วัชระ คุ้ยด่วน ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย อายุ 27 ปี ซึ่งใช้ “สิทธิบัตรทอง” ในการรักษาที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เล่าให้ฟังว่า การใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติ (APD) มีข้อดีมากทีเดียว

เดิมตลอด 10 ปีที่ผ่านมา...ตอนที่ล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองหรือการใช้ฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียม (HD) นั้นไม่ค่อยสอดคล้องกับความต้องการในการใช้ชีวิตประจำวันของเขาเท่าไหร่นัก เพราะต้องกลับมาล้างไตที่บ้านทุกๆ 4 ชั่วโมง ทำให้ไม่สามารถออกไปทำงานหาเลี้ยงชีพได้

แต่ภายหลังเปลี่ยนมาใช้วิธีการล้างไตทางหน้าท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติได้ ทำให้ “ชีวิตดีขึ้นมาก” มีความสะดวกสบาย และหากต้องเดินทางไปต่างจังหวัดก็สามารถยกเครื่องไปฟอกได้ด้วย

น่าดีใจว่า...ตอนนี้สามารถออกไปสมัครงานและใช้ชีวิตได้เหมือนปกติ

ประเด็นสำคัญมีว่านอกจากประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับ “ผู้ป่วย” แล้วหนึ่งในข้อดีสำหรับโรงพยาบาล ก็คือการใช้ทรัพยากรในการให้บริการน้อยลง ไม่ว่าจะบุคลากร เครื่องมือ พื้นที่ ฯลฯ

นพ.ธเนศ ดุสิตสุนทรกุล - นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี
นพ.ธเนศ ดุสิตสุนทรกุล - นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

...

นพ.ธเนศ ดุสิตสุนทรกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา บอกว่า โดยเฉพาะอัตราการติดเชื้อบริเวณหน้าท้องในผู้ป่วยก็ลดต่ำลงด้วย ซึ่งปกติจะมีค่าใช้จ่ายยิบย่อยค่อนข้างมากหากติดเชื้อ รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งสำคัญมากที่สุดอย่างคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

ปัจจุบันโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาได้จัดสรรเครื่องล้างไตอัตโนมัติให้กับผู้ป่วยไปแล้ว 46 เครื่อง และจากการสอบถามข้อมูลหลังการใช้งานจากผู้ป่วยก็ยังไม่พบปัญหาใดๆ ซึ่งยืนยันได้ว่าเครื่องมีคุณภาพมาตรฐาน ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและค่อนข้างปลอดภัยมาก

อย่างไรก็ดี การจะรับการบำบัดทดแทนด้วยเครื่องอัตโนมัติได้ผู้ป่วยจะต้องพิจารณาร่วมกับแพทย์

พญ.เสาวลักษณ์ ชาวโพนทอง อายุรแพทย์โรคไต เสริมว่า หลักเกณฑ์จะมีอยู่ 2 ส่วนหลักๆคือ หนึ่ง...ปัจจัยทางการแพทย์ ซึ่งจะพิจารณาจาก “ความพร้อม” ของผู้ป่วย

“หากเคยใช้วิธีการล้างไตทางหน้าท้องด้วยตนเองแล้วเกิดอาการผนังหน้าท้องเริ่มเสื่อมไม่สามารถแลกเปลี่ยนของเสียได้เท่าที่ควร มีภาวะปัสสาวะออกน้อย หรือมีภาวะน้ำท่วมปอดบ่อย ไปจนถึงมีโรคร่วม เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง”

สอง...ปัจจัยทางสังคม โดยจะพิจารณาโดยดู “วิถีชีวิต” ของผู้ป่วย เช่น นักเรียนนักศึกษาผู้ป่วยที่เป็นหัวหน้าครอบครัวจำเป็นจะต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวเป็นหลัก หรือผู้ป่วยสูงอายุที่ไม่สามารถล้างไตผ่านช่องท้องด้วยตัวเองได้ และไม่มีคนดูแลในช่วงเวลากลางวัน ฯลฯ

พญ.เสาวลักษณ์ บอกอีกว่า เมื่อผู้ป่วยได้รับการพิจารณาแล้วว่าสามารถใช้เครื่อง APD ได้ผู้ป่วยจะได้รับการฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจนกว่าจะใช้งานเครื่องได้ และเมื่อนำเครื่องไปใช้ที่บ้านจะมีเจ้าหน้าที่ติดตามเยี่ยมไข้ เพื่อสอบถามปัญหาต่างๆ

ในส่วนของโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ใช้วิธีฟอกเลือด 79 รายวิธีล้างไตทางหน้าท้องด้วยตนเอง 98 ราย ส่วนการล้างไตทางหน้าท้องด้วยเครื่อง APD เริ่มจัดบริการในปี 2564 ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ใช้เครื่อง APD จำนวน 46 ราย

ซึ่ง “ผู้ป่วย” ที่ล้างไตด้วยวิธีนี้มีความสะดวกสบาย มีความปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากมีโอกาสติดเชื้อน้อยลง ประการสำคัญ...การใช้เครื่อง APD ช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ได้มาก เพราะสามารถลดโอกาสติดเชื้อและลดอาการน้ำท่วมปอดได้เป็นอย่างดี

พญ.เสาวลักษณ์ ชาวโพนทอง
พญ.เสาวลักษณ์ ชาวโพนทอง

...

นับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา “ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง” ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” สามารถรับบริการบำบัดทดแทนไต ด้วยการล้างไตทางหน้าท้องผ่าน “เครื่องล้างไตอัตโนมัติ (APD)” ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ย้ำว่า...ข้อดีของวิธีการนี้ก็คือ ผู้ป่วยสามารถออกไป “ใช้ชีวิตประจำวัน” หรือออกไป “ทำงาน” ในตอนกลางวันถึงช่วงเย็นได้สะดวกยิ่งขึ้น

เนื่องจากการใช้เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ จะล้างเพียง 1 ครั้งต่อวันโดยใช้เวลา 8–12 ชั่วโมง โดยสามารถเปิดให้เครื่องทำงานขณะนอนหลับพักผ่อนในตอนกลางคืนได้เลย

ซึ่งจะต่างจาก “วิธีการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเอง (CAPD)” ซึ่งจะมีรอบการล้างเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4 รอบต่อวัน และต้องเปลี่ยนน้ำยาล้างไตทุก 4-6 ชั่วโมง

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. บอกว่า ขณะนี้ทั่วประเทศมีการให้บริการด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติราว 2,500 เครื่อง ซึ่งแน่นอนว่าทาง สปสช. ก็อยากให้ผู้ที่มีความพร้อมได้เข้าถึงให้มากขึ้น

จึงได้มีการประสานไปยังหน่วยบริการหลายแห่งว่าถ้าหากมีความจำเป็นต้องใช้ สปสช.ยังมีเครื่องดังกล่าวอีกจำนวนมากที่พร้อมสนับสนุนให้

วิธีการล้างไตด้วยเครื่อง APD จะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่สุขสบายและคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ สปสช. พยายามผลักดันให้มีการนำเครื่อง APD ไปใช้กับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นสามารถเข้าถึงบริการนี้มากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันมีผู้ป่วยรายใหม่ที่ใช้เครื่อง APD เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 170-200 รายต่อเดือน

นอกจากนี้ ในปี 2566 ทาง สปสช. ยังได้ตั้งเป้าที่จะเร่งขยายบริการนี้ให้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะถึงแม้แต่ละวิธีในการบำบัดทดแทนไตจะเหมาะกับผู้ป่วยไม่เหมือนกัน

...

ทว่า...ถ้าพิจารณาจากสถานการณ์ของประเทศไทย สปสช. ยังเชื่อว่าการล้างไตทางหน้าท้อง น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่เหมาะกับบริบทการดำรงชีวิตมากที่สุด

“การมาโรงพยาบาลบ่อยๆ ไม่ง่ายนักสำหรับผู้ป่วยบางคน แล้วก็บางคน ระยะทางไกล การล้างไตทางหน้าท้องเชื่อว่าเป็นทางเลือกหนึ่ง ด้วยการลดข้อจำกัดที่ต้องล้างวันละ 4 รอบ” นพ.จเด็จ ว่า

“ฉะนั้นการใช้เครื่องอัตโนมัติ เราก็มีนโยบายที่จะส่งเสริมผู้ป่วยที่รับเครื่องไป ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆนะครับ แล้วเราก็มีส่งน้ำยาไปถึงบ้าน โดยระบบของไปรษณีย์ไทย”

ปัจจุบันวิธีการบำบัดทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ใช้สิทธิบัตรทองมีทั้งหมด 4 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่

1.การล้างไตทางเส้นเลือด หรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

2.การล้างไตทางหน้าท้องแบบผู้ป่วยทำเอง

3.การล้างไตทางหน้าท้องด้วยเครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ

และ 4.การปลูกถ่ายไต โดยวิธีเหล่านี้ผู้ป่วยยังสามารถตัดสินใจร่วมกับแพทย์ได้ด้วย

“ตระหนักภัย ใส่ใจไต ป้องกันไว้ เน้นกลุ่มเสี่ยง” คำขวัญวันไตโลกปีนี้

...

แน่นอนว่าเตรียมตัวป้องกันไว้ก่อนแต่เนิ่นๆดีกว่าเป็นแล้วค่อยมารักษา สปสช. ขอร่วมรณรงค์ให้คนไทยตระหนัก ลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคไต เพื่อนำไปสู่การป้องกันและลดจำนวนผู้ป่วยเรื้อรังไตวายระยะสุดท้าย.