ผู้ว่าฯ ลำพูน แจงสถานการณ์การเผาในประเทศเพื่อนบ้านทำให้ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 กลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้สามารถควบคุมสถานการณ์การเผา ฝุ่นควัน และค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ได้แล้ว เร่งแจกหน้ากากอนามัยเพิ่มเติมจากที่แจกไปแล้วกว่า 50,000 ชิ้น ให้ถึงกลุ่มเปราะบาง เตรียม 200 ห้องปลอดฝุ่นครอบคลุมทุกพื้นที่ เน้นย้ำประชาชนควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายและกิจกรรมกลางแจ้ง พร้อมสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่นอกอาคาร

นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น สถานการณ์การเผา ฝุ่นควัน และค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ของจังหวัดลำพูนและทั่วทั้งภาคเหนือของประเทศไทยอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยจากการตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ที่จังหวัดลำพูน ทั้ง 2 สถานี คือ ตำบลลี้ อำเภอลี้ และตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน ในรอบเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น ในช่วงระหว่างวันที่ 1 - 21 มีนาคม 2566 สถานการณ์การเผา ฝุ่นควัน และค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ของจังหวัดลำพูน มีค่าลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ประกอบกับสามารถควบคุมปริมาณจุดความร้อนภายในจังหวัดได้ โดยสถานีวัดค่าตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน สูงสุดอยู่ที่ 165 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 และต่ำสุดอยู่ที่ 24 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 และสถานีวัดค่าตำบลลี้ อำเภอลี้ สูงสุดอยู่ที่ 233 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 และต่ำสุดอยู่ที่ 20 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566

แต่ช่วงระหว่างวันที่ 22 - 31 มีนาคม 2566 สถานการณ์การเผา ฝุ่นควัน และค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ของจังหวัดลำพูน มีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างรุนแรง เนื่องจากสถานการณ์การเผาและฝุ่นควันในประเทศเพื่อนบ้านและจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้นภายในจังหวัดลำพูนและจังหวัดใกล้เคียง โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้แจ้งเตือนว่า ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์จุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิดฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนและใกล้เคียง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากกระแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ประกอบกับภูมิประเทศทางภาคเหนือของไทยมีลักษณะเป็นหุบเขาแอ่งกระทะ จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการพัดและการเคลื่อนตัวของกระแสลมในพื้นที่เป็นสำคัญ เป็นผลทำให้อัตราการระบายอากาศต่ำ เมื่อมีฝุ่นควันจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง จึงทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ตอนบนของประเทศไทย รวมถึงจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นทุกจังหวัดในภาคเหนือ และมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องในหลายพื้นที่ และช่วงนี้ยังไม่มีฝนหรือกระแสลมที่จะช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกไปได้

สำหรับข้อมูลสถานการณ์ไฟป่าและการเผาของจังหวัดลำพูน ในเดือนมีนาคม 2566 พบจุดความร้อน (Hotspot) ผ่านระบบดาวเทียม ทั้งสิ้นจำนวน 917 จุด ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่เกิดขึ้นจำนวน 1,287 จุด และตั้งแต่เริ่มประกาศห้ามบุคคลทำการเผาในที่โล่งในเขตพื้นที่จังหวัดลำพูน (วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึง 30 เมษายน 2566) พบจุดความร้อนแล้วทั้งสิ้น 1,321 จุด

สำหรับข้อมูลจุดความร้อน (Hot Spot) ในพื้นที่จังหวัดลำพูน วันที่ 31 มีนาคม 2566 พบจุดความร้อนเกิดขึ้น จำนวน 31 จุด ทั้งหมดเกิดขึ้นในพื้นที่ป่า แยกเป็น ป่าอนุรักษ์ 27 จุด และป่าสงวนแห่งชาติ 4 จุด โดยสามารถจำแนกเป็นรายอำเภอ ได้แก่ อ.บ้านธิ 14 จุด อ.เมืองลำพูน 6 จุด อ.แม่ทา 5 จุด อ.บ้านโฮ่ง 2 จุด อ.ลี้ 2 จุด และ อ.ทุ่งหัวช้าง 2 จุด โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกำลังพลเพื่อเฝ้าระวังและควบคุมไฟ โดยสาเหตุหลักยังคงเป็นการหาของป่าและการลักลอบล่าสัตว์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้จับกุมดำเนินคดีบุคคลผู้ลักลอบเผาในที่โล่งแล้วจำนวน 3 ราย พื้นที่ตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน 1 ราย และพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง ตำบลก้อ อำเภอลี้ จำนวน 2 ราย ดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว

ทั้งนี้ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดลำพูน (ไฟป่า หมอกควัน และ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5) ได้สั่งการประสานการปฏิบัติ ตลอดจนการสนับสนุนการปฏิบัติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ทั้งในระดับอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง รวมทั้งมีคณะทำงานติดตามสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นเข้าละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อนำข้อมูลสถานการณ์สนับสนุนระบบการบัญชาการเหตุการณ์ และแจ้งเตือนประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง ในกรณีเกิดสภาวะวิกฤติ

ในด้านการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ จังหวัดลำพูน สั่งการให้ศูนย์บัญชาการอำเภอทุกอำเภอ กำชับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน สนับสนุนการดับไฟป่าร่วมกับหน่วยงานราชการทุกส่วนทุกพื้นที่ ดำเนินการยกระดับการปฏิบัติการสูงสุด รวมถึงจัดเตรียมกำลังพลชุดปฏิบัติการป้องกันและควบคุมไฟป่าระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน การจ้างราษฎรลาดตระเวนร่วมฯ กว่า 300 นาย ในอำเภอพื้นที่เสี่ยง รวมถึงมีการจัดตั้งจุดสกัดในพื้นที่เสี่ยงเพื่อเฝ้าระวังบุคคลเข้าล่าสัตว์ป่าหรือหาของป่า และได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ดำเนินการบรรเทาผลกระทบจากค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ให้กับประชาชนโดยฉีดพ่นละอองน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนในระยะสั้น โดยที่ผ่านมา จังหวัดลำพูนได้ขอรับการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ในการดับไฟป่าในพื้นที่ที่มีความรุนแรงและเจ้าหน้าที่ดับไฟไม่สามารถเข้าถึงได้ จากหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองภาค 3 เป็นต้น เพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์

ด้านมาตรการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ มีการจัดสรรหน้ากากอนามัย โดย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน จำนวน 59,400 ชิ้น (แบบธรรมดา จำนวน 51,000 ชิ้น และแบบ N95 จำนวน 8,400 ชิ้น) ให้หน่วยงานสาธารณสุข โรงพยาบาล เพื่อแจกจ่ายประชาชนต่อ และจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นไว้ตามหน่วยงานสาธารณสุข อปท. สถานศึกษา รวมจำนวน 243 แห่ง เพื่อให้ประชาชนขอเข้ารับบริการได้

อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้ขอให้ประชาชนควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมการแจ้ง หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงและใช้อุปกรณ์เพื่อป้องกันตัวเองจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 หากมีอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ผิวหนัง หรือดวงตา ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน และที่สำคัญขอความร่วมมือประชาชนงดเว้นการเผาทุกชนิด หากพบเห็นการกระทำผิด สามารถแจ้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายกเทศมนตรี หรือนายอำเภอ เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการตามกฎหมายต่อไป