“สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย” เติมองค์ความรู้ แรงงานภาคการเกษตร มุ่งเน้นคุณภาพอาชีวอนามัย ลูกจ้าง-แรงงานข้ามชาติ อย่างมีจริยธรรม คุมเข้มหัวใจหลักความปลอดภัยในการทำงาน

วันที่ 2 เม.ย. สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (ECOT) ภายใต้การนำ นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างฯ และ นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างฯ ร่วมกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดกาญจนบุรี โดยการสนับสนุนขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) จัดอบรมหลักสูตรความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน สำหรับลูกจ้างทั่วไปและลูกจ้างเข้าทำงานใหม่ให้กับแรงงานข้ามชาติภาคเกษตรในจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 65 คน ที่ อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี โดยมี นายอธิสรรค์ อินทร์ตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด

นายเอกสิทธิ์ กล่าวว่า สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย มีนโยบายหลักมุ่งเน้นด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ตลอดจนส่งเสริมการจ้างงานแรงงานข้ามชาติอย่างมีจริยธรรม โดยสภานายจ้างฯ ได้ดำเนินกิจกรรมในสถานประกอบกิจการประเภทต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สภานายจ้างฯ ได้จัดอบรมในภาคการเกษตร โดยได้รับการอำนวยความสะดวกจากจังหวัดกาญจนบุรี, สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดกาญจนบุรี รวมถึง คุณจามรี วงษ์ปียพัฒน์ - เจ้าของไร่ และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ที่สนับสนุนโครงการจนเกิดเป็นการอบรมขึ้น

...

“ผมรู้สึกดีใจแทนแรงงานข้ามชาติ ที่นายจ้างเห็นถึงความสำคัญและใส่ใจ ที่ผ่านมาแม้ว่ากฎหมายความปลอดภัยฯ จะกำหนดให้นายจ้างจัดและดูแลลูกจ้างให้มีสภาพการทำงาน สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุนการปฏิบัติงานของลูกจ้าง ไม่ให้ได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ และสุขภาพอนามัย ตลอดจนให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างทุกคน ได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน” นายเอกสิทธิ์ กล่าว...

ประธานสภาองค์การนายจ้างฯ กล่าวด้วยว่า ในทางปฏิบัติยังพบว่า แรงงานจำนวนน้อยที่ได้รับอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) หรือได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ การใช้สารเคมี ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพ อุบัติเหตุในที่ทำงาน และปัญหาด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย ซึ่งปัญหาและอันตรายเหล่านี้ อาจลดลงได้ด้วยการฝึกอบรม และการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลอย่างเหมาะสม เพื่อส่งเสริมการสร้างสุขอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน เสริมสร้างคุณภาพชีวิตของแรงงานภาคเกษตร สร้างความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย ส่งเสริมการจ้างงานแรงงานข้ามชาติอย่างมีจริยธรรม อีกทั้งเพื่อเป็นการริเริ่มและจุดประกายให้ภาคเกษตรในจังหวัดกาญจนบุรี หันมาให้ความสำคัญกับความปลอดภัย อาชีวอนามัยให้ภาคแรงงาน.