ภูมิปัญญาการปลูกข้าวล้มตอซังบ้านคูบางหลวง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ถือเป็นสุดยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร ลดการเผาฟางและตอซังข้าว ประหยัดเวลา ลดต้นทุนด้านเมล็ดพันธุ์ แรงงาน สารกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช รวมถึงลดการใช้ปุ๋ย อันส่งผลโดยตรงต่อการบรรเทาปัญหาหมอกควัน แก้วิกฤติฝุ่น PM 2.5

“ภูมิปัญญาการปลูกข้าวล้มตอซังบ้านคูบางหลวง เริ่มมาตั้งแต่ปี 2539 โดย นายละเมียด ครุฑเงิน เกษตรกร ต.ระแหง อ.ลาดหลุมแก้ว ใช้การสังเกตหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว 7-10 วัน ตอซังข้าวที่ล้มราบกับพื้นนาจากการถูกล้อรถเก็บเกี่ยวข้าวเหยียบย่ำ ขณะที่ดินมีความชื้นหมาดๆ มีหน่อข้าวแทงขึ้นมาจากตอซังส่วนที่ติดอยู่กับดิน และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เกษตรกรจึงได้ทดลองปลูกข้าวด้วยวิธีดังกล่าว จนถึงระยะเก็บเกี่ยว พบว่าผลผลิตที่ได้ไม่แตกต่างจากการใช้เมล็ดหว่าน และมีต้นทุนที่ต่ำกว่า จึงได้ใช้วิธีปลูกข้าวล้มตอซังเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้”

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร บอกถึงที่มาของภูมิปัญญาปลูกข้าวล้มตอซัง อันนำมาซึ่งโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น กิจกรรมพัฒนาฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรเพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์พื้นถิ่น ที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2564...มีเป้าหมายในการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการเกษตรจากตัวเกษตรกรหรือชุมชน ผ่านเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับอำเภอ ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดย 1 กิจกรรมภายใต้โครงการฯ มีการคัดเลือกภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร เพื่อพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นปีละ 6 จุด รวม 18 จุด

...

สำหรับภูมิปัญญาการปลูกข้าวล้มตอซังบ้านคูบางหลวง อันเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร ที่เป็นเทคโนโลยีชาวบ้าน เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสมมานาน มีเทคนิคและวิธีการปฏิบัติ คือ การปลูกข้าวโดยไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ปลูก แต่เป็นการเกลี่ยฟางข้าวให้กระจายทั่วแปลง และย่ำตอซังให้ราบติดพื้นนา โดยไม่ต้องเตรียมดิน แต่ดินต้องมีความชื้นหมาดๆ เพื่อให้ต้นข้าวที่เกิดจากตอข้าวเดิมสามารถเจริญเติบโตเป็นต้นข้าวต้นใหม่ได้ พร้อมใส่ปุ๋ยบำรุงต้นอย่างเหมาะสมจนถึงระยะข้าวออกรวง และเก็บเกี่ยวผลผลิต พบว่าผลผลิตที่ได้ไม่แตกต่างจากการใช้เมล็ดหว่าน

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวต่อไปว่า จากการดำเนินโครงการฯ ภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และชุมชน ร่วมกันจัดกิจกรรม “วันล้มตอซังข้าวบ้านคูบางหลวง” เมื่อปลายเดือนที่แล้ว มุ่งหวังเพื่ออนุรักษ์ “ภูมิปัญญาการปลูกข้าวล้มตอซัง” ที่มีคุณค่า เห็นได้ถึงความหวงแหน ความตระหนักถึงภูมิปัญญา ซึ่งเป็นต้นทุน และเป็นวิถีการเกษตรที่โดดเด่นของเกษตรกรในชุมชน อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือจากเกษตรกร ภาครัฐ และเอกชนอย่างเป็นรูปธรรมจากการขับเคลื่อนที่มาจากความต้องการพัฒนาของชุมชนและเกษตรกรอย่างเเท้จริง

สำคัญที่สุดคือ การปลูกข้าวแบบล้มตอซัง นอกจากช่วยประหยัดต้นทุน และลดการเผา อันนำมาซึ่งฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐานแล้ว ความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ได้สร้างความภาคภูมิใจและเป็นศักดิ์ศรีเกียรติภูมิให้กับเกษตรกรชาว อ.ลาดหลุมแก้ว โดยชุมชนสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจหรือขยายผลไปสู่เกษตรกรจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ สิงห์บุรี ชัยนาท นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และนครปฐม ที่บางส่วนเริ่มนำไปใช้ในการทำนาบ้างแล้ว ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ทำฐานข้อมูลเพื่อให้เกษตรกร หรือผู้สนใจทั่วไปได้สืบค้น และใช้ประโยชน์นำไปต่อยอดต่อไป.

...

กรวัฒน์ วีนิล