ตำรวจเตือนภัยคนร้ายออกอุบายทำใบขับขี่โดยไม่ต้องไปสอบที่กรมการขนส่งทางบก เรียกรับเงินหลายรอบ ก่อนเชิดเงินหนีมีเหยื่อจำนวนมากยืนยันกรมการขนส่งทางบกไม่ต่อใบขับขี่โดยไม่ต้องสอบ อีกกรณีคนร้ายอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวง กุเรื่องเจ้าหน้าที่จดเลขมิเตอร์เกิน พอเหยื่อหลงเชื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่สามารถควบคุมเครื่องโทรศัพท์จะถูกคนร้ายถอนเงินออกจากบัญชีจนเกลี้ยง
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 พ.ค.พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมผู้เกี่ยวข้องแถลงกรณีการหลอกลวงทำใบขับขี่โดยไม่ต้องไปสอบที่กรมการขนส่งทางบกและคดีคนร้ายแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงส่ง SMS แจ้งว่าเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าจดเลขมิเตอร์เกิน เพื่อให้ผู้เสียหายดาวน์โหลดแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องโทรศัพท์แล้วโอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหาย รวมทั้งคดีออนไลน์ในลักษณะต่างๆ
พล.ต.อ.สมพงษ์ เปิดเผยว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 7-13 พ.ค. มีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุดยังเป็นคดีเดิมๆ 5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1.คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 2.คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 3.คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 4.คดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน และ 5.คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ สำหรับคดีออนไลน์ที่มิจฉาชีพนำมาหลอกลวงในช่วงนี้ คือ หลอกลวงให้โอนเงินทำใบขับขี่โดยไม่ต้องไปสอบที่กรมการขนส่งทางบกและคนร้ายออกอุบายเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงหลอกให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดูดเงินจากบัญชีเหยื่อ
พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผบก.ตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. กล่าวว่า เรื่องแรกมิจฉาชีพแอบอ้างสามารถทำใบขับขี่ได้โดยไม่ต้องไปสอบที่กรมการขนส่งทางบก คดีนี้มิจฉาชีพโพสต์รับทำใบขับขี่ในเฟซบุ๊กโดยไม่ต้องไปสอบ มีหน้าม้าโพสต์รีวิวว่าสามารถทำได้และได้รับใบขับขี่จริง เมื่อผู้เสียหายทักสอบถามรายละเอียด คนร้ายจะให้ผู้เสียหายเพิ่มเป็นเพื่อนในไลน์แล้วให้ส่งข้อมูลส่วนตัวพร้อมเก็บเงินล่วงหน้า ต่อมาผู้เสียหายติดต่อขอรับใบขับขี่ คนร้ายจะอ้างว่ามีค่าเอกสาร ค่าดำเนินการ ค่าขนส่ง ต้องโอนเงินเพิ่ม สุดท้ายถูกเชิดเงินไม่ได้รับใบขับขี่ มีผู้ตกเป็นเหยื่อเข้าแจ้งความจำนวนมาก
...
“สำหรับจุดสังเกตให้ตรวจสอบในเพจมีการกดไลค์น้อยมาก แต่จะมีการกดอิโมชันด้านลบ เช่นรูปโกรธ ไม่พอใจระบบทำใบขับขี่ในประเทศไทย กรณีนี้ผู้จัดการเพจส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ ยืนยันกรมการขนส่งทางบกไม่ทำใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ทุกประเภทโดยไม่ต้องสอบและไม่มีการทำใบอนุญาตขับขี่แบบออนไลน์ สำหรับวิธีป้องกัน ให้ตรวจสอบกฎเหล็กของเฟซบุ๊กดังนี้ 1.เป็นบัญชีทางการที่น่าเชื่อถือหรือไม่ 2.มีการกดอิโมชันด้านลบ (โกรธ) หรือไม่ 3.เพจมีความโปร่งใสหรือไม่ ตรวจสอบจากประวัติการสร้างเพจว่าสร้างมานานหรือไม่ มีการเปลี่ยนชื่อบ่อยหรือไม่ คนจัดการเพจอยู่ที่ใด สอดคล้องกับเพจหรือไม่ หากมีข้อสงสัยให้ติดต่อสอบถามสำนักงานขนส่งทุกสาขาหรือโทร.ที่คอลเซ็นเตอร์ 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง” พล.ต.ต.ชูศักดิ์ กล่าว
ด้านนายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ปัจจุบันมีกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างสามารถทำธุรกรรมกับกรมการขนส่งทางบกผ่านทางเพจเฟซบุ๊กโดยเฉพาะรับทำหรือต่ออายุใบขับขี่รถยนต์ นำสัญลักษณ์หน่วยงานมาใส่ในโปรไฟล์ หรือนำรูปภาพของผู้ที่ได้รับใบขับขี่มาแอบอ้างเพื่อสร้างความเชื่อถือใช้คำว่า “รับทำใบขับขี่โดยไม่ต้องสอบ ไม่ต้องอบรม รอรับได้เลย” เรียกเก็บค่าใช้จ่ายประมาณ 1,000-6,000 บาท เมื่อผู้เสียหายโอนเงินไปแล้วจะเรียกร้องให้โอนเงินเพิ่มอีกก่อนเงียบหายไป ขอย้ำเตือนหย่าหลงเชื่อทำธุรกรรมกับเพจเหล่านี้เด็ดขาด
นอกจากนี้ พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ยังกล่าวเตือนถึงกรณีมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงหลอกให้โอนเงิน ส่ง SMS แจ้งว่าเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าจดเลขมิเตอร์เกินให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่สามารถควบคุมเครื่องโทรศัพท์จะถูกคนร้ายโอนเงินออกจากบัญชีทั้งหมด
“จุดสังเกต การเปรียบเทียบของปลอม-ของจริง ดังนี้ ของปลอมเป็นเว็บไซต์ชื่อ www.xk-line.cc นามสกุลของโดเมนไม่ถูกต้อง ไลน์เป็นบัญชีส่วนบุคคล สามารถโทร.หากันได้และใช้โลโก้ กฟน. เหมือนของจริง แต่ใช้ชื่อบัญชี “สำนักงานการไฟฟ้า” ส่วนของจริงเป็นเว็บไซต์ชื่อ www.mea.or.th นามสกุลของโดเมนคือ .or.th ไลน์เป็นบัญชีทางการไม่สามารถโทร.หากันได้ ใช้ชื่อบัญชี “การไฟฟ้านครหลวง” สำหรับวิธีป้องกัน ต้องไม่เปิดอ่านหรือกดลิงก์ใน SMS แปลกปลอมหรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่มิจฉาชีพหลอกให้ติดตั้ง กรณีมีการส่ง SMS ที่ผิดปกติ ควรโทรศัพท์ตรวจสอบกับการ ไฟฟ้านครหลวงได้ที่เบอร์ 1130 โดยตรง กรณีมีการส่งลิงก์แปลกปลอมให้ตรวจสอบจากเว็บไซต์ www.who.is หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store หรือ Apple Store เท่านั้น ไม่ควรดาวน์โหลดจากลิงก์หรือข้อความที่มีคนส่งให้” พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ระบุ