วุฒิสภา - หลายองค์กรห่วงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ที่นับวันยิ่งกระทบสิทธิของประชาชนมาก และมีความน่ากลัวยิ่งขึ้น ด้านนักวิชาการด้านกฎหมาย แนะประชาชนต้องร่วมตรวจสอบนักการเมืองอย่างเหมาะสมและชาญฉลาด หากไม่มั่นใจสามารถใช้สิทธิไม่ประสงค์จะเลือกใครได้

การเสวนา เรื่อง “สิทธิประชาชน : ตรวจสอบ ฉ้อราษฎร์บังหลวง” โดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต วันที่ 29 มีนาคม 2566 เวลา 08.30 น. ที่ห้องประชุมอาคารรัฐสภา โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังทั้งในห้องประชุม และออนไลน์ผ่านการถ่ายทอดสดของเฟซบุ๊กวุฒิสภา

โดยการเสวนาครั้งนี้ ภาคเช้ามีหัวข้อในการอภิปราย คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดย ศ.(พิเศษ) วิชา มหาคุณ รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก พ.ต.ต.ณัฐวัฒน์ เสงี่ยมศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และดำเนินการอภิปรายโดย นายประสาร มฤคพิทักษ์ กรรมการมูลนิธิส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า สถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทย เป็นปัญหาที่คู่กับสังคมไทยมานาน และมีการพัฒนาจากการทุจริตงบประมาณแผ่นดินไปสู่การประพฤติมิชอบ ด้วยการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งข้าราชการประจำและนักการเมือง ใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง สร้างความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

ศ.(พิเศษ) พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า แม้หลายรัฐบาลที่ผ่านมา จะมีการวางแผนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่ก็ยังไม่ปรากฏให้เห็นรูปธรรมที่แท้จริง และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันหาแนวทางสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันเรื่องนี้

พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กล่าวว่า ปัญหาการทุตริตคอร์รัปชัน นับวันยิ่งกระทบสิทธิของประชาชน และมีความน่ากลัวมากยิ่งขึ้น เมื่อมีการถามในประเด็นยอมรับได้หรือไม่ กับการที่จะได้นักการเมืองทุจริตบ้าง แต่มีผลงานให้สังคม กลับมีคนเห็นด้วยจำนวนไม่น้อย ทำให้ตอนนี้ต้องรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจว่า การรับสินบนก็คือการยักยอกทรัพย์ และการประพฤติโดยมิชอบ ก็คือการทุจริต

ศ.(พิเศษ) วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า หากกล่าวถึงเจตจำนงแห่งรัฐธรรมนูญ อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เมื่อประชาชนถูกละเมิด มีการทุจริต ประพฤติมิชอบ และคุกคามจากผู้ใช้อำนาจรัฐ เพราะฉะนั้นรัฐจึงมีหน้าที่ต้องป้องกันปราบปรามทุจริต และคุ้มครองประชาชนจากการถูกละเมิดสิทธิและจากภัยคุกคามนั้นๆ ทั้งนี้ ในหมวดที่ 6 ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 78 เนื้อหาให้รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชน มีความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะฉะนั้นการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ จะต้องทำทุกอย่างให้ความจริงปรากฏ ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลอย่างแท้จริงให้ได้

รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย กล่าวว่า ประชาชนต้องเป็นนักตรวจสอบนักการเมือง เพราะเราเป็นคนเลือกเขามาเป็นตัวแทน ต้องดูว่าที่ผ่านมาคนที่เคยถูกเลือกเขาทำตามที่พูดไว้หรือไม่ หากพูดแล้วไม่ทำก็ไม่ต้องเลือก ส่วนการจะเป็นนักตรวจสอบที่ดี ประชาชนก็ต้องเป็นนักเลือกตั้ง ออกไปใช้สิทธิตามกฎหมายอย่างเหมาะสมและชาญฉลาด ไม่อยากเลือกใครก็ใช้สิทธิไม่ประสงค์จะเลือกใครได้

พ.ต.ต.ณัฐวัฒน์ เสงี่ยมศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า อำนาจประชาธิปไตยอยู่ในมือประชาชน ในวันเลือกตั้ง กฎหมายสากลชี้ชัดว่า การลงคะแนนเป็นเรื่องความลับ ไม่มีใครรู้ว่าเราจะกากบาทเพื่อเลือกใคร ขณะเดียวกันหากพบสิ่งที่ผิดปกติน่าสงสัย ก็อาจจะแจ้งเบาะแสไปที่แอปพลิเคชัน ตาสับปะรด ซึ่งเป็นแอปฯ ที่พัฒนาขึ้น เพื่อใช้ในการติดตามสถานการณ์และป้องปรามการทุจริตเลือกตั้ง โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีส่วนร่วมในการรายงานสถานการณ์ หรือแจ้งเบาะแส เมื่อพบเห็นการทุจริต หรือการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ในเวทีเสวนาภาคบ่าย ยังมีประเด็นสิทธิของประชาชนในการตรวจสอบพฤติกรรมคอร์รัปชันของนักการเมือง โดยเป็นตัวแทนจากภาคประชาชน สื่อมวลชน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เช่น นางรสนา โตสิตระกูล กรรมการมูลนิธิส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ด้วย