ได้โอกาสกลับไปชมโรงไฟฟ้าไซยะบุรีอีกครั้งในรอบ 4 ปีครั้งที่แล้วที่ไปการก่อสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ไปคราวนี้เดินเครื่องผลิตเต็มกำลังแล้ว
เลยมีเรื่องราวให้เขียนอีกมากมาย ก็ขอไล่เป็นเรื่องๆไปแล้วกันครับ
ที่ผมสนใจก็คือ โรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ ทำอย่างไรถึงจะไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม หรือถ้าจะส่งผลกระทบ ก็ขอให้น้อยที่สุด
เพราะแค่ สปป.ลาว ประกาศโรดแม็ปจะแปลงแม่น้ำโขงให้กลายเป็น แบตเตอรี่ของอาเซียน
กลุ่มประเทศในหมู่ CLMV อย่าง กัมพูชา เวียดนาม ยังยกข้ออ้างเรื่อง ผลกระทบต่อสายพันธุ์ปลาแม่น้ำโขง และดินตะกอนแม่น้ำโขง ขึ้นมาสกัด
ซึ่ง คุณอานุภาพ วงศ์ละคร รองกรรมการผู้จัดการ งานกิจกรรมพิเศษ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด
ให้ข้อมูลว่า การก่อสร้างในแม่น้ำโขงสายหลักต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นแบบ Run of River : The Design of Xayaburi Hydropower Plant คือระบบ
น้ำไหลผ่าน
การออกแบบเป็นไปตาม Preliminary Design Guidance for Proposed Mainstream Dams in the Lower Mekong Basin (PDG 2009) ของ MRC (คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง Mekong River Commission)
ไม่ใช่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เหนือโรงไฟฟ้า เพื่อกักเก็บน้ำไว้ปั่นมอเตอร์ผลิตเป็นกระแสไฟ
น้ำไหลมาเท่าไหร่ก็ปล่อยผ่านไปเท่านั้น จึงเป็นพลังงานสะอาด
หลักการผลิตไฟฟ้าที่สอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อความยั่งยืนบนแม่น้ำโขง
แบ่งน้ำออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.Mandatory : น้ำล่อปลาเพื่อใช้ในระบบทางปลาผ่านจำเป็นต้องปล่อยเป็นลำดับแรก
2.Energy Production : มวลน้ำที่เข้าสู่ Powerhouse เพื่อการผลิตไฟฟ้า
...
และ 3.Spillway : ประตูระบายน้ำทั้ง 11 บาน บริหารจัดการน้ำตามหลัก Inflow=Outflow เพื่อรักษาอัตราการไหลของน้ำก่อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าให้เท่ากับมวลน้ำที่ผ่านไปสู่ท้ายน้ำ
ส่วนที่สำคัญที่สุดคือระบบทางเดินของปลา
ถึงขั้นใช้ทีมผู้เชี่ยวชาญจากกรมประมง มาทำการศึกษาวิจัยพันธุ์ปลาแม่น้ำโขง แล้วนำข้อมูลพฤติกรรมของปลาแต่ละสายพันธุ์มาออกแบบ
เปิดทางเข้าให้ปลาตลอดลำน้ำ ระดับความเร็วของน้ำที่ต้องสัมพันธ์กับปลา เทอร์บายที่ใช้แบบเป็นมิตรกับปลา เพื่อให้ปลาอพยพไปวางไข่ ไปเจริญเติบโตแพร่พันธุ์ทางด้านเหนือน้ำ ทั้งหมดคือต้องลดความบอบช้ำของปลา
เริ่มจากที่ช่องทางเข้าปลาหลากหลาย มีหลายระดับ ปลาจะว่ายผ่านบันไดปลา (Fish Ladder) จากนั้นจะมีระบบช่องยกปลา (Fish Lock) ขึ้นไปที่คลองส่งปลา (Upper Channel) ขึ้นไปสู่เหนือน้ำ
ระบบจะทำงานตลอดเวลาเลียนแบบธรรมชาติให้มากที่สุด มีพื้นที่ให้ปลาเล็กหลบปลาใหญ่ มีโอกาสชะลอความเร็วน้ำ ปัจจุบันถือว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเป็นระบบที่ดีที่สุด ควบคู่ไปกับการกำหนดเขตห้ามจับปลา
เฉพาะส่วนนี้ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มเติมอีกกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท
ทำให้วันนี้มีการตรวจพบสายพันธุ์ปลาในบริเวณนี้แล้ว 116 สายพันธุ์
อาทิ ปลาเอินหรือยี่สก ปลาเพี้ยหรือปลากา ปลานา ปลาโจก ปลาแค้ ที่เป็นปลาเศรษฐกิจ
พรุ่งนี้มาว่ากันต่อในเรื่องคาร์บอนเครดิต พลังงานที่เป็นมิตรต่อโลก.
เพลิงสุริยะ