เมื่อวานนี้ผมตั้งคำถามทิ้งท้ายคอลัมน์ว่า หากเราโชคร้ายพยายามหลบเลี่ยงและปฏิบัติตนอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ยังหนีไม่พ้น “โรคข้อเข่าเสื่อม” จะทำอย่างไร? ไปรักษาที่ไหน? ใช้เงินเท่าไร?

วันนี้เราลองมาหาคำตอบกันนะครับว่า เมื่อคนเรารู้ตัวว่าเป็นโรคเข่าเสื่อมและรู้สึกเจ็บปวดขึ้นมาแล้ว...ส่วนใหญ่เขาทำอะไรกันบ้าง?

แน่นอนข้อแรกคือต้องไปหาหมอ ซึ่งก็มีทั้งไปหาหมอแบบโบราณ และหมอพระที่มีชื่อเสียงในการรักษาโรคกระดูกต่างๆ

ซึ่งเราก็พบว่าวิชาโบราณของเราโดยใช้ยาสมุนไพรบ้าง หรือการเป่าคาถากำกับลงไปด้วยบ้าง อาจช่วยในการรักษาโรคกระดูกหัก กระดูกแตก จนสามารถต่อกระดูกได้สำเร็จพอสมควร

แต่สำหรับโรคเข่าเสื่อมนั้นมักจะพบว่าวิธีดั้งเดิมรักษาไม่ค่อยหาย ทำให้หลายๆรายต้องเปลี่ยนใจไปพบแพทย์ปัจจุบัน หรือหมอออร์โธปิดิกส์ ตามโรงพยาบาลต่างๆเสีียเป็นส่วนมาก

การไปพบแพทย์แผนปัจจุบันเสียแต่แรกเริ่ม ที่มีอาการเจ็บจะช่วยได้มาก เพราะถ้าเรายังไม่เป็นอะไรมากนัก หมอท่านก็อาจจะมีวิธีรักษาและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตน ซึ่งอาจจะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา

ถ้าปฏิบัติตนแล้วยังไม่ดีขึ้น หมอท่านก็จะจ่ายยาแก้ปวด หรือยาต้านอักเสบไปตามอาการ และตามความจำเป็นของร่างกาย รวมไปถึงการเปลี่ยนรองเท้า การใช้เครื่องพยุงข้อเข่าต่างๆเข้าช่วย

ถึงที่สุดถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็อาจต้องใช้วิธีผ่าตัด ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ค้นพบใหม่ในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา

แต่วิธีนี้ก็คงต้องมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่เรือนหมื่นไปจนถึงเรือนแสน สุดแต่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชน

ดังเช่นในช่องทางประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ของโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง บอกค่าใช้จ่ายไว้เป็นแพ็กเกจว่า “เปลี่ยนข้อเข่า 1 ข้าง นอนโรงพยาบาล 4 คืน ราคา 220,000 บาท”

...

ถัดลงมาอีกบรรทัดหนึ่งเขียนข้อความว่า “เปลี่ยน 2 ข้อ นอน 5 คืน 399,000 บาท”

อย่างไรก็ตามข้อความที่ว่านี้ เป็นของโรงพยาบาลเอกชนระดับกลางๆ แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลระดับ A หรือ A+ ค่ารักษาน่าจะผันแปรไปในทางสูงขึ้นตามเกรดของโรงพยาบาลนั้นๆ

แต่ “คนจน” ก็อย่าเพิ่งใจเสียเพราะเมื่อไม่กี่วันนี้เอง มีรายงานจาก โรงพยาบาลบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่สามารถรักษาคนข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัดได้ด้วย เปิดเผยว่า ใครมี “บัตรทอง” ก็สามารถเข้ารับการรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรอีกเลย

มีรายงานด้วยว่า การผ่าตัดรักษาเปลี่ยนข้อเข่าเทียมของโรงพยาบาลจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ประมาณ 5 หมื่นถึง 1 แสนบาท ซึ่งสามารถใช้สิทธิรักษาของบัตรทองได้ (มติชนวันพฤหัสฯ 30 มี.ค. หน้า 12)

อย่างไรก็ตามประเด็นที่เกิดขึ้นอยู่เสมอก็คือ การ “รอคอย” มากกว่า เพราะคุณหมอผ่าตัดเข่าได้ยังมีไม่พอเพียง การเข้าคิวรอเพื่อการผ่าตัดในโรงพยาบาลรัฐจึงอาจต้องใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน

มีรายงานจาก โรงพยาบาลศิริราช ว่า คิวสำหรับการผ่าตัดจากแพทย์ท่านใดก็ตามอาจต้องใช้เวลารอตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปี และถ้าเป็นคุณหมอกีรติ ท่านหัวหน้าภาควิชาและเป็น “กระบี่มือ 1” ในการผ่าเข่าอาจต้องใช้เวลารอถึง 1 ปี++ด้วยซ้ำ

ตัวเลข 6 เดือนถึง 1 ปีที่ว่านี้ น่าจะเป็นตัวเลขล่าสุดที่สถานการณ์ขาดแคลน “หมอกระดูก” เริ่มบรรเทาลงบ้าง แต่ย้อนหลังไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว...คนไข้ต่างจังหวัดที่มารอคิวที่ศิริราชต้องใช้เวลาถึง 3 ปีเลยทีเดียว

ในประเด็นนี้คุณหมอ กีรติ เจริญชลวานิช เคยกล่าวกับสื่อมวลชนยุคโน้นว่า “ผู้ป่วยหลายคนถอดใจไปเลย บางรายถึงกับร้องไห้เลิกรักษายอมทุกข์ทรมานเพราะไม่สามารถจะรอได้ และที่สำคัญการเดินทางจากต่างจังหวัดไกลๆมาศิริราช ก็เป็นเรื่องยากลำบากและสิ้นเปลืองมิใช่น้อย”

“เราจะทำอะไรให้ดีกว่านี้ได้ไหม...เราจะออกไปช่วยพี่น้องที่ด้อยโอกาสเหล่านั้นได้อย่างไร?” คุณหมอตั้งคำถามกับตัวเองหลายต่อหลายครั้ง

ในที่สุดคุณหมอกีรติตัดสินใจอย่างไร และทำอะไรลงไปบ้าง อย่าลืมอ่านต่อวันพรุ่งนี้นะครับ.

“ซูม”