“สวัสดีครับผมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ติดต่อมาแจ้งว่าคุณมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน”
“บ้าจริง เป็นไปไม่ได้ ต้องมีอะไรผิดพลาดแล้วค่ะ”
“เช่นนั้นทางเราต้องขอความร่วมมือคุณผู้หญิงช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยครับ ไม่ต้องห่วงแค่ทำตามที่ผมแจ้งก็พอ”
ข้างต้นคือบทสนทนาคุ้นหูที่หลายคนอาจเคยเห็นผ่านตาในข่าวที่เกี่ยวกับแก๊งหลอกโอนเงิน หรือกับบางคนเรื่องราวนี้อาจไม่ใช่แค่ผ่านตาแต่เป็นสิ่งเคยเจอด้วยตนเองมาแล้ว คนที่ไหวตัวทันก็อาจชิงหลบเลี่ยงเอาตัวรอดได้ แต่ในหลายครั้งเมื่อต้องเจอเหตุการณ์เหล่านี้กับตัวเองจริงๆ เราก็อาจไม่ได้มีเวลาให้ไตร่ตรองมากนัก ยิ่งเมื่อเจอกับเทคนิคอันแพรวพราวในการล่อหลอกบางครั้งบางคราวเราก็กลายเป็นเหยื่อไปโดยไม่ทันตั้งตัว
จากเรื่องราวข้างต้นทำให้เห็นได้ชัดว่า “เทคนิคการโกง” ของบรรดากลุ่มคนประสงค์ร้ายที่ตั้งใจจะเล่นงานเหยื่อให้ได้มีการพัฒนาขึ้นทุกวัน และยังถูกขัดเกลาจนมีความแนบเนียนมากยิ่งขึ้น เมื่อรวมกับกลโกงเดิมๆ ที่ยังคงใช้ได้ผลอยู่เสมอ ทำให้ในปัจจุบันความเสียหายที่ประชาชนได้รับจากมิจฉาชีพหลอกเงินมีมูลค่าเกินกว่า 38,000 ล้านบาท ไปแล้ว (จากสถิติการแจ้งความออนไลน์ ของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ถึง เดือนพฤษภาคม 2566) ตัวเลขดังกล่าวนับได้ว่าสูงจนน่าหวั่นใจ สะท้อนถึงความเก่งกาจจนน่ากลัวของขบวนการโกงเงินที่อาศัยความไม่รู้ ความหวาดวิตก และความโลภของผู้คนเป็นเครื่องมือเพื่อทำให้เหยื่อ “ขาดสติ” จนต้องพลาดท่าเสียทีกันนักต่อนัก
เหตุนี้จึงอาจจะบอกได้ว่ากุญแจสำคัญของการต่อสู้กับเหล่ามิจฉาชีพคือการ “มีสติ” ขณะเดียวกันก็ต้องหมั่นอัปเดตกลโกงใหม่ๆ อยู่เสมอเพื่อให้รู้เท่าทันเหล่าวายร้ายที่หมายตากระเป๋าสตางค์ของเรา หรือทำให้เราต้องเสียทรัพย์อย่างน่าเจ็บใจ โอกาสนี้ทางด้านธนาคารกสิกรไทย หรือ เคแบงก์ จึงขออาสาเข้ามาเป็นหนึ่งในแนวร่วมสร้างเกราะป้องกันภัยคุกคามทางการเงินให้ประชาชนด้วยไอเดียสุดครีเอท ลุยเปิดตัวแคมเปญ #อัปเดตสติป้องกันสตางค์
โดย นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ได้เปิดเผยว่าแคมเปญ #อัปเดตสติป้องกันสตางค์ เป็นแคมเปญต่อเนื่องจากแคมเปญ #ใช้สติป้องกันสตางค์ ที่ธนาคารกสิกรไทย ริเริ่มตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา เพื่อรณรงค์ให้ข้อมูลและความรู้กับประชาชนถึงภัยกลโกงของมิจฉาชีพ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนจะช่วยกันเตือนคนใกล้ตัว พนักงาน ญาติพี่น้อง ให้รู้เท่าทันภัยเหล่านี้ และป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ธนาคารกสิกรไทย จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความรู้และเตือนภัยเหล่านี้ และธนาคารยินดีที่จะมอบสื่อต่างๆ ที่ธนาคารจัดทำขึ้นด้วยความปรารถนาดีให้กับหน่วยงาน บริษัท ห้างร้าน ที่สนใจ ไปใช้เผยแพร่ต่อเพื่อให้ความรู้กับพนักงานหรือประชาชนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสามารถดาวน์โหลดคลิป #อัปเดตสติป้องกันสตางค์ และสื่อ #สารานุโกง ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลกลโกงของมิจฉาชีพล่าสุดพร้อมวิธีป้องกัน ได้ที่ https://kbank.co/42vCQoQ
งานนี้ทีมไทยรัฐออนไลน์ได้เข้าไปลองเล่นมาแล้ว บอกได้เลยว่าสารานุโกงคือศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลอัปเดตวิธีโกงรูปแบบใหม่ๆ ที่มิจฉาชีพขยันสรรหามาหลอกเอาเงิน โดยอธิบายได้ชัดเจนเห็นภาพว่าเหล่ามิจฉาชีพมีกระบวนการทำงานอย่างไร ขณะเดียวกันก็มีการอธิบายวิธีป้องกัน รวมไปถึงวิธีแก้ไขในกรณีที่พลาดท่าไปแล้วอีกด้วย ซึ่งภายในสารานุโกงก็จะมีการแนะนำช่องทางติดต่อผู้ที่จะให้ความช่วยเหลือได้ไว้ให้เสร็จสรรพ นอกจากนี้ข้อมูลทั้งหมดที่มีในสารานุโกงยังเปิดให้หน่วยงานต่างๆ ดาวน์โหลดไปใช้งานได้ฟรีๆ เพื่อให้ช่วยกันเผยแพร่และส่งต่อ “สติ” พร้อมสร้างเครือข่ายป้องกันกลโกงที่แข็งแกร่ง
3 กลโกงมิจฉาชีพที่มีคนโดนหลอกเสียเงินมากที่สุด
1. หลอกให้กดลิงก์แปลก และหลอกให้ติดตั้งแอปดูดเงิน
วิธีง่ายๆ ที่ได้ผลอย่างสุดๆ ยิ่งในปัจจุบันที่บรรดาคนโกงมีวิธีการแจกลิงก์ให้กดอย่างแนบเนียนมากขึ้น และยังมุ่งโจมตีในหลากหลายช่องทางไม่ว่าจะ SMS อีเมล โซเชียลมีเดีย ช่องแชตส่วนตัวต่างๆ หรือแม้กระทั่งทำเว็บไซต์หน่วยงานที่ดูน่าเชื่อถือปลอมขึ้นมาทั้งหมดเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ
#อัปเดตสติป้องกันสตางค์ – ขอย้ำ! ธนาคารยกเลิกส่ง SMS แนบลิงก์ให้ลูกค้าแล้ว หากได้รับ SMS แนบลิงก์ที่มาจากธนาคารให้สงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพ และติดต่อธนาคารเพื่อตรวจสอบทันที
2. หลอกเป็นนายหน้ากู้เงินเถื่อน
หนึ่งในวิธีการยอดฮิตที่อาศัยความเดือดร้อนของเหยื่อเพื่อทำให้การหลอกลวงสำเร็จได้อย่างง่ายดาย ที่มักเห็นบ่อยคือการนำเสนอว่า กู้ง่าย อนุมัติไว ไม่ตรวจสอบข้อมูล ไม่ต้องค้ำประกัน แต่หลังจากเหยื่อตกลงใจก็อาจจะพบว่าเป็นการกู้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยมหาโหด หรือในบางกรณีมีการแอบอ้างว่าสามารถช่วยกู้เงินจากธนาคารให้ผ่านได้ แต่ขอให้เหยื่อโอนเงินมัดจําหรือค่าธรรมเนียมให้ก่อนจะหายเข้ากลีบเมฆ
#อัปเดตสติป้องกันสตางค์ – ขอย้ำ! กู้เงินธนาคาร ลูกค้าสามารถทำได้เอง และธนาคารไม่มีนโยบายการคิดหรือหักค่านายหน้าใดๆ จากสินเชื่อที่ขอยื่นกู้
3. หลอกให้เปิดบัญชีม้า
มีทั้งแบบที่ขอซื้อบัญชี และว่าจ้างให้เหยื่อเปิดบัญชี โดยมิจฉาชีพจะนำบัญชีดังกล่าวไปใช้ในการฟอกเงินหรือหลอกลวงผู้อื่นอีกทอด งานนี้นอกจากจะได้ไม่คุ้มเสียแล้ว ยังอาจทำให้มีคดีติดตัวอีกด้วย
#อัปเดตสติป้องกันสตางค์ – ขอย้ำ! อย่าไปรับจ้างเปิดบัญชีม้า หรือขายบัญชีให้ใคร ผิดกฎหมาย รับโทษหนัก ทั้งโดนปรับ และติดคุก
ซึ่งทั้ง 3 กลโกงใช้วิธีหลอกที่ทำให้คนตกเป็นเหยื่อได้โดยง่ายหากบังเอิญเผลอใจหรือไม่เคยได้ยินมาก่อน เคแบงก์จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าภาพยนตร์โฆษณาที่จัดทำรวมไปถึงสื่อต่างๆ ที่ธนาคารมุ่งมั่นนำเสนอจะช่วยเตือนสติให้คนรอดพ้นจากเหตุการณ์หลอกลวงมากขึ้น
ยุคนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามิจฉาชีพและกลโกงนั้นอยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิดมากๆ จากที่วันนี้เราเพียงแค่นั่งอ่านข่าว วันรุ่งขึ้นอาจจะเป็นเราเองก็ได้ที่โดนผู้ไม่หวังดีหมายตา ดังนั้นการเตรียมตัวให้พร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากจะ #อัปเดตสติป้องกันสตางค์ และเข้าไปอ่าน #สารานุโกง จากเคแบงก์กันแล้ว เราอาจเริ่มต้นที่ตัวเองกันก่อนได้เลยง่ายๆ เช่น การอัปเดตแอปธนาคารให้เป็นเวอร์ชันล่าสุด, การตั้งค่าวงเงินที่โอนได้ต่อวัน รวมไปถึงการไม่กดลิงก์แปลกๆ ไม่ว่าจะส่งจากช่องทางใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็น SMS ที่อ้างว่ามาจากธนาคารยิ่งควรหลีกเลี่ยงเพราะปัจจุบันธนาคารไม่มีการส่ง SMS แนบลิงก์แล้ว หากทำเช่นนี้ได้ในเบื้องต้น ก็สามารถสบายใจได้เปราะหนึ่ง และนอกเหนือไปกว่านั้นสิ่งสำคัญคือการต้องมี “สติ” อยู่เสมอ ยิ่งจิตใจเรามั่นคงเท่าไหร่ โอกาสจะตกเป็นเหยื่อก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น