นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า พม.โดยกรมพัฒนาสังคมสวัสดิการ (พส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดทำโครงการแจงนับคนไร้บ้าน ลงพื้นที่สำรวจ เก็บข้อมูลเบื้องต้นจำนวนคนไร้บ้าน ปี 2566 ภายในคืนเดียวเมื่อวันที่ 23 พ.ค. พร้อมกัน 77 จังหวัด ทั่วประเทศ ข้อมูลที่ได้รับรายงานจนถึงวันที่ 24 พ.ค.เวลา 11.00 น. พบจำนวนคนไร้บ้านทั่วประเทศมี 2,413 คน พบในพื้นที่ กทม.มากที่สุดถึง 1,258 คน ต่างจังหวัด 1,155 คน ซึ่งลดลงจากช่วงโควิด-19 ในเดือน ธ.ค.2564 ใน กทม.พบ 1,868 คน โดยการลงพื้นที่แจงนับ 1 คืน เพื่อนำฐานข้อมูลมาขับเคลื่อนนโยบายระดับพื้นที่ ระดับประเทศ และเตรียมแผนผลักดันนโยบายการเข้าถึงสิทธิสุขภาพ สวัสดิการต่างๆ ศักยภาพเข้าถึงที่อยู่อาศัย และอาชีพ ออกแบบระบบการคุ้มครองดูแล และจัดบริการสวัสดิการสังคมอย่างตรงจุด

ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการศึกษาโอกาสเกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่เกี่ยวข้องทั้งรายได้ รัฐสวัสดิการ พฤติกรรมการดื่ม ความพิการ การอยู่ในภาวะไร้บ้านเป็นเวลานาน ส่งผลต่อสุขภาพกาย และสุขภาวะทางจิต สถานการณ์สุขภาพคนไร้บ้านพบสูบบุหรี่สูงถึง 55% ดื่มสุรา 41% แต่
ผู้เข้ารับบริการศูนย์พักพิงคนไร้บ้านกลับมีอายุเฉลี่ยสูงกว่าคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ แสดงให้เห็นว่านโยบายที่อยู่อาศัยมีความสำคัญ สสส.จึงร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย พัฒนาโครงการ “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” โดย สสส.สนับสนุน 60% คนไร้บ้านสมทบ 60% ในอัตราค่าเช่า 1,700-2,200 บาท/เดือน โมเดลนี้ต่อยอดโครงการนำร่อง “บ้านสวัสดิการที่อยู่อาศัยคนจนเมือง” ปรับพื้นที่ตึกร้าง ให้เป็นที่อยู่อาศัยราคาถูก โดย พม. และ กทม. อยู่ระหว่างการศึกษา ให้คนไร้บ้าน หรือคนที่อยู่ในภาวะก้ำกึ่งต่อการไร้บ้าน สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเสี่ยงจากภาวะไร้บ้านถาวร

...

ขณะที่ รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการแจงนับ และสำรวจคนไร้บ้านครั้งใหม่ปี 2566 ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด จะมีส่วนอย่างสำคัญที่จะทำให้สถานการณ์ประชากรคนไร้บ้านมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น อันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการกำหนดนโยบายที่ครอบคลุม ตั้งแต่การพัฒนาคุณภาพชีวิต และสุขภาวะ รวมถึงการป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านของกลุ่มเปราะบาง.