ประเทศไทยหลุดจากความเป็นประเทศด้อยพัฒนามานานแล้ว แม้จะยังติดกับดักกับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางมานานหลายทศวรรษ แต่ประเทศไทยมีชนชั้นกลางมากขึ้น แต่คนไทยส่วนใหญ่กลายเป็นกลุ่มคนที่ไร้หลักประกันในบั้นปลายของชีวิต มีสิทธิ์ที่จะกลายเป็นคนจนในยามชราหลังวัยเกษียณ

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า สถานะการเงินของคนไทยวัยเกษียณอยู่ในภาวะเปราะบาง มีผู้มีเงินออม 54.3% ไม่มีเงินออม 45.7% แต่ในกลุ่มผู้ที่มีเงินออม ไว้ใช้หลังเกษียณส่วนใหญ่ 41.4% มีเงินออมต่ำกว่า 50,000 บาท ส่วนกลุ่มผู้มีเงินออมถึง 400,000 บาท มีแค่ 1.9%

สังคมไทยมีแรงงานอยู่ 2 กลุ่ม เป็นแรงงานในระบบ 38% แรงงานนอกระบบ 62% แรงงานในระบบส่วนหนึ่งเป็นข้าราชการ มีหลักประกันหลังวัยเกษียณเป็นบำเหน็จ หรือบำนาญ ส่วนแรงงานภาคเอกชนมีการประกันสังคม และยังมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของนายจ้างกับลูกจ้าง

แต่ถ้าเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจะมีหลัก ประกันคือเบี้ยเลี้ยงยังชีพที่รัฐจ่ายให้เดือนละ 600 บาท ถึง 1,000 บาท ตามอายุ เป็นรายได้ที่ต่ำกว่าเส้นความยากจน คือเดือนละ 1,500 บาท เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดมีรายได้แค่เบี้ยยังชีพจากรัฐจะกลายเป็น “คนจน” และเป็นคนจนวัยชรา

คนจนในวัยชรา นอกจากจะไม่มีเงินเพื่อดำรงชีพอย่างเพียงพอ ยังอาจมีหนี้สินล้นพ้นตัว ข้อมูลล่าสุดจากสภาพัฒน์ระบุว่า ขณะนี้คนไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 14.90 ล้านล้านบาท เท่ากับ 86.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ การก่อหนี้เป็นนิสัยประจำชาติของคนไทย

เป็นไปตามการประเมินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ว่า “คนไทยเป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้นาน เป็นหนี้จนแก่” จึงไม่น่าแปลกใจที่คนส่วนใหญ่ไม่มีเงินออม เพื่อใช้หลังเกษียณ พรรค การเมืองที่กำลังเร่งหาเสียงเลือกตั้งขณะนี้ส่วนใหญ่แข่งกันแจกเงินประชานิยม ไม่ได้มุ่งส่งเสริมให้คนไทยมีหลักประกัน

...

ตลท.ประกาศว่า จะทำการรณรงค์ภายใต้คำขวัญ “Happy Money, Happy Your Old ปูนนี้ก็มีใช้” เพื่อส่งเสริมคนไทยให้มีทักษะ มีความรู้ขั้นพื้นฐาน เพื่อให้สามารถบริหารเงิน เตรียมรับการเกษียณอย่างยั่งยืน ไม่ให้กลายเป็นคนจนในยามแก่ หวังว่าจะมีพรรค การเมืองจะหันมามองปัญหาไม่แจกอย่างเดียว.