถ้าคิดเป็นจำนวนเปรียบเทียบก็ยังน้อยกว่าเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งโรงพยาบาลส่วนใหญ่สามารถบริหารจัดการได้ กรณีที่มีข่าวว่าผู้ป่วยในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเต็ม เนื่องจากโรงพยาบาลบางแห่งจะมีเตียงผู้ป่วยโควิดอยู่จำกัดและได้มีการปรับเตียงไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ แล้ว

จากการตรวจสอบสถานการณ์จริงกับโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ในกรุงเทพฯ ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลเลิดสิน, โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี, สถาบันโรคทรวงอก พบว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยมานอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น แต่โรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการเตียงได้ดี โดยเดิมเคยมีศักยภาพเตียงจำนวนมาก ซึ่งได้ปรับไปดูแลผู้ป่วยหนักโรคอื่นแล้ว ให้กลับมารับผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ 

ขณะที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่นอนอยู่ในโรงพยาบาลเป็นสาเหตุจากมีโรคร่วม และจัดอัตรากำลังพยาบาลตามจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นและพร้อมที่จะขยายเตียงได้เพิ่มขึ้นอีกทั้ง ICU และเตียงผู้ป่วยหนักระดับอื่น จึงไม่มีข้อกังวลที่น่าเป็นห่วง

...

ทั้งนี้ ขอแนะนำว่าประชาชนที่ได้รับวัคซีนไม่ครบหรือไม่ได้รับเข้มกระตุ้นมานานกว่า 3 เดือน ควรไปรับวัคซีนโควิด-19 ที่โรงพยาบาลได้ทุกแห่งเพื่อช่วยลดความรุนแรงเมื่อติดเชื้อได้อย่างดี โดยเราจะเห็นว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามากกว่า 90% เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้ไม่ครบทั้งนั้น

สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนเตียงทั้งหมดในประเทศ พบว่าขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลสะสม 2,527 ราย อัตราครองเตียงร้อยละ 22.41 แบ่งเป็น กลุ่มไม่มีอาการ 240 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.7 กลุ่มอาการน้อย 687 ราย คิดเป็นร้อยละ 27.8 กลุ่มอาการปานกลาง 1,146 ราย คิดเป็นร้อยละ 46.30 กลุ่มอาการหนัก 402 ราย คิดเป็นร้อยละ 16.2 และกลุ่มที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ 278 ราย คิดเป็นร้อยละ 11.2 

ดังนั้น กรมการแพทย์ขอเน้นย้ำว่า โรงพยาบาลส่วนใหญ่ยังคงมีเตียงรับผู้ป่วยโควิด-19 รวมทั้ง ยาและเวชภัณฑ์เพียงพอ อีกทั้งยังสามารถเปิดให้บริการผู้ป่วยโรคอื่นๆ ได้ตามปกติ โดยทุกหน่วยงานในสังกัดของกรมการแพทย์และเครือข่ายมีการบริหารเตียงรองรับผู้ป่วยหนักร่วมกันได้ถ้าจำเป็นต้องส่งรักษาต่อ 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น ถ้าหากมีอาการแต่ตรวจ ATK ไม่พบ อาจสงสัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ก็ได้ แม้ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ แต่ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงก็ทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้น ถ้ามีอาการไม่มาก ก็สามารถใช้การรักษาตามอาการได้ ไม่ต้องไป รพ. แต่ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น สูงอายุ มีโรคประจำตัว เป็นผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อน ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย หากเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงควรได้รับการวินิจฉัย.