นพ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ ที่ปรึกษา รมช.สาธารณสุข กล่าวเปิดงานมหกรรม “ประเทศไทย หวานแค่ไหนพอ” ว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายลดการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็มของคนไทย โดยเฉพาะพฤติกรรมการติดหวานให้น้อยลง โดยนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ. ได้ประกาศนโยบายหวานน้อยสั่งได้ และมอบให้กรมอนามัยขับเคลื่อน เพื่อลดปริมาณความหวานของร้านเครื่องดื่มชงลงเหลือร้อยละ 5 ส่งผลให้ขณะนี้มีภาคธุรกิจแฟรนไชส์เครื่องดื่มรายใหญ่เข้าร่วมนโยบายหวานน้อยสั่งได้ จำนวน 27 แบรนด์ ร้านค้าทั่วไปทั่วประเทศ อีกจำนวน 2,355 ร้าน นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการดำเนินงานเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” ที่ปัจจุบันมี 14 กลุ่มอาหาร และจำนวนผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพมีจำนวน 2,749 ผลิตภัณฑ์ จาก 444 บริษัท

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหารของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560-2562 พบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลทราย 2.5-2.6 ล้านตันต่อปี และปี 2562 คนไทยดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเฉลี่ย 3 แก้วต่อวัน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน กรมจึงเตรียมปรับเกณฑ์ความหวานของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของประเทศไทยให้เป็นเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน โดยปรับลดเกณฑ์ความหวานของการรับรองสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพจากร้อยละ 6 ให้เป็นร้อยละ 5 เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมในการปรับตัว รวมถึงประชาชนก็จะได้ทราบถึงเกณฑ์ความหวานที่ดีต่อสุขภาพของตนเอง.