นับย้อนไปร่วม 30 ปีที่แล้ว แพทย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นกลุ่มหนึ่ง ร่วมกันก่อตั้งโรงพยาบาลเอกชน ขนาด 50 เตียงขึ้นในจังหวัดขอนแก่น โดยไม่ได้มีประสบการณ์ด้านการบริหารโรงพยาบาล หรือแม้แต่องค์ความรู้ในการทำธุรกิจ แต่โรงพยาบาลแห่งนั้น ภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลราชพฤกษ์” ก็ถือกำเนิดขึ้นด้วยการเรียนรู้ และอาจกล่าวได้ว่า ใช้ใจนำทางล้วนๆ แม้ในแง่ธุรกิจ โรงพยาบาลราชพฤกษ์ต้องล้มลุกคลุกคลาน จนครั้งหนึ่งเกือบถึงขั้นปิดตัว แต่ในแง่ของการให้การรักษาพยาบาล การเดินทางที่ยาวนานเกิดขึ้นพร้อมกับความเชื่อมั่นของคนไข้ ส่วนหนึ่งมาจากเจตจำนงที่ไม่เคยเปลี่ยนในจรรยาบรรณแพทย์ และคุณธรรมในการรักษา กับอีกส่วนหนึ่งคือการวางตัวเป็นโรงพยาบาลที่ทำมากกว่าการรักษากาย แต่พร้อมบำบัดใจของทุกคนที่ต้องการการเยียวยา

ถึงกายป่วย แต่ใจไม่ป่วย

ไม่มีใครอยากเจ็บป่วย แต่ความป่วยไข้ก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนทุกคน และเมื่อวันนั้นมาถึง หลายคนอาจต้องพึ่งแพทย์และโรงพยาบาล แต่ภาพจำของโรงพยาบาลสำหรับคนทั่วไป ก็มักจะเป็นภาพของตึกสูงใหญ่ ผู้คนวุ่นวาย และบรรยากาศที่น่าหวั่นเกรง หลายคนจึงไม่ชอบความเป็นโรงพยาบาล ด้วยความรู้สึกและภาพจำเหล่านั้น

อาคารขนาดใหญ่สีน้ำตาลของไม้สลับสีขาว ที่วางตัวอยู่ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่และสวนเขียว สลัดภาพของโรงพยาบาลแบบเดิมๆ ออกไปอย่างสิ้นเชิง ที่นี่คือโรงพยาบาล ซึ่งหมายถึงอาคารของโรงพยาบาลราชพฤกษ์หลังใหม่ย่านถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ที่เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการมา 4 ปี หัวใจในความเป็นโรงพยาบาลของโรงพยาบาลแห่งนี้ ยังหมายถึงการเดินตามรอยทางจากวันแรกที่ว่า “การรักษาต้องเริ่มต้นด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์” ซึ่งแนวคิดนี้สะท้อนผ่านแนวทางในการมอบบริการทางการแพทย์ และการรักษาที่ทำมากกว่าการมุ่งรักษาทางกายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเยียวยาหัวใจในมิติต่างๆ ไปพร้อมกันด้วย

นายแพทย์ธีระวัฒน์ ศรีนัครินทร์ ผู้ร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลราชพฤกษ์ และดำรงตำแหน่งผู้บริหารโรงพยาบาลมายาวนานนับตั้งแต่แรกเริ่ม กล่าวถึงข้อความหนึ่งที่เป็นเสมือนหัวใจในการทำงานของทั้งตัวเอง ทีมแพทย์ และบุคลากรของโรงพยาบาล นั่นคือ “ถึงกายป่วย แต่ใจไม่ป่วย” อันเป็นข้อธรรมของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ซึ่งช่วยฉายภาพความเชื่อมโยงที่ชัดเจนของกายกับใจที่สัมพันธ์กันอยู่ และส่งผลต่อความแข็งแรง หรือเจ็บป่วยได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้แนวคิดเรื่องรักษาที่ดีที่สุดสำหรับโรงพยาบาลราชพฤกษ์ จึงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของเทคโนโลยีการรักษา หรือความเชี่ยวชาญของแพทย์ แต่หมายถึงการเยียวยารักษาผู้ป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะเข้าใจความต้องการของคนไข้ให้ได้มากที่สุด โดยแสดงออกผ่านความใส่ใจในรูปแบบต่างๆ และความน่าสนใจอย่างหนึ่งในเรื่องการเยียวยาบำบัดใจ คือการที่โรงพยาบาลราชพฤกษ์ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่สอดประสานกันไปด้วย และสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งแล้ววันนี้ ก็คืออาคารของโรงพยาบาลที่ให้ความรู้สึกเหมือนบ้าน แทนที่ความรู้สึกห่างเหินและภาพจำแบบเดิมๆ นั่นเอง

ความสำเร็จที่วัดได้ด้วยใจ

สำหรับอาคารหลังใหม่ของโรงพยาบาลราชพฤกษ์หลังนี้ เมื่อเริ่มต้นสร้างทีมสถาปนิกได้ออกแบบโดยเริ่มจากการสำรวจความต้องการของผู้คน ด้วยคำถามที่ว่า “โรงพยาบาลในฝันเป็นอย่างไร” ซึ่งครั้งนั้นคำตอบที่ได้มีหลากหลาย เช่น บางคนก็อยากให้โรงพยาบาลมีไฟสว่างไสว บางคนอยากให้มีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นห้อมล้อม เป็นต้น แต่จากความคิดเห็นที่หลากหลายต่างๆ เหล่านั้น มีคำตอบร่วมที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง นั่นคือ ทุกคนล้วนอยากได้โรงพยาบาลในฝันที่ให้ความรู้สึกเหมือนบ้าน ที่สุดจึงเกิดเป็นอาคารโรงพยาบาลหลังนี้ที่ไม่เหมือนโรงพยาบาลทั่วไป แต่เหมือนบ้านหลังใหญ่ที่แวดล้อมไปด้วยต้นไม้และสวนเขียว สอดประสานไปกับแนวคิดของโรงพยาบาลราชพฤกษ์ ที่ปรารถนาให้ธรรมชาติเข้ามาช่วยบำบัดและเยียวยาจิตใจไปพร้อมกัน

แม้ข้อความที่ว่า การดูแลรักษาด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ จะฟังดูเป็นนามธรรมและจับต้องยาก แต่หากสังเกตแนวทางต่างๆ ที่โรงพยาบาลราชพฤกษ์ดำเนินอยู่ในวันนี้ ก็จะพบว่าหลายเรื่องสะท้อนออกมาจากแนวคิดนี้อย่างชัดเจน ไม่เพียงแค่เรื่องการมีปฏิสัมพันธ์ของบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น บุคลากรเหล่านี้ยังพร้อมรับฟัง ด้วยความเห็นอกเห็นใจ และพร้อมที่จะเข้าใจทุกความต้องการของคนไข้ รวมถึงการปฏิบัติต่อคนไข้ด้วยใจเอื้ออาทร และจรรยาบรรณในการรักษา ให้ความรู้สึกอุ่นใจแก่ผู้เข้ารับการรักษาได้เป็นอย่างดี แต่การนำเสนอความเป็นโรงพยาบาลในรูปแบบสิ่งปลูกสร้างที่มีผลต่อการเยียวยาจิตใจ ก็เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางนี้เช่นกัน

ต่อให้ความสำเร็จในเรื่องนี้จะวัดผลออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่ความรู้สึกของผู้เข้ามาเยือน ไม่ว่าจะเป็นคนไข้ หรือญาติของผู้ป่วยที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งสะท้อนผ่านรอยยิ้ม ก็น่าจะช่วยยืนยันความสำเร็จของแนวทางนี้ได้ไม่น้อยเช่นกัน