sacit ติดอาวุธทางการค้า เสริมแกร่งผู้ประกอบการหัตถศิลป์ไทย พร้อมลุยตลาดดิจิทัล ทั้ง 4 ภูมิภาค เพื่อต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานใหม่

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 66 สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย หรือ sacit จัดประชุมสมาชิกและสร้างเครือข่ายผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมเพิ่มพูนทักษะผู้ประกอบการงานหัตถศิลป์ ประจำปี 2566 ทั้ง 4 ภูมิภาค ต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานใหม่ พร้อมเจาะตลาดดิจิทัล

นายภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย เปิดเผยว่า ด้วยภารกิจของ sacit ในการสืบสาน สร้างสรรค์ ส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยของประเทศ หนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ภารกิจดังกล่าวสำเร็จลุล่วงได้นั้น คือ การเพิ่มขีดความสามารถของผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตกรรมไทย ให้เกิดการพัฒนาต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทยทั้งในด้านคุณค่าและมูลค่ามากยิ่งขึ้น จึงได้ดำเนินการจัดกิจกรรมการประชุมสมาชิกและสร้างเครือข่ายผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมเพิ่มพูนทักษะผู้ประกอบการงานหัตถศิลป์ ทั้ง 4 ภูมิภาค ในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสสองของปี 2566 ที่ผ่านมา ได้แก่ ครั้งที่ 1 ภาคอีสาน จังหวัดขอนแก่น วันที่ 26-27 มกราคม 2566 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด, ครั้งที่ 2 ภาคใต้ จังหวัดสงขลา วันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงแรมลี การ์เดนส์ พลาซ่า หาดใหญ่, ครั้งที่ 3 ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 23-24 มีนาคม 2566 ณ โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซด์ เชียงใหม่ และครั้งที่ 4 ภาคกลาง วันที่ 27-28 เมษายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี

...

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้วงการศิลปหัตถกรรมไทย เพิ่มทักษะการเรียนรู้รูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้สามารถรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมเสริมศักยภาพเชิงช่างควบคู่ไปกับการพัฒนารูปแบบและบรรจุภัณฑ์ให้มีคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งการขยายโอกาสทางการตลาด การเรียนรู้เรื่องการสื่อสารงานหัตถกรรมในสื่อออนไลน์ จุดเด่นของการรังสรรค์แบรนด์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลให้มีความน่าสนใจ แปลกใหม่ และตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้ซื้อที่เป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น ตลอดจนสนับสนุนด้านทรัพย์สินทางปัญญาแก่ชิ้นงานและภูมิปัญญาของผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย

นอกจากนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งเวทีที่ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งระหว่างสมาชิกด้วยกัน เนื่องจากสมาชิกจะสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสมาชิกด้วยกันเอง เพื่อนำไปปรับใช้ในการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมใหม่ๆ ในการรองรับกับตลาดและความต้องการของผู้ซื้อ ซึ่งภาพรวมของการจัดงานทั้ง 4 ครั้ง ได้รับการตอบรับจากสมาชิกเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 700 ราย ซึ่งทุกท่านสามารถนำความรู้ไปปรับใช้พัฒนาสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมในรูปแบบใหม่ เพื่อเตรียมรับมือหรือปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบกับการค้าขายในยุคปัจจุบัน ตลอดจนเพื่อเป็นแนวทางสร้างความร่วมมือเชื่อมโยงเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่าง ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และสมาชิก sacit สู่การพัฒนาและยกระดับงานศิลปหัตถกรรมไทยต่อไป นายภาวีฯ กล่าวทิ้งท้าย