สถานการณ์มลพิษทางอากาศ อันเกิดขึ้นจาก “ฝุ่น PM 2.5” ยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะฝุ่นควันจากการเผาป่าพื้นที่เกษตรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ตามรายงานเว็บไซต์ IQAir ตรวจพบคุณภาพอากาศ จ.เชียงใหม่ ย่ำแย่ที่สุดติดอันดับ 1 ของโลกไปเรียบร้อย

แน่นอนว่า “วิกฤติมลพิษทางอากาศ” กลายเป็นความเสี่ยงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และยังส่งผลต่อเศรษฐกิจอันเป็นเรื่องที่ใครหลายคนกังวลกันอยู่ไม่น้อย

โดยเฉพาะพื้นที่ที่อาศัยรายได้จากการท่องเที่ยวต่างเรียกร้องให้ “รัฐบาลใหม่” ออกมาตรการเชิงรุกแก้ปัญหานี้ให้เด็ดขาดจริงจังอย่าปล่อยให้ยืดเยื้อทำลายสุขภาพประชาชนให้ตกอยู่ในสภาพตายผ่อนส่ง และทำลายเศรษฐกิจแบบนี้ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีต ผอ.สนง.พัฒนานโยบายสาธารณะสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ข้อมูลว่า

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในไทยนั้น “เข้าขั้นวิกฤติหลายมิติ” แต่เรื่องเร่งด่วนต้องดำเนินการขณะนี้คือ “มลพิษทางอากาศ PM 2.5” เพราะส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพการดำเนินชีวิตของประชาชนในหลายพื้นที่ อีกทั้งยังมีผลอย่างมากต่อ “เศรษฐกิจ” โดยเฉพาะหลายจังหวัดในภาคเหนือที่มีมลพิษทางอากาศสูงติดอันดับต้นของโลก

...

อย่างเช่น “พื้นที่ จ.เชียงใหม่” ติดอันดับเมืองอากาศแย่ที่สุดในโลกติดต่อกันมาหลายวัน และยังไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้นในระยะอันสั้น “ควรประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ” เพื่อการแก้ปัญหาบังคับใช้กฎหมายเด็ดขาด

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

ด้วยเหตุที่ว่า “ถ้ารัฐบาลปล่อยให้มลพิษทางอากาศยืดเยื้อทุกปี” ประเทศไทยจะอยู่ในสภาพมลพิษทางอากาศรุนแรงเกินกว่า 2 เดือนขึ้นไปทำให้กระทบต่อคุณภาพชีวิตรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจาก “ฝุ่น PM 2.5” เข้าไปทำให้เนื้อเยื่อปอดอักเสบส่งผลต่อกระบวนการแบ่งตัวในเซลล์ผิดปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็งหากรับปริมาณมากๆ

ทั้งยังมีสารก่อมะเร็ง เช่น โพลิไซคลิกอโรมาติกไฮโดรคาร์บอน สารอินทรีย์ระเหยง่าย ส่งผลให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นกันแล้วมีข้อมูลการศึกษาภาระโรคขององค์การอนามัยปี 2562 คนไทยเสียชีวิตจากฝุ่นพิษ 31,081 ราย

สาเหตุจากโรคหัวใจขาดเลือด 11,408 ราย โรคหลอดเลือดสมอง 7,274 ราย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 3,043 ราย และมะเร็งปอด 2,464 ราย ทั้งยังมีรายงานคลังข้อมูลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข “การเจ็บป่วยของโรคจากฝุ่น PM 2.5” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เช่น ปี 2565 มีผู้ป่วยมะเร็งปอด 189,713 ราย คิดเป็น 291.18 ต่อแสนประชากร

แล้วผลกระทบมักเกิดกับ “ผู้มีรายได้น้อย” ในกรุงเทพฯ ภาคเหนือ จ.ระยอง และพื้นที่อีอีซีเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนงานก่อสร้าง พ่อค้าแม่ค้าริมถนน ผู้ที่ทำงานกลางแจ้งในพื้นที่มลพิษเข้มข้นสูง เช่น ตำรวจจราจร พนักงานเก็บขยะทำความสะอาดถนน คนขับรถสาธารณะกระเป๋ารถเมล์ และวินมอเตอร์ไซค์

“คนกลุ่มนี้ไม่มีเครื่องป้องกันฝุ่น PM 2.5 ทำให้สุขภาพย่ำแย่ลงเรื่อยๆ เพราะเคยมีงานวิจัยชี้ว่าตำรวจจราจร และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยปฏิบัติงานริมถนนในกรุงเทพฯมีอายุขัยเฉลี่ยลดลง แล้วผู้ต้องเผชิญกับการจราจรติด ขัดอยู่บนท้องถนนเกิน 4 ชม.ต่อวัน ก็มีความเสี่ยงต่อสุขภาพเพิ่มอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร” รศ.ดร.อนุสรณ์ ว่า

ประเด็น “ผลกระทบทางเศรษฐกิจ” สร้างความเสียหาย 5,500-10,000 ล้านบาทต่อปี แล้วความเสียหายนี้ไม่ได้รวมผลกระทบต่อสุขภาพ การย้ายถิ่น ที่ต้องจ่ายด้านสาธารณสุข และต้นทุนทางสังคมเพิ่มขึ้นระยะยาว

แต่ว่า “ความสูญเสียทางเศรษฐกิจนี้” เกิดจากการลดลงของรายได้ “ภาคการท่องเที่ยว” ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงพื้นที่ จ.ระยอง อีอีซี และภาคเหนือ เพราะหากเผชิญมลพิษทางอากาศรุนแรงขึ้นทุกปี การชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลางแจ้ง และโครงการก่อสร้างต่างๆ ค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้น

...

ตอกย้ำด้วย “เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวพันกัน” ด้วยงานวิจัยของธนาคารโลกชี้ว่าต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อนที่ไม่มีการแก้ไขสูงถึง 20% ของจีดีพีโลก แล้วมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต “ความเสียหายนี้สามารถลดได้” หากทุกประเทศคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ไม่เท่านั้น “องค์การอนามัยโลก” ยังมีรายงานประเมินผลกระทบมลพิษทางอากาศ “ทุกปีมีประชากรทั่วโลกเสียชีวิตมากกว่า 7 ล้านคน” ขณะที่เมืองในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีค่ามลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 โดยเฉพาะเมืองที่มีปัญหาความยากจนจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในช่วงหลายปีมานี้

ขณะเดียวกันก่อนการเกิดสงครามยูเครน และรัสเซีย “หลายเมืองในยุโรป” กลับมีมลพิษทางอากาศดีขึ้นอย่างชัดเจน สาเหตุเพราะมีการส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และการใช้พลังงานสะอาด

แต่พอมี “สงครามยูเครน-รัสเซีย” ส่งผลกระทบให้ “ประเทศในยุโรป” ต้องหันมาใช้ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงาน เพราะไม่อาจนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียผลพวงของมาตรการการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจตอบโต้กัน ทำให้มลพิษทางอากาศมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

...

ย้อนกลับมา “ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติมลพิษ PM 2.5” ในภาคเหนือตอนบน กรุงเทพฯ และปริมณฑลรวมถึงพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง รุนแรงมากนี้ “เสนอให้รัฐบาลใหม่” ออกมาตรการเชิงรุกอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาให้เด็ดขาด “ไม่ปล่อยให้ยืดเยื้อทำลายเศรษฐกิจและชีวิตประชาชน” ในพื้นที่ภัยพิบัติมลพิษทางอากาศ

ซึ่งมีปัจจัยจาก “มลพิษข้ามพรมแดน” ในการเผาป่าพืชไร่ของเมียนมา และ สปป.ลาว ที่ทำเกษตรกรรมขาดความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของผู้คนเกิดขึ้นทั้งจากเกษตรกรท้องถิ่น และกลุ่มทุนเกษตรกรรมพืชไร่ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการปลูกอ้อยเพื่อป้อนโรงงานน้ำตาล และข้าวโพดป้อนโรงงานอาหารสัตว์

...

ฉะนั้นต้องมี “การออกกฎหมาย หรือมาตรการระหว่างประเทศ” เพื่อหยุดต้นตอการก่อเกิดหมอกควันพิษอันเป็นฝีมือมนุษย์ “หยุดการตัดไม้เผาป่า” สนับสนุนทำการเกษตรเพาะปลูกแบบไม่ก่อมลพิษทางอากาศ

เช่นในสิงคโปร์ที่มีกฎหมายลงโทษทางอาญาและทางแพ่งต่อบริษัทสิงคโปร์เข้าไปทำสวนปาล์มน้ำมันและผลิตเยื่อกระดาษด้วยการตัดไม้เผาป่าเตรียมพื้นที่ส่งผลให้ “หมอกควัน” อันเป็นผลจากการเผาป่าในอินโดนีเซียข้ามพรมแดนมายังสิงคโปร์ลดลงมาก “ประเทศไทย” ก็ควรออกกฎหมายต่อต้านหมอกควันข้ามพรมแดนเร่งด่วนเช่นกัน

สำหรับ “การเผาซากในนาข้าว ไร่อ้อย และไร่ข้าวโพด” ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคอีสาน “รัฐบาล” ควรมีมาตรการอุดหนุนต้นทุนการเตรียมพื้นที่เกษตรกรรมให้กับเกษตรกรรายย่อย รายใหญ่ และบริษัทเกษตรกรรมลักษณะส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีสีเขียว และเครื่องจักรสีเขียวในการทำการเกษตรกรรมนั้น

ส่วน “ปัญหามลพิษทางอากาศ” ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พื้นที่อีอีซีควรจะผ่านกฎหมายอากาศสะอาด Clean Air Act เพื่อให้ผู้ปล่อยมลพิษจ่ายภาษีการปล่อยนั้น และมีมาตรการควบคุมการปล่อยควบคู่กันไปด้วย

สุดท้ายสิ่งที่อยากเสนอเพิ่มเติม “การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศสิ่งแวดล้อมต่างๆ” อย่างเช่น 1.การพัฒนาประเทศเน้นกระจายไปพื้นที่ต่างๆ ลดการกระจุกตัว 2.ควบคุมการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ 3.จัดเก็บภาษีผู้ก่อมลพิษทางอากาศ 4.สร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น 5.ต้องยกระดับมาตรฐานรถยนต์ให้มีการปล่อยมลพิษลดลง

มาตรการที่ 6.ยกระดับมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5 7.สนับสนุนการใช้รถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และพลังงานสะอาด 8.ปรับลดค่าโดยสารขนส่งระบบรางให้ถูกลง 9.ทบทวนการใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมืองบางแห่ง 10.จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน

ย้ำสิ่งสำคัญว่า “การมีอากาศสะอาดหายใจ มีน้ำอาหารปลอดสารพิษ มีที่อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดี” เป็นสิทธิพื้นฐานที่คนไทยต้องได้รับการดูแลอันเป็นหน้าที่ “รัฐบาล และสังคม” ต้องร่วมกันทำให้เกิดขึ้นก่อนที่ผลกระทบจะลุกลามสร้างผลเสียหายในระยะยาวจนยากที่จะเยียวยาได้.