สิงห์อาสา ขยายพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลภาคตะวันออก ซึ่งเป็น 1 ใน 2 พื้นที่หลัก นอกจากภาคใต้ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเพิ่มการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ลดภาวะโลกรวน และเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อการสร้างความสมดุลในระบบนิเวศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยสิงห์อาสาลงพื้นที่ติดตามผลการปลูกหญ้าทะเลต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ “สิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล” ที่หาดเจ้าหลาว ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี หลังจากลงพื้นที่ดูแลแปลงหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่สุดฝั่งอ่าวไทยที่ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อต้นปีที่ผ่านมา พร้อมขยายต่อในหลายพื้นที่จังหวัดชายทะเลทั้งภาคใต้และภาคตะวันออกต่อไป
สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี และกลุ่มประมงพื้นบ้านเจ้าหลาว ลงพื้นที่ปลูกหญ้าทะเลเพิ่มเติมพร้อมติดตามผลการปลูกหญ้าทะเล ซึ่งสามารถฟื้นฟูและทำให้พื้นที่หญ้าทะเลในพื้นที่หาดเจ้าหลาวเพิ่มขึ้น สามารถเพิ่มการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล รวมทั้งเป็นที่หลบภัย วางไข่ และที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ นอกจากนั้น สิงห์อาสายังได้นำหญ้าทะเลพันธุ์กุยช่ายเข็มที่เหมาะสมกับพื้นที่มาปลูกเพิ่มเติม เพื่อขยายพื้นที่ Blue Carbon หรือคาร์บอนฯ ที่ดูดซับโดยระบบนิเวศทางทะเล ณ หาดเจ้าหลาวอย่างต่อเนื่อง
ดร.สราวุธ ศิริวงศ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี กล่าวว่า “หญ้าทะเลเป็นระบบนิเวศทางทะเลอย่างหนึ่งที่สำคัญมากๆ สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงกว่าป่าไม้เกือบ 10 เท่า หรือที่เรียกว่าบลูคาร์บอน (Blue Carbon) โดยกิจกรรมปลูกหญ้าทะเลที่ทำร่วมกับสิงห์อาสามาอย่างต่อเนื่องหลายปี ทำให้มีปริมาณพื้นที่หญ้าทะเลบริเวณหาดเจ้าหลาวเพิ่มขึ้นประมาณ 15% และปีนี้ได้เพิ่มเรื่องงานวิจัยเพื่อให้การปลูกหญ้าทะเลมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น มีการปักไม้ธรรมชาติลดแรงคลื่น เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้หญ้าทะเลได้มีอัตรารอดมากขึ้น รวมถึงเปรียบเทียบวัสดุที่ใช้ในการปลูกหญ้าทะเลว่าแบบใดเหมาะสมที่สุด ซึ่งจะติดตามผลทุกๆ เดือน เป็นเวลา 1 ปี เพื่อประเมินผลว่าสิ่งที่เราทำได้ผลอย่างไรบ้างจะได้ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลให้มีประสิทธิภาพต่อไป”
น.ส.ดวงทิพย์ญามน ชักชวนวงษ์ ผู้ใหญ่บ้านเจ้าหลาวหัวแหลม ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี กล่าวว่า “ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลมีความสำคัญต่อพวกเรามาก เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ท้องทะเลแห่งนี้ถือเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้านที่นี่ หากย้อนไป 20 ปี สภาพแวดล้อมที่นี่สมบูรณ์มาก มีพะยูนที่มากินหญ้าทะเล แต่ช่วงเวลา 10 ปีให้หลัง ระบบนิเวศก็เริ่มพังจากภาวะโลกร้อน ต้องขอบคุณสิงห์อาสาที่ได้ทำกิจกรรมปลูกหญ้าทะเลให้กับชุมชน บางคนอาจจะมองเรื่องหญ้าทะเลเป็นเรื่องไกลตัวไม่เห็นคุณค่า แต่ ณ วันนี้สิงห์อาสาเป็นคนจุดประกาย ได้นำคณะอาจารย์ เครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสามาช่วยขยายพันธุ์หญ้าทะเลและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้มาจัดกิจกรรมแล้วหายไป ทำให้จันทบุรีมีแหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์มากขึ้น”
“โครงการสิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล” เป็นหนึ่งในภารกิจของสิงห์อาสาที่ทำร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย 12 สถาบันในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน และยังเป็นอีกหนึ่งก้าวความสำเร็จเพื่อช่วยลดภาวะโลกรวน ซึ่งเป็นปัญหาที่ทั้งโลกกำลังพบเจอ โดยสิงห์อาสาได้มีการติดตามผลของโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มั่นใจว่าโครงการที่สิงห์อาสาจัดขึ้นมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างยั่งยืน