เมื่อวันที่ 24 เม.ย. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการสอบ เช่น หลักเกณฑ์เดิมกำหนดให้มีการสอบสัมภาษณ์โดยให้ครูสาธิตวิธีการสอนเป็นเวลา 45 นาที ซึ่ง สพฐ.มองว่าเกณฑ์การสอบลักษณะนี้อาจใช้วิธีอื่นเข้ามาทดแทนได้ เช่น การดูประวัติแฟ้มผลงาน เนื่องจากครูมีการฝึกประสบการณ์สอนมาแล้ว 1 ปี ดังนั้นจึงไม่จำเป็นจะต้องมานั่งสาธิตการสอนให้คณะกรรมการดูให้เสียเวลา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องของการออกข้อสอบ เดิม สพฐ.จะเป็นผู้จัดทำการออกข้อสอบกลางไปให้ทุกจังหวัดจัดสอบ แต่ครั้งนี้จะปรับใหม่ ให้จังหวัดไปจับมือกับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นเพื่อทำการออกข้อสอบครูผู้ช่วยเอง ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการสอบดังกล่าวจะเสนอคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณาในวันที่ 25 เม.ย.นี้

ต่อข้อถามว่า ขณะนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ยังประกาศเรื่องการย้ายครูไม่ครบอาจทำให้มีการขาดแคลนครูในช่วงเปิดภาคเรียนใหม่หรือไม่ เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ต้องกังวล เพราะการประกาศย้ายครูของแต่ละเขตพื้นที่มีระยะเวลากำหนดไว้ว่าจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือน เม.ย.นี้ และในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1 กลางเดือน พ.ค.นี้ อาจจะต้องเคลียร์ตำแหน่งว่างของแต่ละโรงเรียนก่อน และคาดว่าในเดือน พ.ค. สพฐ.จัดสมัครและสอบครูผู้ช่วยใหม่เสร็จ จากนั้นในเดือน มิ.ย.จะเร่งบรรจุให้โรงเรียนที่ขาดครูทันที

“การบรรจุครูเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อทดแทนอัตราว่าง แต่ตอนนี้เรายังดำเนินการไม่ได้ เพราะอยู่ระหว่างการย้ายครู เมื่อย้ายครูเสร็จแต่ละเขตพื้นที่จึงจะทราบจำนวนตำแหน่งว่างว่ามีอยู่เท่าใด และเมื่อจัดสอบครูผู้ช่วยในเดือน พ.ค.แล้วก็จะเติมเต็มให้กับโรงเรียนทันที” นายอัมพรกล่าว.

...