อีกเพียง 6 วันเท่านั้นจะถึงวันเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2566 ปีนี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้กำหนดให้เปิดเทอมวันแรกในวันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม 2566 ซึ่งนักเรียนหลายคนคงกำลังตื่นเต้นที่จะได้เจอกับเพื่อนๆ หลังจากห่างหายกันไปในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2566
และแน่นอนว่าในช่วงเกือบๆ 2 เดือนของการปิดเทอมภาคฤดูร้อนที่ผ่านมาสถานศึกษาส่วนใหญ่ หรือแทบจะทุกแห่งต่างว่างเว้นจากการจัดกิจกรรมต่างๆ บางแห่งอาจจะขาดการดูแลอย่างทั่วถึงจนชำรุดทรุดโทรม ทั้งจากสภาพที่ไม่ได้มีการใช้งานมานาน และจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงดูแลไปพร้อมๆกับความพร้อมในด้านอื่นๆ เพื่อให้การเปิดเทอมใหม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มสูบ
...
“ขอกำชับให้สถานศึกษาทุกแห่งวางมาตรการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเรียนให้ดี โดยเฉพาะความปลอดภัยในสถานศึกษา นักเรียนต้องปลอดภัยครบทุกมิติ สภาพอาคารเรียนและระบบไฟฟ้าต้องพร้อมใช้งาน สำหรับมาตรการด้านสุขภาพ เนื่องจากขณะนี้สภาพอากาศเมืองไทยเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงขอให้สถานศึกษาดูความเหมาะสมของการจัดกิจกรรมกลางแจ้ง เพราะขณะนี้ประเทศไทยตรวจพบค่าดัชนีความร้อนเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นห่วงเด็กนักเรียนที่ต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งอาจเกิดโรคฮีตสโตรกขึ้นได้ ดังนั้นโรงเรียนจะต้องระวังการจัดกิจกรรม ส่วนมาตรการป้องกันโควิด-19 ขอให้สถานศึกษาได้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตามแผนปฏิบัติการเดิมที่เราเผชิญกับโควิด-19 มาก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกัน ศธ.จะมอนิเตอร์ข้อมูลโควิด-19 ร่วมกับ สธ.เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดระลอกใหม่อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้เมื่อเปิดภาคเรียนใหม่แล้วขอให้โรงเรียนเก็บข้อมูลเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษา และตามไปดูว่าเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษามาจากสาเหตุใด เพื่อนำเด็กกลับมาเรียน” น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ได้ส่งสัญญาณถึงผู้บริหารองค์กรหลัก ศธ.ให้สถานศึกษาเตรียมความพร้อมรับเปิดเทอมใหม่ 2566
ขณะที่ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) หัวเรือใหญ่ที่กำกับดูแลสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มอบนโยบายไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ โดยเน้นย้ำ 4 พันธกิจหลัก
สร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา เพื่อให้มีความสุขทั้งครูและนักเรียน เมื่อเปิดเทอมแล้วเด็กมาโรงเรียนจะทำอย่างไรให้นักเรียนมีความสุข โรงเรียนปลอดภัยทั้งครูและนักเรียน ทุกโรงเรียนต้องไปตรวจสอบและวางแผนดูว่าปัจจัยใดที่จะส่งผลให้โรงเรียนไม่มีความปลอดภัยก็ต้องรีบไปแก้ไข ทั้งการร่วมมือกันภายใน ร่วมมือกับผู้ปกครอง และกับภาคเอกชน หรือหน่วย งานภายนอกอื่นเพื่อทำให้โรงเรียนมีความปลอดภัย และถ้าเปิดเทอมแล้วสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น โรงเรียนจะต้องสื่อสารกับนักเรียน ผู้ปกครองให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สธจ.) เพื่อป้องกันไม่ให้โรงเรียนเป็นศูนย์รวมการระบาดเหมือนปีที่ผ่านมา
การสร้างโอกาสทางการศึกษา แม้จะผ่านพ้นช่วงเวลาการรับนักเรียนมาแล้ว ทุกโรงเรียนจะต้องสามารถวิเคราะห์ได้แล้วว่า มีนักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการมาเข้าเรียนในโรงเรียนจำนวนเท่าไหร่ ไปเรียนที่อื่นเท่าไหร่ และการรับนักเรียนของโรงเรียนลดหรือเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายว่าเด็กจะต้องได้เรียนทุกคน สพท.จะต้องสำรวจว่าแต่ละโรงเรียนต้องการความช่วยเหลือในด้านใดบ้าง โดยเฉพาะการเสริมเติมเต็มเพื่อยกระดับคุณภาพให้สูงขึ้น
...
การเตรียมความพร้อมการจัดการเรียนรู้ ทั้งเรื่องการจัดทำหลักสูตร และวางแผนจัดครูเข้าชั้นเรียน เพราะช่วงนี้เป็นช่วงของการย้ายครูจากโรงเรียนหนึ่งไปอีกโรงเรียนหนึ่ง หรือย้ายข้าม สพท. ดังนั้น สพท. ต้องวิเคราะห์ดูว่าเมื่อย้ายครูเสร็จแล้วมีโรงเรียนใดบ้างที่ขาดแคลนครูขั้นวิกฤติบางโรงเรียนอาจจะหนักกว่านั้นเพราะไม่มีผู้อำนวยการโรงเรียนด้วย ดังนั้น แต่ละ สพท.จะต้องเตรียมการแก้ปัญหาให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบต่อคุณภาพ การศึกษา
การเตรียมความพร้อมอาคารสถานที่ หรือรูปแบบการจัดการเรียนรู้ สพฐ.มีโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียน standalone โรงเรียนคุณภาพ โรงเรียนในพระราชดำริ โรงเรียนร่วมพัฒนา Partnership School และมีโรงเรียนหลากหลายลักษณะ ที่ สพท.จะต้องวิเคราะห์เพื่อกำหนดรูปแบบจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมตามบริบทแต่ละพื้นที่
...
ขณะที่ในส่วนของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่กำกับดูแลสถานศึกษาสายอาชีพทั่วประเทศ โดย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) นอกจากจะ จัดเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวให้กับนักเรียน นักศึกษา แล้วยังมีการจัดค่าเครื่องแบบ ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าใช้จ่ายอื่นๆให้กับนักเรียน นักศึกษาจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายและเข้ามาเรียนอย่างสบายใจ
พร้อมกับเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัย โดยให้สถานศึกษาจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย ที่สำคัญต้องเข้มงวดเรื่องการรับน้องในสถานศึกษาจะต้องไม่เกิดความรุนแรง ป้องกันภัยยาเสพติดทุกชนิด อาวุธปืนต้องไม่เกิดขึ้นในสถานศึกษาอย่างเด็ดขาด รวมไปถึงเฝ้าระวังการก่อเหตุทะเลาะวิวาทตามหลัก 3 ป. คือ ป้องกัน ปลูกฝัง และปราบปราม
สำหรับ ด้านวิชาการ ให้สถานศึกษานำการเรียนการสอนรูปแบบ Active Learning มาใช้ช่วยให้ผู้เรียน เรียนอย่างมีความสุข มีทักษะการคิด วิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาเป็น รวมทั้งให้กำหนดมาตรการดูแลผู้เรียนที่ประสบปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) อีกทั้งติดตามนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วย
...
ทั้งหมดนี้ถือเป็นนโยบายและแนวปฏิบัติของผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. ตั้งแต่เจ้ากระทรวง ตลอดจนหัวเรือใหญ่องค์กรหลัก ศธ. ที่กำกับดูแลสถานศึกษาทั่วประเทศ ที่ได้สะท้อนไปยังผู้ปฏิบัติ
“ทีมการศึกษา” มองว่านโยบาย และแนวปฏิบัติต่างๆที่ถูกกำหนดขึ้นมานี้ หากมองโดยภาพรวมก็ถือเป็นการเตรียมความพร้อมที่ดีเพื่อรับเปิดเทอมใหม่ปีการศึกษา 2566
แต่สิ่งที่เราต้องขอฝากไว้คือ ระดับผู้ปฏิบัติซึ่งคือหัวใจสำคัญในการนำนโยบายไปสู่การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ที่ต้องมีความจริงจังจริงใจและทำอย่างต่อเนื่อง
เพราะแม้นโยบายและแนวปฏิบัติจะดีขนาดไหนก็ตาม ถ้าไม่คิดจะขยับรับลูกเพื่อนำไปปฏิบัติตามก็คงเป็นสิ่งที่ไร้ค่าและสูญเปล่า.
ทีมการศึกษา