อาชญากรรมออนไลน์ ที่เกิดขึ้นสร้างความเดือดร้อนแก่พี่น้องคนไทย สถิติแจ้งความร้องทุกข์ผ่าน “ระบบออนไลน์” ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. ถึงปัจจุบันกว่า 200,000 คดี มูลค่าความเสียหายมากกว่า 30,000 ล้านบาท

เป็นสิ่งที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ร่วมวางแผนด้วยตัวเองมาโดยตลอด มอบ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. และ ผอ.ศปอส.ตร. และ พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. เป็นมือทำงานที่คอยขับเคลื่อนนโยบายด้านการปราบปรามและแจ้งเตือนคนไทยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อถูกหลอก

สาเหตุทำให้คดีไม่ลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากประชาชนยังไม่รู้ทันกลโกงของมิจฉาชีพที่เปลี่ยนแปลงโดยตลอด ผบ.ตร.พยายามสร้างการรับรู้ วิธีการป้องกัน เสมือนหนึ่งฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยีให้ประชาชน หรือ “วัคซีนไซเบอร์” หากประชาชนมีความรู้เท่าทัน เชื่อว่าจะสามารถป้องกันตนเองได้

ผบ.ตร.แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันภัยอาชญากรรม มี พล.ต.อ.สมพงษ์ เป็นประธาน เชิญภาคเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกภาคส่วน ทั้งจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์ สื่อสารมวลชนทุกแขนง ผู้บริหารบริษัทเอกชน ผู้เชี่ยวชาญด้าน Cyber Security และบริษัทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น PTT CP ไปรษณีย์ไทย และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เข้าร่วม

...

พล.ต.ต.ฐายุฏฐ์ จันทร์ถาวร รอง ผบช.สอท. หัวหน้าคณะผลิตสื่อ พล.ต.ต.ปรัชญา ประสานสุข รอง ผบช.ภ.2 เป็นหัวหน้าคณะฝึกอบรม พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รอง ผบช.สพฐ. เป็นหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ ผลิตสื่อให้ความรู้ทางออนไลน์และผลิตครูไซเบอร์ ทั้ง ครู ก (ตำรวจ) 116 คน และ ครู ข (ตำรวจร่วมกับประชาชน) 8,132 คน ออกไปเผยแพร่ให้ความรู้กับพี่น้องประชาชนคนไทยในสถานศึกษาและชุมชน

จัดทำหลักสูตรลงนาม MOU ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กลุ่มบริษัทซีพี ส่งจดหมายแจ้งกลโกงต่างๆไปยังประชาชนผ่านไปรษณีย์ไทย ติดป้ายในห้องน้ำ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. แถลงข่าวกลโกงต่างๆทุกสัปดาห์เพื่อแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน ผลิตสื่อให้ตำรวจนำไปรณรงค์ จัดแคมเปญรณรงค์เพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชน ให้ความรู้ประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงชุมชน ประชาชนทุกพื้นที่ให้มากที่สุด

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ผลักดันกฎหมาย พ.ร.ก.ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ออกมาเพื่อให้ตำรวจทำงานง่ายขึ้น ปราบปรามบัญชีม้า ซิมม้า อายัดบัญชีโดยทันทีของธนาคาร ทำให้ประชาชนเมื่อถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงินจากบัญชีโทรศัพท์เข้าสายด่วนของธนาคารเพื่อให้ธนาคารระงับธุรกรรมไว้ชั่วคราว

นำข้อมูลเข้าสู่ระบบให้ธนาคารอื่นและผู้ประกอบธุรกิจผู้รับโอนทุกทอดทราบและระงับการทำธุรกรรมไว้ทันที ให้ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อมีคำสั่งเป็นหนังสือให้ระงับการทำธุรกรรมภายใน 7 วัน นับแต่วันที่มีการแจ้งความร้องทุกข์

ผบ.ตร.เดินสายเข้าร่วมบรรยายให้ความรู้ตำรวจทั่วประเทศ และส่ง พล.ต.อ.สมพงษ์ พร้อมคณะทำงาน ออกให้ความรู้ประชาชนทุกสายอาชีพ เพื่อร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ ปิดโอกาสตกเป็นเหยื่อถูกหลอก

ความมุ่งมั่นของ ผบ.ตร.เข้ามาแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ ทั้งมิติด้านการปราบปราม ด้านการป้องกันและการผลักดันกฎหมายออกมาทำให้ปัจจุบันสถิติ “คดีออนไลน์” ลดลงจากเดิมเฉลี่ยรับแจ้งวันละ 790 เรื่อง ลดเหลือรับแจ้งวันละ 673 เรื่องต่อวัน สามารถอายัดบัญชีได้ทันทีจากเดิม 87 ล้านบาท เป็น 92 ล้านบาท

แม้ว่ากฎหมายออกมาไม่กี่เดือน ผบ.ตร.ปรับแผนการปฏิบัติให้ตำรวจทุกพื้นที่ใช้ “วัคซีนไซเบอร์” มาเสริมความรู้ให้กับพี่น้องคนไทย ปิดช่องโอกาสตกเป็นเหยื่อถูกหลอกลวง ถือว่าตำรวจมาถูกทาง

พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. กล่าวว่า “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่เปิดหรือยอมให้คนอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรหรือ e–wallet เป็น “บัญชีม้า” ให้รีบนำบัตรประชาชนไปปิดบัญชีกับธนาคารโดยเร็ว เนื่องจากเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ประชาชนที่ทราบว่าถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงินจากบัญชีให้โทรศัพท์สายด่วนของธนาคารเพื่อให้ธนาคารระงับธุรกรรมไว้ชั่วคราวภายใน 72 ชั่วโมงตามที่ทางสมาคมธนาคารไทยแจ้งให้ทราบ มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อสอบสวนปากคำโดยด่วน พนักงานสอบสวนแจ้งให้ธนาคารระงับธุรกรรมต่อไป ฝากประชาชนติดตามรูปแบบ “คดีออนไลน์” ได้ที่เฟซบุ๊กเตือนภัยออนไลน์ หากเป็นผู้เสียหายในคดีออนไลน์แจ้งความร้องทุกข์คดีออนไลน์ได้ทุกท้องที่ หรือผ่านระบบออนไลน์ที่ thaipoliceon line.com ก่อนไปพบพนักงานสอบสวน หรือแจ้งปัญหาข้อขัดข้องได้ที่สายด่วน 1441 หรือ 08– 1866–3000”

...

 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ย้ำว่า “ปัจจุบันสถิติคดีออนไลน์หลังจากที่ตำรวจและหน่วยงานเกี่ยวข้องทำงานอย่างหนักสถิติจำนวนคดีที่เกิดขึ้นเริ่มลดลงต่อเนื่อง คดีที่มีการแจ้งความมากที่สุดยังคงเป็นการหลอกซื้อขายสินค้าหรือบริการ อันดับ 2 เป็นคดีหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน อันดับ 3 เป็นการหลอกให้กู้เงิน ส่วนคดีที่มีมูลค่าความเสียหายสูงที่สุด อันดับ 1 คดีหลอกให้ลงทุน อันดับ 2 หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน และอันดับ 3 คดีข่มขู่ทางโทรศัพท์หรือคอลเซ็นเตอร์”

หลัง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.ทำให้มีความสะดวกแจ้งความที่ใดก็ได้และมีระบบประสานธนาคารอายัดบัญชีคนร้ายได้มากขึ้น

การให้ความรู้กับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด “โครงการไซเบอร์วัคซีน” ตามนโยบาย ผบ.ตร. ผลิตสื่อให้ความรู้ทางออนไลน์ และผลิตครูไซเบอร์ออกไปเผยแพร่ให้ความรู้กับประชาชนในสถานศึกษาและชุมชนต่างๆ แม้กลุ่มแก๊งอาชญากรรมออนไลน์พยายามเปลี่ยนแปลงรูปแบบการกระทำผิด พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ร่วมกับ พล.ต.อ.รอย และ พล.ต.อ.สมพงษ์ ปรับแผนแก้ปัญหาทั้งปราบปราม ป้องกัน การสร้างวัคซีนไซเบอร์ให้ประชาชน

...

ผลักดันกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนที่ถูกหลอกและมูลค่าความเสียหายลดน้อยลง

เป็นอีกผลงานจับต้องได้ของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.

ทีมข่าวอาชญากรรม