ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม Emergency Social Services : ESS Help Me

ระบบที่เป็นการผนึกพลังของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) บริษัท ไลน์ ประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพัฒนาเพื่อเป็นเครื่องมือในการแจ้งเหตุ ช่วยเหลือปัญหาสังคม

โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการพัฒนาระบบเมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล ระหว่าง นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. มี นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม.เป็นสักขีพยาน พร้อมทั้งนำเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบความก้าวหน้า

ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ทำงานผ่านระบบ Line OA ด้วยการค้นหาชื่อคำว่า ESS Help Me แล้วทำการเพิ่มเพื่อน ผู้ประสบปัญหาก็จะสามารถแจ้งเหตุด่วน เหตุร้าย ที่ประสบด้วยตนเองหรือเป็นผู้พบเห็นเหตุ ด้วยขั้นตอนง่ายๆ เพียง 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรกระบุปัญหา ใน 5 กลุ่มปัญหาที่มีในระบบ ประกอบด้วย 1.ข่มขู่ว่าจะทำร้ายหรือทำร้าย 2.กักขังหน่วงเหนี่ยว 3.เสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศ 4.ผู้คลุ้มคลั่งก่อให้เกิดเหตุร้าย และ 5.มั่วสุมจนก่อให้เกิดเหตุร้าย ขั้นตอนที่สอง ระบุพิกัด และ ขั้นตอนที่สาม แจ้งเบอร์โทร.ติดต่อกลับ จากนั้นข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งต่อไปยังกลุ่มไลน์เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ เจ้าหน้าที่ พม.ในพื้นที่ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวประจำจังหวัด และเครือข่ายในพื้นที่ หลังรับการแจ้งเหตุ เจ้าหน้าที่ที่ใกล้จุดเกิดเหตุจะเข้าระงับเหตุทันที นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังสามารถติดตามการช่วยเหลือได้แบบ Real Time และนำข้อมูลการแจ้งเหตุมาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเชิงรุกต่อไป

...

“ESS Help Me ได้ทดลองใช้มาแล้วกว่า 9 เดือน ในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 6 ซึ่งรับ ผิดชอบ 9 จังหวัด ประกอบด้วย กำแพงเพชร, ตาก, นครสวรรค์, พิจิตร, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, สุโขทัย, อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี สามารถช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้ทันท่วงที และได้มีการพัฒนาระบบต่อเนื่อง โดยทุนศึกษาวิจัยจาก กสศ.นำมาสู่การลงนามความร่วมมือและขยายผล การใช้ระบบไปยังทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2566 และจะเปิดตัวเป็นทางการวันที่ 5 เม.ย.2566 ในงานวันครอบครัวและวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ประชาชนทุกกลุ่มทุกช่วงวัยสามารถใช้เครื่องมือนี้เพื่อตอบโจทย์ 1.พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก 2.โรงเรียนปลอดภัย 3.การป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยเรียน 4.ปัญหายาเสพติด 5.ลดความรุนแรงในสังคม 6.ภัยอาชญากรรมทางออนไลน์ เป็นการบูรณาการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าถึงปัญหา นำไปสู่การแก้ไขป้องกันให้เบ็ดเสร็จ” นายจุติ เล่าถึงปฏิบัติการของระบบ ESS Help Me

ด้าน นายอนุกูล ฉายภาพต่อว่า จุดเริ่มต้นมาจากฐานข้อมูลการขอความช่วยเหลือผ่านศูนย์ช่วยเหลือสังคม พม.1300 และศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ที่มีผู้เข้าใช้บริการกว่า 2.6 แสนครั้งต่อเดือน พบปัญหาสังคมส่วนใหญ่เป็น 5 ปัญหาที่เปิดช่องทางการช่วยเหลือผ่านระบบ ESS Help Me ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ทำร้าย กักขังหน่วงเหนี่ยว การล่วงละเมิดทางเพศ คลุ้มคลั่งก่อเหตุ จนถึงการมั่วสุมที่อาจนำไปสู่การก่อเหตุร้าย ผู้ตกเป็นเหยื่อถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ที่ผ่านมาการแจ้งเหตุผ่านศูนย์ช่วยเหลือสังคม พม.1300 อาจจะมีข้อจำกัด ด้วยกำลังเพียงพนักงานเจ้าหน้าที่ พม.อาจจะไม่สามารถระงับเหตุที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุรุนแรงได้ทันการ จึงต้องอาศัยกำลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาร่วมด้วย เพื่อเป้าหมายสำคัญคือลดการบาดเจ็บและการสูญเสียชีวิต ระบบ ESS Help Me จึงมีกระบวนการทำงานหลังบ้านของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เชื่อมการทำงานทุกมิติ โดยในส่วนภูมิภาคมีเจ้าหน้าที่ พม.ในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ 1,500 สถานีตำรวจภูธร และเจ้าหน้าที่ศูนย์รับแจ้งเหตุ 191 ส่วนกรุงเทพมหานครมีเจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม พม.1300 เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล 88 แห่ง เจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยุผ่านฟ้า 191 เมื่อได้รับแจ้งเหตุเข้ามาในระบบ เจ้าหน้าที่ พม.รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จะเข้าระงับเหตุทันที จากนั้นจะประสานส่งต่อ
กรณีต่างๆเข้าสู่กระบวนการคุ้ม ครอง ช่วยเหลือและเยียวยาตามระบบ ทั้งนี้ได้มีการตั้งคณะทำงานติดตามประเมินผลระบบว่าสามารถช่วยเหลือและลดปัญหาได้มากน้อยเพียงใด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ถือเป็นระบบที่ตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 ในการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยง ปัจจัยที่จะทำให้ระบบยั่งยืน นอกเหนือจากระดับนโยบายที่ให้ความสำคัญ ระบบปฏิบัติการหลังบ้านที่มีประสิทธิภาพแล้ว ที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของคนในสังคม โดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่ อาสาสมัคร ประชาชนที่เข้าถึงระบบ และมีการติดตามประเมินผลต่อเนื่อง

ขณะที่ ดร.ไกรยส กล่าวว่า “ภารกิจของ กสศ.คือการช่วยเหลือเด็กเยาวชนที่ด้อยโอกาส ยากจน เด็กเหล่านี้บางส่วนยังประสบความซับซ้อนเสี่ยงถูกกระทำความรุนแรง เป็นอีกกลุ่มที่เราอาจจะเข้าถึงได้ยาก แทนที่เราจะสร้างทีมมุ่งค้นหา จึงคิดว่าหากเราวิจัยพัฒนาเครื่องมือที่อาศัยเทคโนโลยี เช่น ESS ช่วยให้การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทำได้ง่ายขึ้น โดยอาศัย
ศักยภาพคนในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัคร และสมาชิกในชุมชนที่รู้เบาะแสแจ้งเหตุเข้ามา เพื่อประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมทีมสหวิชาชีพเข้าไปช่วยเหลือระงับเหตุทันทีพร้อมกับวิเคราะห์ปัญหาเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู เยียวยา และส่งกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ความร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นการช่วยเหลือดูแลและคุ้มครองทุกมิติ ที่สำคัญคือการนำศักยภาพคนในพื้นที่ให้ลุกขึ้นมาดูแลเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงและส่งกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้”

ทีมข่าวการพัฒนาสังคม เห็นด้วยกับการรวมพลังของทุกหน่วยงานที่ร่วมกันพัฒนาเครื่องมือเพื่อเอื้ออำนวยการทำงานแก้ปัญหาสังคมอย่างรวดเร็วเห็นผล

...

แต่สิ่งสำคัญคือการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้และรู้จักใช้เครื่องมือ รวมถึงปรับทัศนคติคนในสังคมต่อการไม่เพิกเฉยปัญหา ขณะเดียวกันระบบการทำงานหลังบ้านของเจ้าหน้าที่ทุกส่วนต้องตอบสนองตอบโจทย์แก้ปัญหาที่ตรงจุด รวดเร็วและมีประสิทธิภาพอย่างจริงจังและจริงใจ

ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือที่ตัดริบบิ้นสวยหรูแต่ใช้งานจริงไม่สมราคาคุย.

ทีมข่าวการพัฒนาสังคม