โควิด-19 กลับมาใหม่อีกครั้งโดยเฉพาะ “สายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 สายพันธุ์ XBB.1.5” ที่ปรากฏพบการติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้น แม้ว่า “อาการจะไม่รุนแรง” แต่สามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น 1.2 เท่า ทำให้ผู้ปกครองต่างกังวลอันจะเกิดการระบาดหนักขึ้นในช่วงเปิดเทอมภาคเรียนที่ 1/2566 นี้

ท่ามกลางการเข้าสู่ “ฤดูฝนอันเป็นช่วงฤดูการระบาดโรคติดต่อ” ทำให้โรงเรียนหลายแห่งยังเฝ้าระวังรักษามาตรการป้องกันโควิดอย่างเข้มงวด ตั้งแต่การคัดกรองวัดอุณหภูมิหน้าโรงเรียน สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาเรียนอย่างเช่น “ครูก้อ” ครูประจำโรงเรียนประถมใน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ บอกว่า

ปัจจุบันแม้การระบาดโควิดจะคลี่คลายแล้ว “แต่ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่อง” ทำให้โรงเรียนยังรักษามาตรการป้องกันในช่วงการเปิดเทอมใหม่ ด้วยการขอให้ผู้ปกครองทำการคัดกรองบุตรหลานก่อนเข้ามาเรียน

ทว่า ในส่วน “โรงเรียน” ยังมีการคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิหน้าโรงเรียน “ครูเวรประจำวัน” จะคอยฉีดพ่นแอลกอฮอล์ล้างมือให้นักเรียนทุกคน โดยไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองเข้าในโรงเรียนเด็ดขาด แล้วในวันจันทร์คาบเรียนแรก “ครูประจำชั้น” จะทำหน้าที่ซักถามเรื่องสุขภาพ และวันหยุดนั้นได้เดินทางไปท่องเที่ยวตามจุดเสี่ยงหรือไม่

...

ถ้าหากพบ “นักเรียนมีอาการผิดปกติตั้งแต่ไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก” ต้องแยกตัวออกจากเพื่อนแล้วครูจะทำการตรวจคัดกรอง ATK ก่อนแจ้งผู้ปกครองมารับกลับบ้านเฝ้าดูอาการพักฟื้นจนกว่าจะหายเป็นปกติ

ถัดมาคือ “การเรียนการสอน” ปีนี้ไม่ต้องจัดห้องแบบเว้นระยะห่าง และสามารถจัดกิจกรรมเป็นปกติเพียงแต่ “ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเรียน” เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดเท่านั้น

แต่ก็ยังคง “เน้นทำความสะอาดพื้นที่จุดเสี่ยงอย่างเคร่งครัด” โดยเฉพาะโรงอาหารฉีดพ่นฆ่าเชื้อทุกสัปดาห์แล้วช่วงพักเที่ยง “ครูประจำชั้น” จะทยอยปล่อยนักเรียนออกมาเพื่อลดความแออัด “เวลากินข้าวก็ต้องนั่งโต๊ะฉากกั้น” เพราะเป็นช่วงถอดหน้ากากแล้วอุปกรณ์ เช่น ช้อนและแก้วน้ำจำเป็นต้องนำมาเองจากบ้าน

อย่างไรก็ดี “โรงเรียน” ยังมีแผนรับมือกรณีเกิดการระบาดโควิดในช่วงการเปิดเทอมใหม่นี้ “เสนอต่อสาธารณสุขอำเภอและ อบจ.ศรีสะเกษต้นสังกัด” เบื้องต้นพบบุคลากรติดเชื้อโควิดแล้วหลังเดินทางกลับจากการอบรมในกรุงเทพฯ ทำให้ต้องเข้ามาตรการเฝ้าระวังคนใกล้ชิด พร้อมส่งผลการตรวจ ATK รายงานผลทุก 2-3 วัน

เช่นเดียวกับ “ครูเจี๊ยบ” ครูโรงเรียนมัธยมประจำ จ.น่าน บอกว่า การระบาดโควิดในพื้นที่คลี่คลายดีขึ้น แต่ช่วงเปิดเทอมใหม่นี้โรงเรียนหลายแห่งยังคงมาตรการป้องกัน เช่น ก่อนเปิดเรียน 1 สัปดาห์จะจัดกิจกรรมปฐมนิเทศทำความเข้าใจกับ “ผู้ปกครอง” เพื่อคอยดูแลสุขภาพ และประเมินความเสี่ยงคัดกรองของนักเรียนอยู่เสมอ

ทั้งขอความร่วมมือ “ผู้ปกครอง และนักเรียน” ก่อนเปิดเรียน 1-2 วันตรวจ ATK แจ้งผลผ่านไลน์ให้ครูประจำชั้นทราบ “บุคลากร” ก็ต้องประเมินความเสี่ยงตนเองด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกสัปดาห์เหมือนปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ยังยกเลิกการคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิหน้าโรงเรียน “เน้นสวมหน้ากากอนามัยตลอดอยู่ในโรงเรียนแทน” ส่วนการเรียนการสอนนั้นก็เข้าสู่สภาวะปกติ และสามารถทำกิจกรรมรวมกลุ่มในชั้นเรียนได้

หากว่ากรณีมีการระบาดลักษณะกลุ่มใหญ่ขึ้น “โรงเรียน” ก็มีแผนมาตรการรองรับอย่างเช่น “การปิดชั้นเรียน หรือการปิดโรงเรียน” จะมีแผนการเรียนการสอนแบบออนไลน์สำรองไว้เป็นอย่างดีเช่นกัน

เบื้องต้นเปิดการเรียนมาตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.2566 “ปรากฏพบนักเรียนชายชั้น ม.1 ติดเชื้อโควิด 4 คน” โรงเรียนได้ให้หยุดเรียนพักฟื้นดูอาการจนกว่าจะหายเป็นปกติ ส่วนเพื่อนร่วมชั้นเรียน “ครู” ได้คัดกรองตรวจ ATK พร้อมแจ้งผู้ปกครองให้เฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด แต่ยังไม่พบการติดเชื้อเพิ่มเติมทำให้ยังคงสามารถเรียนได้เป็นปกติ

ประเด็น “การระบาดโควิด” ตอนนี้ประชาชนไม่กลัวการติดเชื้อส่วนหนึ่งเพราะมีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน หรือมีการติดเชื้อกันเยอะแล้ว ทั้งข่าวผู้ติดเชื้อก็น้อยเหลือหลักพันรายแถมอาการไม่รุนแรงเหมือนก่อน “จนไม่มีใครสนใจโควิด”

แม้แต่สถานบริการ ร้านอาหารยังลดมาตรการป้องกันจนบางแห่งไม่มีแอลกอฮอล์ล้างมือด้วยซ้ำ

ทว่า ก็ยังคงมี “การสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันตัวเองทั่วทั้งจังหวัดดังเดิม” แม้จะไม่มีการบังคับเหมือนกับในช่วงการระบาดปีแรกๆ “แต่บางคนสวมใส่จนเป็นความเคยชินไปแล้วเมื่อต้องออกจากบ้าน” กลายเป็นคนไม่สวมหน้ากากอนามัยกลับถูกจ้องมองจากสังคมเป็นคนประหลาดจนถูกบังคับให้ต้องใส่โดยปริยาย

...

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล บอกว่า นับแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2566 “มีผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง” เพียงแต่ว่าไวรัสสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่นี้ไม่รุนแรงเหมือนคราวที่แล้ว ทำให้จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่มีอาการหนักลดน้อยลง

แต่ว่าในช่วงการเปิดเทอมแบบ on site 100% “โรงเรียน” ยังต้องระวังการระบาดในห้องเรียนเช่นเดิม “ควรเน้นคัดกรองวัดไข้ช่วงเช้าก่อนเข้าโรงเรียนเสมอ” เพื่อไม่ให้เด็กที่อาจติดเชื้อมาไม่แสดงอาการเข้าไปปะปนกับคนอื่น แล้ว สิ่งสำคัญถ้าพบ “นักเรียนมีไข้ ไอ จาม เจ็บคอ มีน้ำมูก” ลักษณะคล้ายไข้หวัดควรแยกออกทันที

จากนั้นรีบส่งตัวเด็กกลับบ้านทำการตรวจ ATK คัดกรองแยกกักตัวอยู่ห้องคนเดียว 3-4 วันในส่วน “ผู้ปกครอง” ควรให้ความร่วมมือในการทำหน้าที่ดูแลด้านสุขอนามัยการป้องกันการระบาดด้วย “หากบุตรหลานมีอาการไข้ ไอ น้ำมูกก็ควรหยุดเรียน” เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อคนต่อคนแพร่กระจายไปทั่วโรงเรียน

...

ตอกย้ำกรณีปรากฏพบ “เด็กติดเชื้อ” เพื่อนร่วมชั้นเดียวกันย่อมมีความเสี่ยงสูง “ผู้ปกครอง” ต้องแจ้งให้โรงเรียนทราบถ้วนหน้าทุกคน เพื่อคัดกรองนักเรียนคนอื่น และเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด หากมีการติดเชื้อต่อเนื่องจาก “คนสู่คน 3–5 คน” อาจต้องพิจารณามาตรการตามความเหมาะสมอย่างเช่นปิดห้องเรียน 5 วัน

ประการต่อมา “มาตรการบังคับตรวจ ATK ประเมินความเสี่ยงก่อนเข้าเรียนประจำทุกสัปดาห์” มองว่าอาจไม่จำเป็นต่อการลงทุนช่วงนี้เพราะแม้ “การระบาดกระจายตัวเยอะขึ้น” แต่คนไทยส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนและมีภูมิคุ้มกันการติดเชื้อเยอะแล้ว จนสามารถช่วยลดความเสี่ยงอาการรุนแรง และการเสียชีวิตด้วยซ้ำ

เช่นนี้ทำให้ “โรงเรียน” ไม่จำเป็นต้องเว้นระยะห่างในห้องเรียน ลดจำนวนผู้เรียน งดกิจกรรมรวมกลุ่ม หรือการจำกัดพื้นที่เพียงแต่เน้นย้ำ “การคัดกรอง” เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยหลุดรอดเข้านั่งเรียนร่วมกับคนปกติเท่านั้นแล้ว “นักเรียน ครู และบุคลากร” ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาอยู่ในโรงเรียนด้วย

...

“สถานการณ์โควิด-19 ถูกจัดอยู่ในระดับใกล้เคียงการระบาดไข้หวัดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นอาการ และการติดเชื้อเยอะมักมีสัดส่วนของคนผู้ป่วยหนัก ดังนั้นควรจัดให้มีระบบคัดกรองเด็กป่วยมีไข้ ไอ มีน้ำมูก หากพบให้คัดแยกนำไปพักในสถานที่จัดเตรียมไว้ และติดต่อให้ผู้ปกครองมารับกลับไปพักฟื้นที่บ้านเท่านั้น” รศ.นพ.อดิศักดิ์ว่า

ประเด็น “เปิดเทอม 1/2566” แน่นอนเป็นช่วงนักเรียนสัมผัสใกล้ชิดกัน “โอกาสระบาดระลอกใหม่เป็นไปได้อยู่แล้ว”

สิ่งที่น่ากังวลคือ “เด็กติดเชื้อมักนำเชื้อกลับไปแพร่ในบ้าน” บางครอบครัวอาจอาศัยอยู่กับผู้สูงอายุแล้วยิ่งลักษณะอาการไม่รุนแรงนี้ผู้ติดเชื้อบางคนยังออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านโดยไม่จำเป็นต้องมีการรักษาด้วย

ดังนั้น แม้ว่า “ตัวโรคโควิดจะมีระดับความรุนแรงน้อยลงก็ตาม” แต่ด้วยระบบการระบาดติดเชื้อมากเท่าใดมักนำมาซึ่งสัดส่วนของผู้ป่วยหนัก และเสียชีวิตได้เสมอ ดังนั้น อยากเน้นย้ำว่า “กลุ่มเสี่ยง 608” ควรเข้ารับวัคซีนรุ่นใหม่ตามสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อจะช่วยลดอาการหนักและเสียชีวิตได้ดีขึ้น

สุดท้ายนี้ย้ำว่า “เราอยู่กับโควิด-19” มาหลายปีผ่านเรื่องราวร้ายๆ “จนโรคลดระดับความรุนแรงลง” แล้ววันนี้ทุกคนก็อยากกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติ แต่ถ้าเราไม่ช่วยกันป้องกัน “โรคระบาด” ก็อาจจะแพร่กระจายหนักจนกลายพันธุ์กลับมาร้ายกว่าเดิมก็เป็นได้เช่นกัน.