“พืชเกษตร” ที่กระทรวงพาณิชย์ดูแลแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ...ส่วนที่อยู่ในนโยบายประกันรายได้ และส่วนที่ไม่ใช่ประกันรายได้ แต่ใช้นโยบายเชิงรุกกับมาตรการด้านอื่นดำเนินการ

ที่ผ่านมา...การประกันรายได้จะดูแลพืชสำคัญ 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถือเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ เพราะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชทั้ง 5 ชนิดนี้ มีหลักประกันของรายได้ ไม่จำเป็นต้องฝากชะตาชีวิตไว้กับ “ราคา” ที่มีความผันผวนไม่แน่นอน

“ถ้าไม่มีประกันรายได้ เกษตรกรจะมาทางเดียวคือ เอาพืชเกษตรไปขายในตลาด ราคาเท่าไหร่ก็ได้เท่านั้น ถ้าราคาดีก็ได้เงินแยะ ถ้าราคาไม่ดีราคาตกมากก็ได้เงินทางเดียว...ปีนั้นก็ประสบภาวะขาดทุนได้”

แต่พอมี “ประกันรายได้” จะมีรายได้ 2 ทาง คือ ทางเดิมๆ เอาพืชเกษตรนั้นไปขายที่ตลาด และได้เงินตามราคาตลาดขณะนั้น ส่วนพืชตัวอื่นที่ไม่ได้ประกันรายได้ กระทรวงพาณิชย์ก็ใช้มาตรการเชิงรุกเข้ามาช่วย เช่น ผลไม้ โดยในฤดูกาลผลผลิตปีนี้จะเดินหน้า “มาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ปี 2566”

...

รับมือ “ผลไม้” ที่จะออกสู่ตลาด 6.78 ล้านตัน ที่เพิ่มขึ้น 3% ผ่าน 22 มาตรการเชิงรุก ดูแล 4 ด้าน...การผลิต การตลาดในประเทศ ต่างประเทศ และด้านกฎหมาย ตั้งเป้าดันราคาผลไม้ดีตลอดฤดูการผลิต

ลงลึกในรายละเอียดปีนี้ “กระทรวงพาณิชย์” ได้เตรียมตลาดล่วงหน้ารองรับผลไม้กว่า 700,000 ตัน โดยร่วมกับหน่วยงานต่างๆผลักดัน 22 มาตรการดูแลผลไม้ ประกอบด้วย...มาตรการที่ 1 เร่งรัดตรวจและรับรอง GAP เป้าหมายไม่ต่ำกว่า 120,000 แปลง

มาตรการที่ 2 ใช้อมก๋อยโมเดล ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจับคู่เกษตรกร-ผู้ค้า 100,000 ตัน มาตรการที่ 3 ช่วยผู้ประกอบการหรือเกษตรกร กระจายผลผลิตผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต กิโลกรัมละ 3 บาท ปริมาณ 90,000 ตัน มาตรการที่ 4 สนับสนุนให้มีรถเร่ รถโมบาย ไปรับซื้อผลไม้และนำออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรงในช่วงที่ผลไม้ออกมาก 30,000 ตัน

มาตรการที่ 5 ประสานงานห้าง ร้านสะดวกซื้อและปั๊มน้ำมันต่างๆ เปิดพื้นที่ระบายผลไม้ให้แก่เกษตรกร 100,000 ตัน มาตรการที่ 6 รณรงค์ บริโภคผลไม้ไทย จัดงาน Fruit Festival ในแหล่งท่องเที่ยว สนับสนุนการโหลดผลไม้ขึ้นเครื่องบิน ฟรี 20 กก. ปริมาณรวม 42,000 ตัน

มาตรการที่ 7 สนับสนุนกล่อง พร้อมค่าจัดส่งผลไม้ที่ขายตรงจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ ไปยังผู้บริโภค ผ่านบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จำนวน 300,000 กล่อง หรือ 3,000 ตัน มาตรการที่ 8 อบรมให้ความรู้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร เรื่องการค้าออนไลน์ ขายตรงให้แก่ผู้บริโภค

รวมถึงอบรมหลักสูตรการส่งออกเบื้องต้น ตั้งเป้าอย่างน้อย 2,500 ราย...มาตรการที่ 9 ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องในการเคลื่อนย้ายแรงงาน

มาตรการที่ 10 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เตรียมความพร้อมสนับสนุนกำลังพล ช่วยเก็บเกี่ยว คัดแยกและขนย้ายผลไม้ ในบางช่วงที่หากมีปัญหาแรงงาน

มาตรการที่ 11 เชื่อมโยงผลไม้ โดยทีมเซลส์แมนจังหวัด-ประเทศ ประสานงานกันช่วยระบายผลไม้ของเกษตรกรทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ มาตรการที่ 12 ส่งเสริมการแปรรูปช่วยค่าบริหารจัดการแปรรูปผลไม้ เช่น ลำไยอบแห้ง ทุเรียนแช่แข็งเพื่อการส่งออก

มาตรการที่ 13 เจาะตลาดนิคมอุตสาหกรรมเปิดพรีออเดอร์กว่า 15,000 ตัน ใน 60 นิคม 30,000 โรงงาน มาตรการที่ 14 เสริมสภาพคล่อง ผู้ส่งออก โดยจะช่วยเหลือดอกเบี้ย 3% และช่วยผู้ส่งออกผลไม้กิโลกรัมละ 4 บาท ปริมาณ 100,000 ตัน มาตรการที่ 15 เจรจาจับคู่ซื้อขายผลไม้ออนไลน์ ออฟไลน์ มุ่งเน้นตลาดใหม่

มาตรการที่ 16 จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างประเทศ เช่น ส่งออกผลไม้สู่ตลาดจีนในโครงการ Thai Fruits Golden Months การขายผ่าน TV Shopping มาตรการที่ 17 ส่งเสริมการส่งออกผลไม้ในงานแสดงสินค้านานาชาติ เช่น THAIFEX-Anuga Asia และ GULF FOOD

มาตรการที่ 18 จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ สร้างความเชื่อมั่นผลไม้ไทย เช่น Country Brand ส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมมะพร้าวไทย มาตรการที่ 19 จัดมหกรรมการค้าชายแดน 3 ภาค มาตรการที่ 20 มุ่งเจรจาผ่อนคลายมาตรการทางการค้า ทั้งการลดภาษี ลดอุปสรรคการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศคู่ค้า

มาตรการที่ 21 ตั้งวอร์รูม คณะทำงานผลักดันการส่งออกผลไม้ไทยภาครัฐร่วมกับเอกชน ติดตามสถานการณ์ ประสานงานแก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้ ผลักดันส่งออกไป 3 ตลาดศักยภาพ ได้แก่ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และ CLMV และ มาตรการที่ 22 ให้ผู้ประกอบการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ เวลา 08.00 น.

...

หรือทันทีที่เปิดทำการรับซื้อ กระทรวงพาณิชย์และจังหวัดยังคงบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดให้เกษตรกรขายผลไม้ที่มีคุณภาพ ได้ราคาดี ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าและกฎหมายชั่งตวงวัดโดยเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายให้ ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงฯเป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดผลไม้ปี 2566 ร่วมกับผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ...เอกชน

น่าดีใจว่าเกษตรกรและภาคเอกชน ยินดีให้ความร่วมมือกันขับเคลื่อนมาตรการนี้ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการตลาดในประเทศและเพิ่มปริมาณ มูลค่าการส่งออก ทำให้ราคาผลไม้ดีตลอดทั้งฤดู

เป้าหมายผลักดันการส่งออกผลไม้สดและแปรรูป 4.44 ล้านตัน เพิ่มจากปีก่อน 10%

พสิษฐ์ สุขสวัสดิ์ เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่มะม่วง จ.ลำพูน เห็นว่า อมก๋อยโมเดลที่นำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพส่งผลให้เกษตรกรมีทางเลือกไม่ถูกกดราคา สอดคล้องกับมุมมองของ ธนกฤต ตันวัฒนากูล นายก สมาคมผู้ผลิตลำไยอบแห้งภาคเหนือ ที่ว่า...จากที่กระทรวงพาณิชย์ได้เข้ามาช่วยเหลือให้โรงอบ

ทำให้มีศักยภาพในการอบแห้ง ทำให้ราคาตลอดทั้งฤดูอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 1,200–1,400 บาทต่อราย หรือคิดเป็นมูลค่า 1,440 ล้านบาท

ด้าน สุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย ก็ขอชื่นชมนายจุรินทร์ ที่ได้เดินทางไปตะวันออกกลาง เจรจาอำนวยความ สะดวกการขนส่งผลไม้จนสามารถบรรลุข้อตกลง นำมาขับเคลื่อนเป็นผลสัมฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การส่งออกผลไม้ไทยในปี 65 ไปตะวันออก กลาง...แอฟริกาขยายตัวขึ้น

...

ตอกย้ำข้อมูลจาก “กรมการค้าภายใน” ที่ระบุว่า ในปี 2565 การทำงานเชิงรุกที่ผ่านมา ส่งผลให้สามารถรักษาระดับ “ราคาผลไม้” ในประเทศ ปริมาณผลไม้ส่งออกเพิ่มขึ้น แก้ปัญหาผลไม้ล้นตลาดได้

...ทำให้ราคาผลไม้ปี 2565 เกือบทุกชนิดสูงกว่าปีที่ผ่านมา เฉลี่ยสูงขึ้น 44%

เช่น ทุเรียนเกรดส่งออก ราคาเฉลี่ย 142.50 บาท/กก. ลำไยช่อส่งออก AA ราคาเฉลี่ย 35-45 บาท/กก. มะม่วงน้ำดอกไม้เกรดส่งออก ราคาเฉลี่ย 45 บาท/กก. ลองกองเกรดคละ ราคาเฉลี่ย 26 บาท/กก. ซึ่งเกษตรกรและผู้ประกอบการได้ชื่นชมต่อมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 65 เป็นอย่างมาก

สุดท้ายนี้...คาดหวังกันว่าปีนี้ “ผลไม้ไทย” จะปั๊วะปัง เกษตรกรจะยิ้มร่าหน้าใสเช่นเดิม.