อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เยอะขึ้นทุกวัน อาชญากรด้านนี้เหิมเกริมขึ้นเยอะ เพราะตำรวจจับไม่ค่อยได้ ไล่ไม่ค่อยทัน

ตำรวจที่รับผิดชอบตามโรงพักส่วนใหญ่ มักโยนความรับผิดชอบไปให้ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บช.สอท. เพราะตั้งหน่วยมาเพื่อการนี้โดยตรง?!

แต่เชื่อเถอะ ขึ้นชื่อว่า “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” ความเดือดร้อนของชาวบ้านต้องมาก่อน งานที่เชื่อว่าตัวเองทำไม่ได้ ทำไม่ไหวเพราะมันยาก มันซับซ้อน มันใหญ่เกินตัว มันไม่จริง?

ยกตัวอย่างกรณี ชุดสืบสวนตำรวจนครบาล 9 นำโดย พ.ต.อ.ธิติพงษ์ สียา ผกก.สส.บก.น.9 พ.ต.ท.ประทีป กาวิน รอง ผกก.สส.บก.น.9 นำกำลังบุกจับกุม นายชัยชนะ หรือวิน ศิริมาลา อายุ 29 ปี ตามหมายจับศาลอาญาตลิ่งชันที่ จ.181/2566 ลงวันที่ 20 เม.ย.66 ข้อหาใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบฯ

ลากคอได้ที่ห้องพักคอนโดมิเนียมหรูแห่งหนึ่งย่านห้วยขวาง!

หลังผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ว่า ถูกขโมยข้อมูลบัตรเครดิตไปรูดซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชันอโกด้าถึง 14 ครั้ง ถึงความเสียหายไม่มากประมาณ 4 หมื่นบาท เป็นคดีไม่ได้เป็นคดีใหญ่โตอะไร

แต่ถือว่า ชุดสืบสวน กก.สส.บก.น.9 ใส่ใจ ตามสืบสวนหาข้อมูลจนระบุตัวผู้ต้องหาและตามจับกุมตัวได้ พร้อมข้อมูลบัตรเครดิตที่ซื้อมาแต่ยังไม่ได้ใช้อีกบานเบอะ!

ผู้ต้องหาสารภาพ ไม่ได้ทำมาหากินอะไร ด้วยความชอบเล่นคอมพิวเตอร์ เริ่มศึกษาลงทุนบิทคอยน์จนรู้จักพวกแฮกเกอร์ต่างชาติ รวมทั้งกลุ่มผู้ค้าข้อมูลบัตรเครดิตในแอปพลิเคชันเทเลแกรม

แม้ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง แต่ใช้ Google Translate แปลภาษา เจรจาซื้อข้อมูลบัตรเครดิตข้อมูลละ 29 ดอลลาร์ ชำระเงินเป็นบิทคอยน์ นำข้อมูลมาซื้อของผ่านเว็บไซต์ต่างๆ

...

งานนี้ถือว่าสืบ 9 ได้ข้อมูลมาพอสมควร น่าส่งให้ บช.สอท.ไปรวมเป็นฐานข้อมูลกลางโยงใยขบวนการค้าข้อมูลบัตรเครดิต เห็นเป็นภาพเครือข่ายใหญ่เมื่อไหร่ มีคดีขึ้นมาจะได้คลี่คลายได้ทันท่วงที

คดีนี้แสดงให้เห็นว่า อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ หน่วยงานเล็กก็สืบจับได้เหมือนกัน?

สหบาท