แมลงวันทอง หรือแมลงวันผลไม้ ถือเป็นศัตรูพืชที่สำคัญชนิดหนึ่งในประเทศไทย สามารถเข้าทำลายผลไม้ได้หลายชนิด โดยเฉพาะผลไม้ที่มีเปลือกบาง เช่น ฝรั่ง ชมพู่ มะม่วง พุทรา กระท้อน ฯลฯ

เมื่อผลไม้ถูกแมลงวันผลไม้ทำลายจะทำให้คุณภาพลดลง ไปจนถึงเสียหายจนไม่สามารถรับประทานได้ ส่งผลให้เกษตรกรเพิ่มต้นทุนในการเพาะปลูกเพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว

แต่การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดปัญหาสารพิษตกค้างในผลผลิตเกินค่ามาตรฐานได้

“การป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้สามารถทำได้อย่างถูกวิธี โดยเมื่อผลผลิตเริ่มติดผล ควรห่อผลด้วยถุงพลาสติกหรือถุงกระดาษ และเก็บผลไม้ที่หลงเหลือจากการเก็บเกี่ยวหรือเน่าเสียไปทำเป็นปุ๋ยหมัก น้ำหมัก หรือฝังกลบดินที่มีความหนาของหน้าดินอย่างน้อย 50 ซม. รวมถึงตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง และกำจัดพืชอาศัยเพื่อลดแหล่งหลบซ่อนของแมลงวันผลไม้ด้วย เพราะแมลงวันผลไม้สามารถหลบซ่อนอยู่ในพืชอาศัยอื่นๆได้กว่า 150 ชนิด”

...

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร แนะวิธีป้องกันกำจัด...หากเริ่มพบแมลงวันผลไม้ในแปลงปลูก สามารถใช้สารล่อกำจัดแมลงวันผลไม้เพศผู้เพื่อไม่ให้สืบพันธุ์ โดยใช้ เมทธิล ยูจินอล 3 ส่วน ผสมกับสารฆ่าแมลงที่ไม่มีกลิ่นหรือมีกลิ่นน้อยที่สุด เช่น ไดคลอร์วอส, แลมบ์ดา ไซฮาโลทริน, มาลาไธออน 57% W/V EC, ไซเพอร์เมทริน 25% W/V EC จำนวน 1 ส่วน หยดลงบนแท่งฝ้ายหรือสำลีในกับดัก ที่สามารถประยุกต์ทำขึ้นมาเองได้จากขวดน้ำพลาสติก หรือใช้แผ่นสารล่อทำจากวัสดุดูดซับของเหลวได้ดี เช่น แผ่นชานอ้อย หรือกาบมะพร้าว

และควรแขวนสารล่อห่างกันทุก 40–50 ม. ทางด้านทิศตะวันออกของทรงพุ่ม ที่มีร่มเงา ระดับสูง 2 เมตรขึ้นไป

“แต่สารล่อกำจัดแมลงวันผลไม้จะมีในระยะดึงดูดได้ไม่ไกลนัก เกษตรกรสามารถเลือกใช้ เหยื่อโปรตีนออโตไลเสท หรือ ไฮโดรไลเสท 1 ส่วนผสมกับน้ำ 15 ส่วนเป็นเหยื่อในกับดักแทนได้ หรือใช้โปรตีน 4 ส่วน ผสมสารฆ่าแมลง 1 ส่วน และน้ำ 95 ส่วน ฉีดพ่นเป็นเหยื่อพิษตามต้นและใบพืชกำจัดแมลงวันทองก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคการทำให้แมลงเป็นหมัน ซึ่งเป็นวิธีการฉายรังสีและนำกลับไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อให้แมลงวันทองที่เป็นหมันทำหน้าที่ควบคุมแมลงชนิดเดียวกันเองในธรรมชาติต่อไป”

...

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรแนะว่า เกษตรกรควรเลือกวิธีที่เหมาะสมกับสวนของตนเอง และต้องรู้จักวงจรชีวิตของแมลงวันผลไม้เพื่อป้องกันกำจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ระยะไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย

ระยะไข่ มีรูปร่างยาวรีสีขาว ระยะหนอน มีรูปร่างหัวแหลมท้ายป้าน ไม่มีขา ไม่มีตา ส่วนหัวจะมีตะขอแข็งสีดำใช้สำหรับตะกุยเนื้อผลไม้ให้เละเพื่อกินเป็นอาหาร ทำให้ผลไม้มีตำหนิเน่าเสีย เมื่อหนอนโตเต็มที่จะสามารถดีดตัวได้ไกลประมาณ 30 ซม. เพื่อหาพื้นที่เหมาะสมสำหรับเข้าดักแด้ในดิน

ระยะดักแด้จะอยู่ในดินลึกประมาณ 2-5 ซม. มีรูปร่างกลมรีสีน้ำตาล ไม่เคลื่อนไหว ...ระยะตัวเต็มวัย จะออกหากินในช่วงเช้า ผสมพันธุ์ในช่วงพลบค่ำและวางไข่ช่วงกลางวัน เพศเมียจะหาผลไม้สุกแก่เหมาะสำหรับวางไข่และทำกลิ่นไว้เพื่อป้องกันเพศเมียตัวอื่นมาวางไข่ซ้ำรอยเดิม

หากเกษตรกรต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน.

ชาติชาย ศิริพัฒน์